วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

หอศีลจุ่ม หรือ หอล้างบาป


หอศีลจุ่ม หรือ หอล้างบาป (อังกฤษ: Baptistery หรือ Baptistry) เป็นคริสต์ศาสนสถาน ที่สร้างเป็นอิสระจากสิ่งก่อสร้างอื่นโดยมีอ่างศีลจุ่มเป็นศูนย์กลาง หอศีลจุ่มอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของวัดหรือมหาวิหารซึ่งมีแท่นบูชาและคูหาสวดมนต์ของตนเอง ในวัดสมัยคริสเตียนยุคแรกหอศีลจุ่มจะเป็นสถานสำหรับผู้จะเข้ารีตเรียนรู้เรื่องศาสนาก่อนจะรับศีลจุ่ม และเป็นที่ทำพิธีรับศีลจุ่ม

การสร้างหอศีลจุ่มอย่างสวยงามเป็นการแสดงถึงความสำคัญของการรับศีลจุ่มในคริสต์ศาสนา หอศีลจุ่มแปดเหลี่ยมของมหาวิหารเซนต์จอห์นแลเตอร์รันเป็นหอศีลจุ่มแรกที่สร้างเพื่อการพิธีนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นแบบลักษณะตัวอย่างของหอศีลจุ่มที่สร้างกันต่อมา ซึ่งบางครั้งจะเป็นสิบสองเหลี่ยม หรือกลมอย่างที่ปิซา ในบริเวณก่อนเข้าไป (narthex) เป็นบริเวณที่ใช้สำหรับใช้เรียนคำสอนและสารภาพความศรัทธาก่อนที่จะทำการรับศีลจุ่ม โถงกลางจะมีอ่างศีลจุ่มเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นที่ที่ผู้รับศีลจะลงไปใต้น้ำสามหน จากอ่างจะเป็นบันไดสามขั้นลงไปในอ่าง ห้อยอยู่เหนืออ่างอาจจะเป็นนกพิลาปทองหรือเงินซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ รูปสัญลักษณ์ที่ทำจากโมเสกบนผนัง หรือจิตรกรรมฝาผนังมักจะเป็นฉากชีวิตของนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ อ่างศีลจุ่มในระยะแรกมักจะทำด้วยหิน แต่ต่อมาก็มีการทำด้วโลหะบ้าง

แหล่งน้ำของหอศีลจุ่มของมหาวิหารเซ็นต์จอห์นแลเตอร์รันมาจากน้ำพุธรรมชาติ ก่อนที่จะมาเป็นมหาวิหารสิ่งก่อสร้างเดิมเป็นวังของครอบครัวพลอติอิ แลเตอร์รัน (Plautii Laterani) ผู้เป็นผู้บริหารของจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมัน จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1เป็นผู้ถวายวังนี้ให้กับบาทหลวงมิลทิอาเดส (Bishop Miltiades) น้ำพุธรรมชาติเป็นแหล่งน้ำของสิ่งก่อสร้างหลายสิ่งก่อสร้างภายในวัง เมื่อมีการเปลี่ยนศาสนาผู้เปลี่ยนก็ต้องรับศีลจุ่มทำให้แหล่งน้ำกลายเป็นความจำเป็น คาสสิโอโดรัสนักการเมืองและนักเขียนชาวโรมันบรรยายไว้ในปี ค.ศ. 527 ถึงการจัดงานเทศกาลฉลองที่วัดเดิมของผู้นอกศาสนาทางใต้ของอิตาลีที่ยังมีวัฒนธรรมกรีก ที่เปลี่ยนเป็นมาเป็นหอศีลจุ่มสำหรับวัดคริสต์ศาสนา (“วาเรีย” 8.33) ในเอกสาร ค.ศ. 1999, ซามูเอล เจ บาร์นิช ยกตัวอย่างของการเปลี่ยนจากน้ำพุศักดิ์สิทธิ์เป็นหอศีลจุ่มจากนักบุญเกรกอรีแห่งทัวร์ (เสียชีวิตราว ค.ศ. 594) และ นักบุญแม็กซิมัสแห่งตูริน (เสียชีวิตราว ค.ศ. 466)

