วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

หอศีลจุ่ม หรือ หอล้างบาป


หอศีลจุ่ม หรือ หอล้างบาป (อังกฤษ: Baptistery หรือ Baptistry) เป็นคริสต์ศาสนสถาน ที่สร้างเป็นอิสระจากสิ่งก่อสร้างอื่นโดยมีอ่างศีลจุ่มเป็นศูนย์กลาง หอศีลจุ่มอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของวัดหรือมหาวิหารซึ่งมีแท่นบูชาและคูหาสวดมนต์ของตนเอง ในวัดสมัยคริสเตียนยุคแรกหอศีลจุ่มจะเป็นสถานสำหรับผู้จะเข้ารีตเรียนรู้เรื่องศาสนาก่อนจะรับศีลจุ่ม และเป็นที่ทำพิธีรับศีลจุ่ม

การสร้างหอศีลจุ่มอย่างสวยงามเป็นการแสดงถึงความสำคัญของการรับศีลจุ่มในคริสต์ศาสนา หอศีลจุ่มแปดเหลี่ยมของมหาวิหารเซนต์จอห์นแลเตอร์รันเป็นหอศีลจุ่มแรกที่สร้างเพื่อการพิธีนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นแบบลักษณะตัวอย่างของหอศีลจุ่มที่สร้างกันต่อมา ซึ่งบางครั้งจะเป็นสิบสองเหลี่ยม หรือกลมอย่างที่ปิซา ในบริเวณก่อนเข้าไป (narthex) เป็นบริเวณที่ใช้สำหรับใช้เรียนคำสอนและสารภาพความศรัทธาก่อนที่จะทำการรับศีลจุ่ม โถงกลางจะมีอ่างศีลจุ่มเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นที่ที่ผู้รับศีลจะลงไปใต้น้ำสามหน จากอ่างจะเป็นบันไดสามขั้นลงไปในอ่าง ห้อยอยู่เหนืออ่างอาจจะเป็นนกพิลาปทองหรือเงินซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ รูปสัญลักษณ์ที่ทำจากโมเสกบนผนัง หรือจิตรกรรมฝาผนังมักจะเป็นฉากชีวิตของนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ อ่างศีลจุ่มในระยะแรกมักจะทำด้วยหิน แต่ต่อมาก็มีการทำด้วโลหะบ้าง

แหล่งน้ำของหอศีลจุ่มของมหาวิหารเซ็นต์จอห์นแลเตอร์รันมาจากน้ำพุธรรมชาติ ก่อนที่จะมาเป็นมหาวิหารสิ่งก่อสร้างเดิมเป็นวังของครอบครัวพลอติอิ แลเตอร์รัน (Plautii Laterani) ผู้เป็นผู้บริหารของจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมัน จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1เป็นผู้ถวายวังนี้ให้กับบาทหลวงมิลทิอาเดส (Bishop Miltiades) น้ำพุธรรมชาติเป็นแหล่งน้ำของสิ่งก่อสร้างหลายสิ่งก่อสร้างภายในวัง เมื่อมีการเปลี่ยนศาสนาผู้เปลี่ยนก็ต้องรับศีลจุ่มทำให้แหล่งน้ำกลายเป็นความจำเป็น คาสสิโอโดรัสนักการเมืองและนักเขียนชาวโรมันบรรยายไว้ในปี ค.ศ. 527 ถึงการจัดงานเทศกาลฉลองที่วัดเดิมของผู้นอกศาสนาทางใต้ของอิตาลีที่ยังมีวัฒนธรรมกรีก ที่เปลี่ยนเป็นมาเป็นหอศีลจุ่มสำหรับวัดคริสต์ศาสนา (“วาเรีย” 8.33) ในเอกสาร ค.ศ. 1999, ซามูเอล เจ บาร์นิช ยกตัวอย่างของการเปลี่ยนจากน้ำพุศักดิ์สิทธิ์เป็นหอศีลจุ่มจากนักบุญเกรกอรีแห่งทัวร์ (เสียชีวิตราว ค.ศ. 594) และ นักบุญแม็กซิมัสแห่งตูริน (เสียชีวิตราว ค.ศ. 466)

หอศีลจุ่มเกิดขึ้นในสมัยที่มีผู้เข้ารีตที่เป็นผู้ใหญ่เป็นจำนวนมากที่ต้องรับศึลจุ่มก่อนเป็นคริสต์ศาสนิกชนเต็มตัว และเมื่อกฏบังคับว่าการรับศีลจุ่มต้องเป็นการดำลงใต้น้ำมิใช่แต่เพียงพรมน้ำอย่างสมัยหลัง หอศีลจุ่มมาสร้างกันภายหลังสมัยคอนสแตนตินผู้ประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมายของจักรวรรดิโรมัน ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 อ่างศีลจุ่มจะสร้างภายในบริเวณซุ้มหน้าวัดหรือภายในตัววัด หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 9 จำนวนเด็กที่รับศีลจุ่มเพิ่มมากขึ้น แต่การสร้างหอศีลจุ่มลดน้อยลง หอศีลจุ่มเดิมที่สร้างบางหอก็มีขนาดใหญ่จนสามารถใช้เป็นที่ประชุมสังคายนาได้ การสร้างหอศีลจุ่มใหญ่ในสมัยคริสเตียนยุคแรกก็เพื่อให้บาทหลวงทำพิธีศึลจุ่มหมู่ให้กับผู้ต้องการมานับถือคริสต์ศาสนาในสังฆมณฑลได้ ฉะนั้นหอศีลจุ่มจึงมักเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างติดกับมหาวิหารซึ่งเป็นวัดของบาทหลวง และไม่สร้างสำหรับวัดประจำท้องถิ่น นอกจากนั้นการทำพิธีศึลจุ่มหมู่ก็ทำกันเพียงสามครั้งต่อปี ซึ่งก็หมายความว่าก็จะมีผู้รับศีลและผู้เข้าร่วมพิธีมาก