หอศีลจุ่มเกิดขึ้นในสมัยที่มีผู้เข้ารีตที่เป็นผู้ใหญ่เป็นจำนวนมากที่ต้องรับศึลจุ่มก่อนเป็นคริสต์ศาสนิกชนเต็มตัว และเมื่อกฏบังคับว่าการรับศีลจุ่มต้องเป็นการดำลงใต้น้ำมิใช่แต่เพียงพรมน้ำอย่างสมัยหลัง หอศีลจุ่มมาสร้างกันภายหลังสมัยคอนสแตนตินผู้ประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมายของจักรวรรดิโรมัน ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 อ่างศีลจุ่มจะสร้างภายในบริเวณซุ้มหน้าวัดหรือภายในตัววัด หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 9 จำนวนเด็กที่รับศีลจุ่มเพิ่มมากขึ้น แต่การสร้างหอศีลจุ่มลดน้อยลง หอศีลจุ่มเดิมที่สร้างบางหอก็มีขนาดใหญ่จนสามารถใช้เป็นที่ประชุมสังคายนาได้ การสร้างหอศีลจุ่มใหญ่ในสมัยคริสเตียนยุคแรกก็เพื่อให้บาทหลวงทำพิธีศึลจุ่มหมู่ให้กับผู้ต้องการมานับถือคริสต์ศาสนาในสังฆมณฑลได้ ฉะนั้นหอศีลจุ่มจึงมักเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างติดกับมหาวิหารซึ่งเป็นวัดของบาทหลวง และไม่สร้างสำหรับวัดประจำท้องถิ่น นอกจากนั้นการทำพิธีศึลจุ่มหมู่ก็ทำกันเพียงสามครั้งต่อปี ซึ่งก็หมายความว่าก็จะมีผู้รับศีลและผู้เข้าร่วมพิธีมาก





ในเดือนที่มิได้ทำพิธีศีลจุ่มประตูหอศีลจุ่มก็ปิดตายโดยตราของบาทหลวงเพื่อรักษากฏปฏิบัติอย่างเคร่งครัดของการทำพิธีศีลจุ่มภายในสังฆมณฑล การทำพิธีศีลจุ่มบางครั้งแบ่งเป็นสองตอนๆ หนึ่งเป็นพิธีสำหรับผู้ชายและอีกตอนหนึ่งเป็นพิธีสำหรับผู้หญิง บางครั้งหอศีลจุ่มก็จะแยกเป็นสองหอๆ หนึ่งสำหรับผู้ชายและอีกหอหนึ่งสำหรับผู้หญิง บางครั้งก็อาจจะมีเตาผิงเพื่ออุ่นผู้ที่ขึ้นจากน้ำ

แม้ว่าประกาศจากการประชุมสภาสงฆ์ที่อ็อกแซร์ (Council of Auxerre) ในปี ค.ศ. 578 จะระบุห้ามการใช้หอศีลจุ่มเป็นที่ฝังศพ แต่ก็ยังมีการทำกัน พระสันตะปาปาเท็จจอห์นที่ 23 ถูกฝังไว้ที่หอศีลจุ่มซานจิโอวานนีที่ฟลอเรนซ์ (Battistero di San Giovanni (Florence) หน้ามหาวิหารฟลอเรนซ์ เป็นพิธีใหญ่โตเมื่อสร้างอนุสรณ์ อัครบาทหลวงสมัยแรกๆ ของสังฆมณฑลแคนเตอร์บรี ก็ฝังไว้ภายในหอศีลจุ่มของมหาวิหารแคนเตอร์บรี

การเปลื่ยนการรับศีลจุ่มจากการดำลงไปทั้งตัวมาเป็นการพรมน้ำทำให้ความจำเป็นในการใช้หอศีลจุ่มทึ่มีอ่างศีลจุ่มใหญ่เพื่อการนั้นลดน้อยลง ในปัจจุบันก็มีการใช้กันอยู่บ้างเช่นในเมืองฟลอเรนซ์และปิซา

หอศีลจุ่มของมหาวิหารเซ็นต์จอห์นแลเตอร์รันเห็นจะเป็นหอศีลจุ่มที่เก่าที่สุดที่ยังใช้กันอยู่ ตัวสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ยังเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างโดยจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 ตรงกลางหอเป็นอ่างศีลจุ่มแปดเหลี่ยมล้อมรอบด้วยคอลัมน์หินพอร์ไฟรี (Porphyry) สีม่วงแดง หัวเสาเป็นหินอ่อนและการตกแต่งตอนบนเป็นแบบคลาสสิค (กรีกโรมัน) รอบเป็นจรมุขหรือทางเดินรอบและผนังแปดเหลี่ยม ด้านหนึ่งทางด้านมหาวิหารเป็นซุ้มพอร์ไฟรีที่ตกแต่งอย่างวิจิตร