ในเดือนที่มิได้ทำพิธีศีลจุ่มประตูหอศีลจุ่มก็ปิดตายโดยตราของบาทหลวงเพื่อรักษากฏปฏิบัติอย่างเคร่งครัดของการทำพิธีศีลจุ่มภายในสังฆมณฑล การทำพิธีศีลจุ่มบางครั้งแบ่งเป็นสองตอนๆ หนึ่งเป็นพิธีสำหรับผู้ชายและอีกตอนหนึ่งเป็นพิธีสำหรับผู้หญิง บางครั้งหอศีลจุ่มก็จะแยกเป็นสองหอๆ หนึ่งสำหรับผู้ชายและอีกหอหนึ่งสำหรับผู้หญิง บางครั้งก็อาจจะมีเตาผิงเพื่ออุ่นผู้ที่ขึ้นจากน้ำ

แม้ว่าประกาศจากการประชุมสภาสงฆ์ที่อ็อกแซร์ (Council of Auxerre) ในปี ค.ศ. 578 จะระบุห้ามการใช้หอศีลจุ่มเป็นที่ฝังศพ แต่ก็ยังมีการทำกัน พระสันตะปาปาเท็จจอห์นที่ 23 ถูกฝังไว้ที่หอศีลจุ่มซานจิโอวานนีที่ฟลอเรนซ์ (Battistero di San Giovanni (Florence) หน้ามหาวิหารฟลอเรนซ์ เป็นพิธีใหญ่โตเมื่อสร้างอนุสรณ์ อัครบาทหลวงสมัยแรกๆ ของสังฆมณฑลแคนเตอร์บรี ก็ฝังไว้ภายในหอศีลจุ่มของมหาวิหารแคนเตอร์บรี

การเปลื่ยนการรับศีลจุ่มจากการดำลงไปทั้งตัวมาเป็นการพรมน้ำทำให้ความจำเป็นในการใช้หอศีลจุ่มทึ่มีอ่างศีลจุ่มใหญ่เพื่อการนั้นลดน้อยลง ในปัจจุบันก็มีการใช้กันอยู่บ้างเช่นในเมืองฟลอเรนซ์และปิซา

หอศีลจุ่มของมหาวิหารเซ็นต์จอห์นแลเตอร์รันเห็นจะเป็นหอศีลจุ่มที่เก่าที่สุดที่ยังใช้กันอยู่ ตัวสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ยังเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างโดยจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 ตรงกลางหอเป็นอ่างศีลจุ่มแปดเหลี่ยมล้อมรอบด้วยคอลัมน์หินพอร์ไฟรี (Porphyry) สีม่วงแดง หัวเสาเป็นหินอ่อนและการตกแต่งตอนบนเป็นแบบคลาสสิค (กรีกโรมัน) รอบเป็นจรมุขหรือทางเดินรอบและผนังแปดเหลี่ยม ด้านหนึ่งทางด้านมหาวิหารเป็นซุ้มพอร์ไฟรีที่ตกแต่งอย่างวิจิตร




วัดกลมซานตาคอสแทนซา (Santa Costanza) จากคริสต์ศตวรรษที่ 4 ใช้เป็นหอศีลจุ่มและเป็นที่เก็บศพของคอสแทนซาพระราชธิดาของจักรพรรดิคอนแสตนติน โครงสร้างยังอยู่ในสภาพที่ดีมากโดยมีโดมกลาง, คอลัมน์, และงานโมเสกแบบคลาสสิค ในซุ้มเล็กสองซุ้มเป็นงานโมเสกที่เก่าที่สุดที่เป็นเรื่องคริสต์ศาสนา ภาพหนึ่งเป็นโมเสส รับพระกฏบัตรเดิม และอีกภาพหนึ่งเป็นพระเยซูมอบพระกฏบัตรใหม่ที่ประทับด้วยอักษร “XP” ให้นักบุญปีเตอร์

สิ่งก่อสร้างที่เก่าที่สุดอีกแห่งหนึ่งที่เคยใช้เป็นหอศีลจุ่มที่มีลักษณะเหมือนที่เก็บศพก็คือหอศีลจุ่มที่ดูรา-ยูโรพาส (Dura-Europas) และทึ่ขุดพบที่อควิลเลีย (Aquileia) หรือที่ ซาโลนา (Salona) ราเวนนามีหอศีลจุ่มที่ภายในตกแต่งด้วยโมเสกอย่างงดงาม หอหนึ่งสร้างในสมัยกลางคริสต์ศตวรรษที่ 5 และอีกหอหนี่งที่ 6 ซึ่งเป็นสมัยเดียวกัยอีกหอหนี่งที่เนเปิลส์

ทางตะวันออกหอศีลจุ่มที่อิสตันบูลยังอยู่ติดด้านข้างของสุเหร่าซึ่งเดิมเป็นมหาวิหารเซนต์โซเฟีย หอศีลจุ่มที่พบที่อื่นก็มีซีเรีย, ฝรั่งเศส และ อังกฤษ

หอประชุมสงฆ์


หอประชุมสงฆ์ (อังกฤษ: Chapter house) คือสิ่งก่อสร้างหรือห้องที่ติดกับมหาวิหารหรือวัดหรือสำนักสงฆ์ ซึ่งใช้เป็นที่ประชุมของนักบวช

ถ้าหอประชุมสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งของสำนักสงฆ์ก็มักจะตั้งอยู่ทางตะวันออกของระเบียงคด จะเป็นห้องโล่งใหญ่เพื่อให้พอเพียงกับพระที่จำวัดอยู่ในสำนักสงฆ์และมักจะตกแต่งอย่างสวยงาม ถ้าเป็นหอประชุมสงฆ์แบบโรมาเนสก์หรือกอธิคทางเข้ามักจะเป็น façade เล็กและบนซุ้มโค้งเหนือประตูก็จะมีการตกแต่ง

พระในสำนักสงฆ์จะประชุมในหอเพื่ออ่านหนังสือศาสนาที่เป็นบท หรือ “Chapter” ฉะนั้นหอประชุมสงฆ์ในภาษาอังกฤษจึงเรียกว่า “Chapter house” นอกจากอ่านหนังสือศาสนาแล้วก็ยังใช้เป็นที่ประชุมเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับกิจการของสำนักสงฆ์ [1] การประชุมมักทำกันตอนเช้าหลังจากมิสซา พระจะนั่งเรียงติดผนังตามลำดับความสำคัญ เมื่อประชุมเสร็จก็จะสารภาพบาปต่อหน้าที่ประชุม หรือกล่าวประนามผู้ที่ทำผิดโดยไม่กล่าวนาม

ระเบียงคดด้านที่จะสร้างหอประชุมสงฆ์จะเป็นด้านที่สร้างก่อนและจะสร้างไม่นานหลังจากที่สร้างโครงสร้างของวัด

ถ้าเป็นหอประชุมสงฆ์ของมหาวิหารสังฆบุคคลากรของมหาวิหารก็จะประชุมกันที่นี่ถ้าเป็นหอประชุมสงฆ์ของวัด Dean, Prebendries และพระก็จะประชุมกันที่นี่




ตัวอย่างของมหาวิหารหรือวัดที่มีหอประชุมสงฆ์
บาซิลิกาซานตาโครเช ฟลอเรนซ์
มหาวิหารเอ็กซีเตอร์ อังกฤษ
มหาวิหารกลอสเตอร์ อังกฤษ
มหาวิหารซอลสบรี อังกฤษ
มหาวิหารเวลส์ อังกฤษ
มหาวิหารลิงคอล์น อังกฤษ
มหาวิหารเซาท์เวลล์ อังกฤษ
มหาวิหารยอร์ค อังกฤษ

หน้าต่างชั้นบน

หน้าต่างชั้นบน (เสียงอ่าน: /ˈklɪə(r)stɔəri/; อังกฤษ: Clerestory หรือ Clearstory หรือ Clerestory หรือ Overstorey) หรือที่แปลตรงตัวว่า “ชั้นที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง” (clear storey) เป็นส่วนประกอบของสิ่งก่อสร้างที่หมายถึงชั้นบนของบาซิลิกาโรมัน หรือเหนือทางเดินกลางหรือบริเวณพิธีของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ หรือ สถาปัตยกรรมกอธิคของคริสต์ศาสนสถาน ผนังซึ่งสูงขึ้นไปจากทางเดินข้างและปรุด้วยหน้าต่าง จุดประสงค์ของการมี “หน้าต่างชั้นบน” ก็เพื่อให้แสงสว่างสามารถส่องเข้ามาในสิ่งก่อสร้างได้

ประวัติ

ผนังที่มี “หน้าต่างชั้นบน” ของสิ่งก่อสร้างลักษณะบาซิลิที่เต็มไปด้วยงานโมเสกที่มหาวิหารมอนริอาลMonreale
ผนังทางเดินกลางแบ่งเป็นสามตอนๆ บนเป็น หน้าต่างชั้นบน ต่ำลงมาเป็นระเบียงแคบ (Triforium) และใต้ระเบียงแคบเป็นซุ้มโค้ง (แอบบีมาล์มสบรี, วิลท์เชอร์, อังกฤษ)
“หน้าต่างชั้นบน” ของมหาวิหารแซงต์เดอนีส์ที่ทำให้แสงส่องเข้ามาอาบบริเวณขับเพลงสวดตามความต้องการของการออกแบบของแอบบ็อตซูแกร์