วัดกลมซานตาคอสแทนซา (Santa Costanza) จากคริสต์ศตวรรษที่ 4 ใช้เป็นหอศีลจุ่มและเป็นที่เก็บศพของคอสแทนซาพระราชธิดาของจักรพรรดิคอนแสตนติน โครงสร้างยังอยู่ในสภาพที่ดีมากโดยมีโดมกลาง, คอลัมน์, และงานโมเสกแบบคลาสสิค ในซุ้มเล็กสองซุ้มเป็นงานโมเสกที่เก่าที่สุดที่เป็นเรื่องคริสต์ศาสนา ภาพหนึ่งเป็นโมเสส รับพระกฏบัตรเดิม และอีกภาพหนึ่งเป็นพระเยซูมอบพระกฏบัตรใหม่ที่ประทับด้วยอักษร “XP” ให้นักบุญปีเตอร์

สิ่งก่อสร้างที่เก่าที่สุดอีกแห่งหนึ่งที่เคยใช้เป็นหอศีลจุ่มที่มีลักษณะเหมือนที่เก็บศพก็คือหอศีลจุ่มที่ดูรา-ยูโรพาส (Dura-Europas) และทึ่ขุดพบที่อควิลเลีย (Aquileia) หรือที่ ซาโลนา (Salona) ราเวนนามีหอศีลจุ่มที่ภายในตกแต่งด้วยโมเสกอย่างงดงาม หอหนึ่งสร้างในสมัยกลางคริสต์ศตวรรษที่ 5 และอีกหอหนี่งที่ 6 ซึ่งเป็นสมัยเดียวกัยอีกหอหนี่งที่เนเปิลส์

ทางตะวันออกหอศีลจุ่มที่อิสตันบูลยังอยู่ติดด้านข้างของสุเหร่าซึ่งเดิมเป็นมหาวิหารเซนต์โซเฟีย หอศีลจุ่มที่พบที่อื่นก็มีซีเรีย, ฝรั่งเศส และ อังกฤษ

หอประชุมสงฆ์


หอประชุมสงฆ์ (อังกฤษ: Chapter house) คือสิ่งก่อสร้างหรือห้องที่ติดกับมหาวิหารหรือวัดหรือสำนักสงฆ์ ซึ่งใช้เป็นที่ประชุมของนักบวช

ถ้าหอประชุมสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งของสำนักสงฆ์ก็มักจะตั้งอยู่ทางตะวันออกของระเบียงคด จะเป็นห้องโล่งใหญ่เพื่อให้พอเพียงกับพระที่จำวัดอยู่ในสำนักสงฆ์และมักจะตกแต่งอย่างสวยงาม ถ้าเป็นหอประชุมสงฆ์แบบโรมาเนสก์หรือกอธิคทางเข้ามักจะเป็น façade เล็กและบนซุ้มโค้งเหนือประตูก็จะมีการตกแต่ง

พระในสำนักสงฆ์จะประชุมในหอเพื่ออ่านหนังสือศาสนาที่เป็นบท หรือ “Chapter” ฉะนั้นหอประชุมสงฆ์ในภาษาอังกฤษจึงเรียกว่า “Chapter house” นอกจากอ่านหนังสือศาสนาแล้วก็ยังใช้เป็นที่ประชุมเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับกิจการของสำนักสงฆ์ [1] การประชุมมักทำกันตอนเช้าหลังจากมิสซา พระจะนั่งเรียงติดผนังตามลำดับความสำคัญ เมื่อประชุมเสร็จก็จะสารภาพบาปต่อหน้าที่ประชุม หรือกล่าวประนามผู้ที่ทำผิดโดยไม่กล่าวนาม

ระเบียงคดด้านที่จะสร้างหอประชุมสงฆ์จะเป็นด้านที่สร้างก่อนและจะสร้างไม่นานหลังจากที่สร้างโครงสร้างของวัด

ถ้าเป็นหอประชุมสงฆ์ของมหาวิหารสังฆบุคคลากรของมหาวิหารก็จะประชุมกันที่นี่ถ้าเป็นหอประชุมสงฆ์ของวัด Dean, Prebendries และพระก็จะประชุมกันที่นี่




ตัวอย่างของมหาวิหารหรือวัดที่มีหอประชุมสงฆ์
บาซิลิกาซานตาโครเช ฟลอเรนซ์
มหาวิหารเอ็กซีเตอร์ อังกฤษ
มหาวิหารกลอสเตอร์ อังกฤษ
มหาวิหารซอลสบรี อังกฤษ
มหาวิหารเวลส์ อังกฤษ
มหาวิหารลิงคอล์น อังกฤษ
มหาวิหารเซาท์เวลล์ อังกฤษ
มหาวิหารยอร์ค อังกฤษ