สมัยโบราณ
วิธีการสร้างหน้าต่างชั้นบนปรากฏในการสร้างวัดในอียิปต์ คำว่า “หน้าต่างชั้นบน” ที่ใช้ในวัดอียิปต์โบราณหมายถึงบริเวณโถงที่มีแสงส่องเข้ามาได้ระหว่างช่องที่สร้างด้วยหินแนวดิ่งจากในบริเวณที่มีคอลัมน์รับเพดานของทางเดินข้างที่ติดกัน หน้าต่างชั้นบนปรากฏในอียิปต์มาตั้งแต่สมัยอมาร์นา (Amarna)
ในพระราชวังมิโนอันของครีตเช่นคนอสซัส (Knossos) นอกจากจะใช้ “หน้าต่างชั้นบน” แล้วก็ยังใช้ “lightwell” ด้วย[2]

หน้าต่างชั้นบนใช้ในสถาปัตยกรรมกรีก เมื่อมาถึงสมัยโรมันก็มีการใช้ในสิ่งก่อสร้างแบบบาซิลิกาที่รวมทั้งสถานที่อาบน้ำและวัง



บาซิลิกาของคริสเตียนยุคแรกและไบแซนไทน์
การสร้างวัดคริสเตียนยุคแรกและบางวัดของสมัยไบแซนไทน์โดยเฉพาะในอิตาลีมีพื้นฐานมาจากสิ่งก่อสร้างแบบบาซิลิกาของโรมันซึ่งยังคงรักษาโถงทางเดินกลาง (nave) ขนาบด้วยทางเดินข้างที่เตี้ยกว่าสองข้าง ทางเดินกลางและทางเดินข้างแยกออกจากกันด้วยแนวเสาเหนือส่วนที่แยกกันเป็นผนังที่สูงขึ้นไปที่มีหน้าต่างชั้นบนเป็นระยะๆ


สมัยโรมาเนสก์
ระหว่างสมัยโรมาเนสก์วัดแบบบาซิลิกาก็สร้างกันทั่วไปในยุโรป วัดส่วนใหญ่มีหลังคาเป็นไม้และมีหน้าต่างชั้นบนภายใต้ วัดบางวัดมีเพดานโค้งแบบประทุนที่ไม่มีหน้าต่างชั้นบน แต่การวิวัฒนาการการก่อสร้างที่ใช้เพดานโค้งประทุนซ้อน (groin vault) และเพดานโค้งสัน (ribbed vault) สามารถทำให้สร้างหน้าต่างชั้นบนได้

เดิมทางเดินกลางของวัดที่มีทางเดินกลางกว้างจะทำเป็นสองชั้นๆ ล่างเป็นซุ้มโค้งและเหนือขึ้นไปเป็นหน้าต่างชั้นบน ระหว่างสมัยโรมาเนสก์ก็มีการเพิ่มชั้นขึ้นอีกชั้นหนึ่งระหว่างสองชั้นนี้เป็น “ระเบียงแคบ” ระเบียงแคบโดยทั่วไปจะเป็นบริเวณเปิดภายใต้หลังคาที่ลาดลงมาของทางเดินข้าง การก่อสร้างลักษณะนี้กลายมาเป็นมาตรฐานของการก่อสร้างของสมัยปลายโรมาเนสก์และวัดกอธิคขนาดใหญ่หรือมหาวิหาร บางครั้งก็จะมีการเพิ่มระเบียงขึ้นอีกระเบียงหนึ่งในผนังเหนือระเบียงแคบและใต้หน้าต่างชั้นบน ลักษณะนี้พบในสิ่งก่อสร้างของสมัยปลายโรมาเนสก์และต้นกอธิคของฝรั่งเศส





สมัยกอธิค
ถ้าเป็นวัดเล็กหน้าต่างชั้นบนก็อาจจะเป็นมหาวิหาร สี่กลีบ (quatrefoil) หรือสามกลีบในวงกลม ในวัดในอิตาลีก็อาจจะเป็นหน้าต่างกลม ถ้าเป็นวัดใหญ่หน้าต่างชั้นบนเป็นสิ่งสำคัญของสิ่งก่อสร้างทั้งทางด้านความสวยงามและประโยชน์ทางการใช้สอย เพดานโค้งสันและครีบยันของสถาปัตยกรรมแบบกอธิคเป็นตัวรับน้ำหนักและความกดดันของสิ่งก่อสร้างที่ทำให้สามารถสร้างหน้าต่างชั้นบนที่กว้างขึ้นได้ ในสมัยกอธิคหน้าต่างชั้นบนมักจะแบ่งเป็นช่วงๆ ตามการแบ่งของหลังคาโค้งที่แล่นลงไปตามคอลัมน์ที่เป็นซุ้มโค้งที่แยกระหว่างทางเดินกลางและทางเดินข้าง

แนวโน้มของการวิวัฒนาการหน้าต่างชั้นบนตั้งแต่สมัยโรมานเนสก์มาจนถึงปลายสมัยกอธิคคือหน้าต่างชั้นบนที่สูงขึ้นๆ และกว้างขึ้นๆ จนกว้างกว่าสัดส่วนของผนัง