หน้าต่างชั้นบน

หน้าต่างชั้นบน (เสียงอ่าน: /ˈklɪə(r)stɔəri/; อังกฤษ: Clerestory หรือ Clearstory หรือ Clerestory หรือ Overstorey) หรือที่แปลตรงตัวว่า “ชั้นที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง” (clear storey) เป็นส่วนประกอบของสิ่งก่อสร้างที่หมายถึงชั้นบนของบาซิลิกาโรมัน หรือเหนือทางเดินกลางหรือบริเวณพิธีของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ หรือ สถาปัตยกรรมกอธิคของคริสต์ศาสนสถาน ผนังซึ่งสูงขึ้นไปจากทางเดินข้างและปรุด้วยหน้าต่าง จุดประสงค์ของการมี “หน้าต่างชั้นบน” ก็เพื่อให้แสงสว่างสามารถส่องเข้ามาในสิ่งก่อสร้างได้

ประวัติ

ผนังที่มี “หน้าต่างชั้นบน” ของสิ่งก่อสร้างลักษณะบาซิลิที่เต็มไปด้วยงานโมเสกที่มหาวิหารมอนริอาลMonreale
ผนังทางเดินกลางแบ่งเป็นสามตอนๆ บนเป็น หน้าต่างชั้นบน ต่ำลงมาเป็นระเบียงแคบ (Triforium) และใต้ระเบียงแคบเป็นซุ้มโค้ง (แอบบีมาล์มสบรี, วิลท์เชอร์, อังกฤษ)
“หน้าต่างชั้นบน” ของมหาวิหารแซงต์เดอนีส์ที่ทำให้แสงส่องเข้ามาอาบบริเวณขับเพลงสวดตามความต้องการของการออกแบบของแอบบ็อตซูแกร์





สมัยโบราณ
วิธีการสร้างหน้าต่างชั้นบนปรากฏในการสร้างวัดในอียิปต์ คำว่า “หน้าต่างชั้นบน” ที่ใช้ในวัดอียิปต์โบราณหมายถึงบริเวณโถงที่มีแสงส่องเข้ามาได้ระหว่างช่องที่สร้างด้วยหินแนวดิ่งจากในบริเวณที่มีคอลัมน์รับเพดานของทางเดินข้างที่ติดกัน หน้าต่างชั้นบนปรากฏในอียิปต์มาตั้งแต่สมัยอมาร์นา (Amarna)
ในพระราชวังมิโนอันของครีตเช่นคนอสซัส (Knossos) นอกจากจะใช้ “หน้าต่างชั้นบน” แล้วก็ยังใช้ “lightwell” ด้วย[2]

หน้าต่างชั้นบนใช้ในสถาปัตยกรรมกรีก เมื่อมาถึงสมัยโรมันก็มีการใช้ในสิ่งก่อสร้างแบบบาซิลิกาที่รวมทั้งสถานที่อาบน้ำและวัง



บาซิลิกาของคริสเตียนยุคแรกและไบแซนไทน์
การสร้างวัดคริสเตียนยุคแรกและบางวัดของสมัยไบแซนไทน์โดยเฉพาะในอิตาลีมีพื้นฐานมาจากสิ่งก่อสร้างแบบบาซิลิกาของโรมันซึ่งยังคงรักษาโถงทางเดินกลาง (nave) ขนาบด้วยทางเดินข้างที่เตี้ยกว่าสองข้าง ทางเดินกลางและทางเดินข้างแยกออกจากกันด้วยแนวเสาเหนือส่วนที่แยกกันเป็นผนังที่สูงขึ้นไปที่มีหน้าต่างชั้นบนเป็นระยะๆ


สมัยโรมาเนสก์
ระหว่างสมัยโรมาเนสก์วัดแบบบาซิลิกาก็สร้างกันทั่วไปในยุโรป วัดส่วนใหญ่มีหลังคาเป็นไม้และมีหน้าต่างชั้นบนภายใต้ วัดบางวัดมีเพดานโค้งแบบประทุนที่ไม่มีหน้าต่างชั้นบน แต่การวิวัฒนาการการก่อสร้างที่ใช้เพดานโค้งประทุนซ้อน (groin vault) และเพดานโค้งสัน (ribbed vault) สามารถทำให้สร้างหน้าต่างชั้นบนได้

เดิมทางเดินกลางของวัดที่มีทางเดินกลางกว้างจะทำเป็นสองชั้นๆ ล่างเป็นซุ้มโค้งและเหนือขึ้นไปเป็นหน้าต่างชั้นบน ระหว่างสมัยโรมาเนสก์ก็มีการเพิ่มชั้นขึ้นอีกชั้นหนึ่งระหว่างสองชั้นนี้เป็น “ระเบียงแคบ” ระเบียงแคบโดยทั่วไปจะเป็นบริเวณเปิดภายใต้หลังคาที่ลาดลงมาของทางเดินข้าง การก่อสร้างลักษณะนี้กลายมาเป็นมาตรฐานของการก่อสร้างของสมัยปลายโรมาเนสก์และวัดกอธิคขนาดใหญ่หรือมหาวิหาร บางครั้งก็จะมีการเพิ่มระเบียงขึ้นอีกระเบียงหนึ่งในผนังเหนือระเบียงแคบและใต้หน้าต่างชั้นบน ลักษณะนี้พบในสิ่งก่อสร้างของสมัยปลายโรมาเนสก์และต้นกอธิคของฝรั่งเศส





สมัยกอธิค
ถ้าเป็นวัดเล็กหน้าต่างชั้นบนก็อาจจะเป็นมหาวิหาร สี่กลีบ (quatrefoil) หรือสามกลีบในวงกลม ในวัดในอิตาลีก็อาจจะเป็นหน้าต่างกลม ถ้าเป็นวัดใหญ่หน้าต่างชั้นบนเป็นสิ่งสำคัญของสิ่งก่อสร้างทั้งทางด้านความสวยงามและประโยชน์ทางการใช้สอย เพดานโค้งสันและครีบยันของสถาปัตยกรรมแบบกอธิคเป็นตัวรับน้ำหนักและความกดดันของสิ่งก่อสร้างที่ทำให้สามารถสร้างหน้าต่างชั้นบนที่กว้างขึ้นได้ ในสมัยกอธิคหน้าต่างชั้นบนมักจะแบ่งเป็นช่วงๆ ตามการแบ่งของหลังคาโค้งที่แล่นลงไปตามคอลัมน์ที่เป็นซุ้มโค้งที่แยกระหว่างทางเดินกลางและทางเดินข้าง

แนวโน้มของการวิวัฒนาการหน้าต่างชั้นบนตั้งแต่สมัยโรมานเนสก์มาจนถึงปลายสมัยกอธิคคือหน้าต่างชั้นบนที่สูงขึ้นๆ และกว้างขึ้นๆ จนกว้างกว่าสัดส่วนของผนัง


สมัยใหม่
การใช้ “หน้าต่างชั้นบน” ของสมัยใหม่คือการใช้ด้านบนของสิ่งก่อสร้างที่เป็นแนวหน้าต่างเหนือระดับตาในการให้แสงส่องเข้ามาในบริเวณภายในของสิ่งก่อสร้างโดยไม่ทำให้เสียความเป็นส่วนตัวและไม่ดึงความสนใจไปกับทิวทัศน์ภายนอก การก่อสร้างโรงงานมักใช้วิธีนี้ หรือบ้านสมัยใหม่บางทีก็มีส่วนประกอบนี้ อีกตัวอย่างหนึ่งคือโรงละครครอสบีของโรงอุปรากรซานตาเฟที่ทางด้านหน้าและด้านหลังของหลังคาเชื่อมกันด้วยหน้าต่างชั้นบน เพาโล โซเลอริใช้ “หน้าต่างชั้นบน” ที่เรียกว่า “ตวงแสง” (light scoops)

หน้าต่างกุหลาบ



หน้าต่างกุหลาบ (ภาษาอังกฤษ: Rose window) โดยทั่วไปหมายถึงหน้าต่างทรงกลมซึ่งมักจะใช้ในการสร้างคริสต์ศาสนสถานโดยเฉพาะวัดที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบกอธิค คำว่า “rose window” เริ่มใช้กันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 และสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “roué” ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศสเก่าที่แปลว่า “ล้อ” ซึ่งไม่ใช่มาจากคำว่า “rose” ดอกไม้ในภาษาอังกฤษ

คำว่า “หน้าต่างล้อ” มักจะหมายถึงหน้าต่างที่แบ่งเป็นซี่ๆ ด้วยหิน กระจายออกไปจากเพลาศูนย์กลาง คำว่า “หน้าต่างกุหลาบ” มักจะใช้เฉพาะหน้าต่างกลมที่เป็นแบบที่ซับซ้อนซึ่งดูคล้ายกลีบกุหลาบซ้อน หน้าต่างกลมที่ไม่มีซี่ที่นิยมทำกันในวัดในประเทศอิตาลีเรียกว่า “หน้าต่างตา” (Ocular window หรือ oculus)

“หน้าต่างกุหลาบ” เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมแบบกอธิคซึ่งจะเห็นได้จากในมหาวิหารทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส แต่แท้ที่จริงแล้วการสร้างหน้าต่างกลมเริ่มกันมาตั้งแต่ยุคกลาง การสร้าง “หน้าต่างกุหลาบ” หันกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในสมัยสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิคเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19