สมัยใหม่
การใช้ “หน้าต่างชั้นบน” ของสมัยใหม่คือการใช้ด้านบนของสิ่งก่อสร้างที่เป็นแนวหน้าต่างเหนือระดับตาในการให้แสงส่องเข้ามาในบริเวณภายในของสิ่งก่อสร้างโดยไม่ทำให้เสียความเป็นส่วนตัวและไม่ดึงความสนใจไปกับทิวทัศน์ภายนอก การก่อสร้างโรงงานมักใช้วิธีนี้ หรือบ้านสมัยใหม่บางทีก็มีส่วนประกอบนี้ อีกตัวอย่างหนึ่งคือโรงละครครอสบีของโรงอุปรากรซานตาเฟที่ทางด้านหน้าและด้านหลังของหลังคาเชื่อมกันด้วยหน้าต่างชั้นบน เพาโล โซเลอริใช้ “หน้าต่างชั้นบน” ที่เรียกว่า “ตวงแสง” (light scoops)

หน้าต่างกุหลาบ



หน้าต่างกุหลาบ (ภาษาอังกฤษ: Rose window) โดยทั่วไปหมายถึงหน้าต่างทรงกลมซึ่งมักจะใช้ในการสร้างคริสต์ศาสนสถานโดยเฉพาะวัดที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบกอธิค คำว่า “rose window” เริ่มใช้กันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 และสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “roué” ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศสเก่าที่แปลว่า “ล้อ” ซึ่งไม่ใช่มาจากคำว่า “rose” ดอกไม้ในภาษาอังกฤษ

คำว่า “หน้าต่างล้อ” มักจะหมายถึงหน้าต่างที่แบ่งเป็นซี่ๆ ด้วยหิน กระจายออกไปจากเพลาศูนย์กลาง คำว่า “หน้าต่างกุหลาบ” มักจะใช้เฉพาะหน้าต่างกลมที่เป็นแบบที่ซับซ้อนซึ่งดูคล้ายกลีบกุหลาบซ้อน หน้าต่างกลมที่ไม่มีซี่ที่นิยมทำกันในวัดในประเทศอิตาลีเรียกว่า “หน้าต่างตา” (Ocular window หรือ oculus)

“หน้าต่างกุหลาบ” เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมแบบกอธิคซึ่งจะเห็นได้จากในมหาวิหารทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส แต่แท้ที่จริงแล้วการสร้างหน้าต่างกลมเริ่มกันมาตั้งแต่ยุคกลาง การสร้าง “หน้าต่างกุหลาบ” หันกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในสมัยสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิคเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19


ประวัติ
หล่งข้อมูลอื่น





ด้านนอก “หน้าต่างกุหลาบ” ที่มหาวิหารสราสเบิร์กที่มาของหน้าต่างกุหลาบอาจจะพบในสถาปัตยกรรมโรมันที่เรียกว่า “อ็อคคิวลัส” (oculus) หรือ “ตา” ซึ่งเป็นช่องกลมกว้างบนเพดานให้แสงและอากาศส่องเข้ามาภายในสิ่งก่อสร้างได้ “อ็อคคิวลัส” ที่สำคัญที่สุดคือ อ็อคคิวลัสที่เป็นช่องเปิดกลมบนหลังคาของตึกแพนเธียน (Pantheon) ที่ โรม

ในสมัยศิลปะคริสต์ศาสนายุคแรก และสถาปัตยกรรมไบแซนไทน์มีตัวอย่างของการก่อสร้างลักษณะนี้ ซึ่งมักจะตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของโดมเช่นที่วัด Holy Sepulchre ที่กรุงเยรูซาเล็ม หรือบนจั่วตื้นแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิค เช่นที่วัดเซ็นต์แอ็กเนสนอกกำแพง (Saint Agnes Outside the Walls) หรือที่มหาวิหารทอเซลโล (Torcello Cathedral) ที่ เวนิส[1]

หน้าต่างที่สร้างเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 8 ที่ปัจจุบันอยู่ที่เมืองเวนิสซึ่งเจาะจากหินแผ่นเดียว หรือหน้าต่างครึ่งวงกลมที่แบ่งเป็นช่องๆ ที่ทำในคริสต์ศตวรรษที่ 8 และหน้าต่างที่ทำต่อมาภายหลังที่ประเทศกรีซยังพอมีหลงเหลือให้ดูอยู่บ้าง[2]

หน้าต่างกลมเล็กเช่นที่วัดเซ็นต์แอ็กเนสนอกกำแพงและมหาวิหารทอเซลโล และหน้าต่างที่ใช้ตกแต่งด้วยกระจกด้านภายในหน้าต่างกลมที่เว้าลึกเข้าไปในผนังยังคงทำกันต่อมาในการสร้างวัดที่ประเทศอิตาลีจนมารุ่งเรืองเอาเมื่อสมัยโรมาเนสก์

อีกประการหนึ่งที่ทำให้การสร้างหน้าต่างกุหลาบมีความนิยมขึ้นในทวีปยุโรป ตามการสันนิษฐานโดยนักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมนีอ็อตโต ฟอน ซิมสัน (Otto von Simson) ผู้กล่าวว่าหน้าต่างกุหลาบมีรากฐานมาจากหน้าต่างรูปแปดเหลี่ยมที่ตกแต่งผนังภายนอกของปราสาทอุมเมยัด (Umayyad palace) ที่ ประเทศจอร์แดน ระหว่างปี ค.ศ. 740 ถึงปี ค.ศ. 750 ตามทฤษฎีแล้วผู้ที่นำการสร้างหน้าต่างลักษณะนี้เข้ามาในทวีปยุโรปคือผู้ที่กลับมาจากสงครามครูเสดโดยนำมาใช้ในการก่อสร้างคริสต์ศาสนสถาน


เพดานโค้ง


เพดานโค้ง (อังกฤษ: Vault; ฝรั่งเศส: voute; เยอรมัน: Gewölbe; คาตาลัน: volta) ในทางสถาปัตยกรรมหมายถึงโค้ง (arch) ที่เป็นช่องใต้เพดานหรือหลังคา โครงสร้างของเพดานโค้งจะทำให้เกิดทำให้เกิดแรงผลัก (thrust) จึงจำเป็นต้องมี “แรงต้าน” (Friction) เป็นการโต้ ถ้าเพดานโค้งสร้างใต้ดิน“แรงต้าน” พื้นดินก็จะเป็นตัวต้าน แต่เมื่อสร้างเพดานโค้งบนดินสถาปนิกก็ต้องหาวิธีสร้าง “แรงต้าน” ที่ทำให้เพดานโค้งทรงอยู่ได้ซึ่งก็อาจจะได้แก่กำแพงที่หนาในกรณีที่เป็นเพดานโค้งทรงประทุน หรือค้ำยันซึ่งใช้ในสร้าง “แรงต้าน” ในกรณีที่เพดานโค้งมาตัดกัน

เพดานโค้งแบบที่ง่ายที่สุดเพดานโค้งประทุน หรือ “เพดานโค้งถังไม้” (barrel vault) หรือบางทีก็เรียก “เพดานโค้งอุโมงค์” ซึ่งเป็นเพดานทรงโค้งครึ่งวงกลม ความยาวของเส้นรอบครึ่งวงกลมของเพดานโค้งแบบนี้จะยาวกว่าเส้นผ่าศูนย์กลาง เมื่อสร้างช่างจะสร้างโครงค้ำยันโค้งชั่วคราวเพื่อเป็นแบบสำหรับวางหินรอบส่วนโค้งที่เรียกว่า “voussoir” ที่ยังรับน้ำหนักตัวเองไม่ได้จนกระทั่งวางจากหินก้อนสุดท้ายตรงกลางโค้งที่เรียกว่า “หินหลักยอดโค้ง” ถ้าเป็นบริเวณที่ไม้หาง่ายช่างก็จะใช้โครงไม้ครึ่งวงกลมสำหรับเป็นแบบวางหินรอบส่วนโค้ง เมื่อเสร็จก็ถอดโครงออกแล้วลากเอาไปสร้างเพดานโค้งช่วงต่อไป ในสมัยโบราณโดยเฉพาะที่ชาลเดีย (Chaldaea) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรบาบิโลเนีย และที่ อียิปต์ที่ไม้หายากสถาปนิกก็ต้องใช้วิธีอื่นช่วย ในสมัยโรมันโบราณสถาปนิกโรมันก็จะโครงสร้างนี้เป็นปกติ[ต้องการแหล่งอ้างอิง]



ชนิดของเพดานโค้ง
โดม (Dome) คือโครงสร้างที่เป็นทรงครึ่งวงกลมหรือใกล้เคืยง
เพดานโค้งประทุน (barrel vaults) คือโครงสร้างที่มีลักษณะเหมือนถังไม้ หรืออุโมงค์ที่ผ่าครึ่งทำให้มีลักษณะเป็นเพดานโค้งต่อเนื่อง
เพดานโค้งประทุนซ้อน (Groin vault หรือ double barrel vault หรือ cross vault) คือโครงสร้างที่เป็นเพดานโค้งสองอันตัดกัน เพดานส่วนที่ตัดกันบางครั้งก็จะโค้งแหลมแทนที่จะกลม
เพดานโค้งสัน (Rib vault) คือเพดานโค้งที่ทำให้แข็งแรงขึ้นด้วยสันซึ่งเป็นลักษณะเพดานโค้งที่นิยมกันในสถาปัตยกรรมแบบกอธิค
เพดานพัด (Fan vault) เป็นเพดานที่ใช้ในสถาปัตยกรรมแบบเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ (Perpendicular) ซึ่งเป็นสมัยหนึ่งของสถาปัตยกรรมกอธิคซึ่งสันของเพดานแยกออกไปเป็นแฉกคล้ายรูปพัด ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มีเฉพาะในอังกฤษ

แท่นเทศน์


แท่นเทศน์ (อังกฤษ: Pulpit) “Pulpit” มาจากภาษาละติน “Pulpitum” ที่แปลว่า “รั่งร้าน” หรือ “แท่น” หรือ “เวที” เป็นแท่นที่ยกสูงจากพื้นที่นักบวชใช้ในการเทศนาทั้งภายในหรือภายนอกคริสต์ศาสนสถาน