ประวัติ
หล่งข้อมูลอื่น





ด้านนอก “หน้าต่างกุหลาบ” ที่มหาวิหารสราสเบิร์กที่มาของหน้าต่างกุหลาบอาจจะพบในสถาปัตยกรรมโรมันที่เรียกว่า “อ็อคคิวลัส” (oculus) หรือ “ตา” ซึ่งเป็นช่องกลมกว้างบนเพดานให้แสงและอากาศส่องเข้ามาภายในสิ่งก่อสร้างได้ “อ็อคคิวลัส” ที่สำคัญที่สุดคือ อ็อคคิวลัสที่เป็นช่องเปิดกลมบนหลังคาของตึกแพนเธียน (Pantheon) ที่ โรม

ในสมัยศิลปะคริสต์ศาสนายุคแรก และสถาปัตยกรรมไบแซนไทน์มีตัวอย่างของการก่อสร้างลักษณะนี้ ซึ่งมักจะตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของโดมเช่นที่วัด Holy Sepulchre ที่กรุงเยรูซาเล็ม หรือบนจั่วตื้นแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิค เช่นที่วัดเซ็นต์แอ็กเนสนอกกำแพง (Saint Agnes Outside the Walls) หรือที่มหาวิหารทอเซลโล (Torcello Cathedral) ที่ เวนิส[1]

หน้าต่างที่สร้างเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 8 ที่ปัจจุบันอยู่ที่เมืองเวนิสซึ่งเจาะจากหินแผ่นเดียว หรือหน้าต่างครึ่งวงกลมที่แบ่งเป็นช่องๆ ที่ทำในคริสต์ศตวรรษที่ 8 และหน้าต่างที่ทำต่อมาภายหลังที่ประเทศกรีซยังพอมีหลงเหลือให้ดูอยู่บ้าง[2]

หน้าต่างกลมเล็กเช่นที่วัดเซ็นต์แอ็กเนสนอกกำแพงและมหาวิหารทอเซลโล และหน้าต่างที่ใช้ตกแต่งด้วยกระจกด้านภายในหน้าต่างกลมที่เว้าลึกเข้าไปในผนังยังคงทำกันต่อมาในการสร้างวัดที่ประเทศอิตาลีจนมารุ่งเรืองเอาเมื่อสมัยโรมาเนสก์

อีกประการหนึ่งที่ทำให้การสร้างหน้าต่างกุหลาบมีความนิยมขึ้นในทวีปยุโรป ตามการสันนิษฐานโดยนักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมนีอ็อตโต ฟอน ซิมสัน (Otto von Simson) ผู้กล่าวว่าหน้าต่างกุหลาบมีรากฐานมาจากหน้าต่างรูปแปดเหลี่ยมที่ตกแต่งผนังภายนอกของปราสาทอุมเมยัด (Umayyad palace) ที่ ประเทศจอร์แดน ระหว่างปี ค.ศ. 740 ถึงปี ค.ศ. 750 ตามทฤษฎีแล้วผู้ที่นำการสร้างหน้าต่างลักษณะนี้เข้ามาในทวีปยุโรปคือผู้ที่กลับมาจากสงครามครูเสดโดยนำมาใช้ในการก่อสร้างคริสต์ศาสนสถาน


เพดานโค้ง


เพดานโค้ง (อังกฤษ: Vault; ฝรั่งเศส: voute; เยอรมัน: Gewölbe; คาตาลัน: volta) ในทางสถาปัตยกรรมหมายถึงโค้ง (arch) ที่เป็นช่องใต้เพดานหรือหลังคา โครงสร้างของเพดานโค้งจะทำให้เกิดทำให้เกิดแรงผลัก (thrust) จึงจำเป็นต้องมี “แรงต้าน” (Friction) เป็นการโต้ ถ้าเพดานโค้งสร้างใต้ดิน“แรงต้าน” พื้นดินก็จะเป็นตัวต้าน แต่เมื่อสร้างเพดานโค้งบนดินสถาปนิกก็ต้องหาวิธีสร้าง “แรงต้าน” ที่ทำให้เพดานโค้งทรงอยู่ได้ซึ่งก็อาจจะได้แก่กำแพงที่หนาในกรณีที่เป็นเพดานโค้งทรงประทุน หรือค้ำยันซึ่งใช้ในสร้าง “แรงต้าน” ในกรณีที่เพดานโค้งมาตัดกัน

เพดานโค้งแบบที่ง่ายที่สุดเพดานโค้งประทุน หรือ “เพดานโค้งถังไม้” (barrel vault) หรือบางทีก็เรียก “เพดานโค้งอุโมงค์” ซึ่งเป็นเพดานทรงโค้งครึ่งวงกลม ความยาวของเส้นรอบครึ่งวงกลมของเพดานโค้งแบบนี้จะยาวกว่าเส้นผ่าศูนย์กลาง เมื่อสร้างช่างจะสร้างโครงค้ำยันโค้งชั่วคราวเพื่อเป็นแบบสำหรับวางหินรอบส่วนโค้งที่เรียกว่า “voussoir” ที่ยังรับน้ำหนักตัวเองไม่ได้จนกระทั่งวางจากหินก้อนสุดท้ายตรงกลางโค้งที่เรียกว่า “หินหลักยอดโค้ง” ถ้าเป็นบริเวณที่ไม้หาง่ายช่างก็จะใช้โครงไม้ครึ่งวงกลมสำหรับเป็นแบบวางหินรอบส่วนโค้ง เมื่อเสร็จก็ถอดโครงออกแล้วลากเอาไปสร้างเพดานโค้งช่วงต่อไป ในสมัยโบราณโดยเฉพาะที่ชาลเดีย (Chaldaea) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรบาบิโลเนีย และที่ อียิปต์ที่ไม้หายากสถาปนิกก็ต้องใช้วิธีอื่นช่วย ในสมัยโรมันโบราณสถาปนิกโรมันก็จะโครงสร้างนี้เป็นปกติ[ต้องการแหล่งอ้างอิง]



ชนิดของเพดานโค้ง
โดม (Dome) คือโครงสร้างที่เป็นทรงครึ่งวงกลมหรือใกล้เคืยง
เพดานโค้งประทุน (barrel vaults) คือโครงสร้างที่มีลักษณะเหมือนถังไม้ หรืออุโมงค์ที่ผ่าครึ่งทำให้มีลักษณะเป็นเพดานโค้งต่อเนื่อง
เพดานโค้งประทุนซ้อน (Groin vault หรือ double barrel vault หรือ cross vault) คือโครงสร้างที่เป็นเพดานโค้งสองอันตัดกัน เพดานส่วนที่ตัดกันบางครั้งก็จะโค้งแหลมแทนที่จะกลม
เพดานโค้งสัน (Rib vault) คือเพดานโค้งที่ทำให้แข็งแรงขึ้นด้วยสันซึ่งเป็นลักษณะเพดานโค้งที่นิยมกันในสถาปัตยกรรมแบบกอธิค
เพดานพัด (Fan vault) เป็นเพดานที่ใช้ในสถาปัตยกรรมแบบเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ (Perpendicular) ซึ่งเป็นสมัยหนึ่งของสถาปัตยกรรมกอธิคซึ่งสันของเพดานแยกออกไปเป็นแฉกคล้ายรูปพัด ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มีเฉพาะในอังกฤษ

แท่นเทศน์


แท่นเทศน์ (อังกฤษ: Pulpit) “Pulpit” มาจากภาษาละติน “Pulpitum” ที่แปลว่า “รั่งร้าน” หรือ “แท่น” หรือ “เวที” เป็นแท่นที่ยกสูงจากพื้นที่นักบวชใช้ในการเทศนาทั้งภายในหรือภายนอกคริสต์ศาสนสถาน

ในวัดคริสต์ศาสนาบางวัดจะมีที่ตั้งสำหรับปาฐกสองที่ ตามปกติแล้วผู้อยู่ทางซ้ายของผู้เข้าร่วมพิธีจะเป็น “แท่นเทศน์” เพราะการที่แท่นเทศน์มักใช้ในการอ่านจากพระวรสาร ด้านนี้ของวัดจึงเรียกว่าด้านพระวรสาร (gospel side) ทางด้านขวาจะมี “แท่นอ่าน” (lectern) ที่มาจากภาษาละติน “lectus” ที่แปลว่า “อ่าน” เพราะเป็นที่สำหรับการอ่านเป็นส่วนใหญ่ที่มักจะใช้โดยฆราวาสในการอ่านบทสอนจากคัมภีร์ (ยกเว้นบทสอนจากพระวรสาร) เป็นที่นำผู้เข้าร่วมพิธีในการสวดมนต์ หรือเป็นที่ใช้ประกาศ เพราะด้านนี้ของคริสต์ศาสนสถานเป็นด้านที่ใช้อ่านจดหมายคำสอน (epistle lesson) ด้านนี้บางครั้งจึงเรียกว่าด้าน “epistle”[1] ในบางวัดแท่นอ่านซึ่งเป็นที่อ่านจดหมายคำสอน (Epistle) ก็อยู่ทางขวาและแท่นเทศน์อยู่ทางซ้าย