ในวัดคริสต์ศาสนาบางวัดจะมีที่ตั้งสำหรับปาฐกสองที่ ตามปกติแล้วผู้อยู่ทางซ้ายของผู้เข้าร่วมพิธีจะเป็น “แท่นเทศน์” เพราะการที่แท่นเทศน์มักใช้ในการอ่านจากพระวรสาร ด้านนี้ของวัดจึงเรียกว่าด้านพระวรสาร (gospel side) ทางด้านขวาจะมี “แท่นอ่าน” (lectern) ที่มาจากภาษาละติน “lectus” ที่แปลว่า “อ่าน” เพราะเป็นที่สำหรับการอ่านเป็นส่วนใหญ่ที่มักจะใช้โดยฆราวาสในการอ่านบทสอนจากคัมภีร์ (ยกเว้นบทสอนจากพระวรสาร) เป็นที่นำผู้เข้าร่วมพิธีในการสวดมนต์ หรือเป็นที่ใช้ประกาศ เพราะด้านนี้ของคริสต์ศาสนสถานเป็นด้านที่ใช้อ่านจดหมายคำสอน (epistle lesson) ด้านนี้บางครั้งจึงเรียกว่าด้าน “epistle”[1] ในบางวัดแท่นอ่านซึ่งเป็นที่อ่านจดหมายคำสอน (Epistle) ก็อยู่ทางขวาและแท่นเทศน์อยู่ทางซ้าย

โปรเตสแตนต์
ในวัดโปรเตสแตนต์แท่นเทศน์ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในวัด และจะตั้งตรงกลางหน้าผู้เข้าร่วมทำพิธีในวัดและยกสูง แท่นเทศน์ใช้เป็นที่ผู้สอนศาสนายืน แท่นอาจจะตกแต่งด้วยผ้าห้อยหน้าแท่น (Antependium) ที่เป็นผ้าที่ห้อยคลุมลงมาจากด้านหน้าของแท่น หรืออาจจะมีการตกแต่งด้วยดอกไม้

ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีการสร้างแท่นเทศน์สามชั้นที่มักสร้างกันในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ การสร้างเป็นสามชั้นก็เพื่อแสดงความสำคัญของการอ่านบทสอน ชั้นล่างสุดใช้ในการประกาศข่าวของชุมชน ชั้นกลางสำหรับอ่านพระวรสาร และชั้นสูงสุดสำหรับการเทศนา

ในวัดอีแวนเจลิคัลบางวัดแท่นเทศน์จะตั้งอยู่บนแท่นตรงกลาง และจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ที่สุดในวัดทั้งนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศคำสอนของพระเจ้า ในวัดอีแวนเจลิคัลในปัจจุบันแท่นเทศน์จะเล็กลงกว่าที่เคยมีมาถ้ามี และจะใช้หลังการร้องเพลงสวดและยังคงตั้งอยู่กลางวัด


แอมโบ

ในวัดที่มีที่สำหรับปาฐกที่เดียวที่ใช้เป็นทั้งแท่นเทศน์และแท่นอ่านจะเรียกว่า “แอมโบ” (ambo) ที่มาจากภาษากรีกที่แปลว่า “แท่น” ที่เดิมเป็นยกพื้นที่ยกสูงที่ตั้งอยู่กลางทางเดินกลางที่ใช้เป็นที่อ่านจดหมายคำสอนและพระวรสาร และบางครั้งก็จะใช้เป็นที่เทศนา

ปนาลี หรือ การ์กอยล์


ปนาลี หรือ การ์กอยล์ (ภาษาอังกฤษ: Gargoyle) ความหมายของปนาลีทางสถาปัตยกรรมหมายถึงหินที่แกะเป็นรูปอัปลักษณ์ (grotesque) ยื่นออกไปจากสิ่งก่อสร้างที่มีรางและช่องให้น้ำจากหลังคาไหลห่างจากตัวสิ่งก่อสร้าง

คำว่า “gargoyle” มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า “gargouille” ซึ่งแปลว่าคอหอย ซึ่งมาจากภาษาละติน “gurgulio, gula” หรือคำที่มีรากมาจาก “gar” ที่แปลว่า กลืน ซึ่งคล้ายเสียงน้ำไหลในท่อ (ตัวอย่าง: ภาษาสเปน “garganta” แปลว่าคอหอย จึงใช้คำว่า “garganta” สำหรับ “gargoyle”)

รูปอัปลักษณ์ที่มิได้ใช้เป็นรางน้ำแต่ใช้เป็นสิ่งตกแต่ง ตามภาษาสามัญก็ยังเรียกว่า ปนาลี ถึงแม้ว่าทางสถาปัตยกรรมจะแยกการใช้ระหว่างคำว่า “ปนาลี” และคำว่า “รูปอัปลักษณ์” ปนาลีจะเป็นคำที่ใช้สำหรับรูปอัปลักษณ์ที่ใช้เป็นรางน้ำ และ คำว่า“รูปอัปลักษณ์” จะหมายถึงรูปสลักที่มิได้ใช้เป็นรางน้ำ

ปนาลี จะเป็นรูปสลักตามมุมต่าง ๆ ของสถาปัตยกรรมในแบบกอธิคใน ยุโรป โดยมากจะสลักเป็นรูป มังกร หรือ ปีศาจ ในท่วงท่าต่าง ๆ โดยท่าที่รู้จักมากที่สุด คือ นั่งยอง ๆ ตามองไปทางข้างหน้า