โปรเตสแตนต์
ในวัดโปรเตสแตนต์แท่นเทศน์ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในวัด และจะตั้งตรงกลางหน้าผู้เข้าร่วมทำพิธีในวัดและยกสูง แท่นเทศน์ใช้เป็นที่ผู้สอนศาสนายืน แท่นอาจจะตกแต่งด้วยผ้าห้อยหน้าแท่น (Antependium) ที่เป็นผ้าที่ห้อยคลุมลงมาจากด้านหน้าของแท่น หรืออาจจะมีการตกแต่งด้วยดอกไม้

ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีการสร้างแท่นเทศน์สามชั้นที่มักสร้างกันในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ การสร้างเป็นสามชั้นก็เพื่อแสดงความสำคัญของการอ่านบทสอน ชั้นล่างสุดใช้ในการประกาศข่าวของชุมชน ชั้นกลางสำหรับอ่านพระวรสาร และชั้นสูงสุดสำหรับการเทศนา

ในวัดอีแวนเจลิคัลบางวัดแท่นเทศน์จะตั้งอยู่บนแท่นตรงกลาง และจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ที่สุดในวัดทั้งนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศคำสอนของพระเจ้า ในวัดอีแวนเจลิคัลในปัจจุบันแท่นเทศน์จะเล็กลงกว่าที่เคยมีมาถ้ามี และจะใช้หลังการร้องเพลงสวดและยังคงตั้งอยู่กลางวัด


แอมโบ

ในวัดที่มีที่สำหรับปาฐกที่เดียวที่ใช้เป็นทั้งแท่นเทศน์และแท่นอ่านจะเรียกว่า “แอมโบ” (ambo) ที่มาจากภาษากรีกที่แปลว่า “แท่น” ที่เดิมเป็นยกพื้นที่ยกสูงที่ตั้งอยู่กลางทางเดินกลางที่ใช้เป็นที่อ่านจดหมายคำสอนและพระวรสาร และบางครั้งก็จะใช้เป็นที่เทศนา

ปนาลี หรือ การ์กอยล์


ปนาลี หรือ การ์กอยล์ (ภาษาอังกฤษ: Gargoyle) ความหมายของปนาลีทางสถาปัตยกรรมหมายถึงหินที่แกะเป็นรูปอัปลักษณ์ (grotesque) ยื่นออกไปจากสิ่งก่อสร้างที่มีรางและช่องให้น้ำจากหลังคาไหลห่างจากตัวสิ่งก่อสร้าง

คำว่า “gargoyle” มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า “gargouille” ซึ่งแปลว่าคอหอย ซึ่งมาจากภาษาละติน “gurgulio, gula” หรือคำที่มีรากมาจาก “gar” ที่แปลว่า กลืน ซึ่งคล้ายเสียงน้ำไหลในท่อ (ตัวอย่าง: ภาษาสเปน “garganta” แปลว่าคอหอย จึงใช้คำว่า “garganta” สำหรับ “gargoyle”)

รูปอัปลักษณ์ที่มิได้ใช้เป็นรางน้ำแต่ใช้เป็นสิ่งตกแต่ง ตามภาษาสามัญก็ยังเรียกว่า ปนาลี ถึงแม้ว่าทางสถาปัตยกรรมจะแยกการใช้ระหว่างคำว่า “ปนาลี” และคำว่า “รูปอัปลักษณ์” ปนาลีจะเป็นคำที่ใช้สำหรับรูปอัปลักษณ์ที่ใช้เป็นรางน้ำ และ คำว่า“รูปอัปลักษณ์” จะหมายถึงรูปสลักที่มิได้ใช้เป็นรางน้ำ

ปนาลี จะเป็นรูปสลักตามมุมต่าง ๆ ของสถาปัตยกรรมในแบบกอธิคใน ยุโรป โดยมากจะสลักเป็นรูป มังกร หรือ ปีศาจ ในท่วงท่าต่าง ๆ โดยท่าที่รู้จักมากที่สุด คือ นั่งยอง ๆ ตามองไปทางข้างหน้า

ปนาลี เชื่อว่า เดิมเป็นมังกร ชาวยุโรปในยุคกลางเชื่อว่า การ์กอยล์เมื่อตอนกลางวันจะเป็นรูปสลัก ตกกลางคืนจะกลายร่างเป็นมังกรบินไปทั่วหมู่บ้านหรือเมืองที่อาศัย เพื่อปกป้องดูแลมิให้มีสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ เข้ามารังควาน