ปนาลี เชื่อว่า เดิมเป็นมังกร ชาวยุโรปในยุคกลางเชื่อว่า การ์กอยล์เมื่อตอนกลางวันจะเป็นรูปสลัก ตกกลางคืนจะกลายร่างเป็นมังกรบินไปทั่วหมู่บ้านหรือเมืองที่อาศัย เพื่อปกป้องดูแลมิให้มีสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ เข้ามารังควาน

ปุ่มหิน


ปุ่มหิน หรือ ปุ่มไม้ (อังกฤษ: Boss) ทางสถาปัตยกรรมหมายถึงปุ่มที่ยื่นออกมาซึ่งอาจจะทำด้วยหินหรือไม้ก็ได้ ปุ่มหินมิใช่ หินหลัก (Keystone) เพราะปุ่มหินใช้เป็นเครื่องตกแต่งเท่านั้นแต่หินหลักเป็นหินที่ใช้ยึดโครงสร้างเข้าด้วยกัน

ตัวอย่างของปุ่มหินหรือปุ่มไม้ที่พบบ่อยคือบนเพดานสิ่งก่อสร้างโดยเฉพาะตรงที่สันเพดานโค้งตัดกัน ในสถาปัตยกรรมกอธิคปุ่มหินจะแกะสลักอย่างสวยงามเป็นใบไม้ ดอกไม้ ตราประจำตระกูล พระเยซู, พระเจ้าแผ่นดิน , นักบุญ, นางฟ้าเทวดา หรือรูปตกแต่งอื่นๆ ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นสัตว์ นก หรือหน้าคนบางครั้งอาจจะเป็นรูปอัปลักษณ์ที่เรียกว่า Green Man ที่จะพบเห็นบ่อยๆ ทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าการใช้ปุ่มหินหรือปุ่มไม้ระหว่างจุดที่สันเพดานมาตัดกันก็เพื่อซ่อนรอยตำหนิระหว่างรอยต่อ เท็จจริงเท่าใดไม่มีการยืนยัน แต่ปุ่มกลายมาเป็นสิ่งประดับตกแต่งไปโดยปริยาย

ปุ่มหินเป็นสิ่งสำคัญในการก่อสร้างในสมัยสถาปัตยกรรมคลาสสิค เมื่อตัดหินเป็นก้อนหยาบๆ ที่เหมืองหินช่างหินจะทิ้งปุ่มไว้อย่างน้อยด้านหนึ่งเพื่อจะได้สะดวกต่อการขนย้ายหินไปที่ที่ต้องการ เมื่อไปถึงปุ่มนี้ก็ยังช่วยให้การยกหินให้เข้าที่เข้าทางได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างที่เห็นชัดคือที่วัดเซเกสตาที่ซิซิลี ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ปุ่มเหล่านี้ยังเห็นได้ชัดโดยเฉพาะที่ฐานทำให้เราได้ศึกษาวิธีก่อสร้างของกรีก

ฉากแท่นบูชา



ฉากแท่นบูชา (ภาษาอังกฤษ: Altarpiece) คือภาพหรืองานแกะสลักนูนที่เป็นภาพที่เกี่ยวกับคริสต์ศาสนาที่แขวนหน้าแท่นบูชา ฉากแท่นบูชามักจะประกอบด้วยแผงสองหรือสามแผง ประกอบกันที่เรียกว่า “จิตรกรรมแผง” และมักจะเรียกว่า “บานพับภาพ” ซึ่งอาจจะเป็นสองหรือสามบานหรือมากกว่านั้น บางครั้งฉากแท่นบูชาอาจจะเป็นกลุ่มประติมากรรม บางครั้งฉากแท่นบูชาก็อาจจะตั้งบนแท่นบูชา

ถ้าแท่นบูชาเป็นแท่นลอยที่มองได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังก็จะมีฉากแท่นบูชาได้ทั้งสองด้าน นอกจากนั้นก็ยังอาจจะตกแต่งด้วยภาพเขียน, ฉากกางเขน หรือ ชั้นแท่นบูชา

งานกระจกสี





งานกระจกสี (อังกฤษ: Stained glass) คำว่า งานกระจกสี หมายถึงงานที่ใช้กระจกสีตกแต่งหรืองานการทำกระจกสี ซึ่งไม่แต่เฉพาะแต่หน้าต่างเท่านั้น ยังรวมถึงศิลปะอื่นๆ ที่ใช้กระจกสีตกแต่งด้วยเช่น บานกระจกที่ทำเพื่อการตกแต่งโดยเฉพาะ หรือโคมตะเกียงเป็นต้น ตลอดระยะพันปีการตกแต่งด้วยกระจกสีจะหมายถึงหน้าต่างประดับกระจกสีของวัด หรือ มหาวิหารทางคริสต์ศาสนา หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ การตกแต่งด้วยกระจกสีสมัยเดิมจะแต่งบนแผงแบนสำหรับใช้ทำหน้าต่าง แต่วิธีการตกแต่งด้วยกระจกสีสมัยปัจจุบันจะรวมไปถึงโครงสร้างกระจกสีแบบสามมิติและงานแกะสลักกระจกสีด้วย และจะรวมไปถึงบานกระจกสีสำหรับที่อยู่อาศัยที่เรียกกันว่า “leadlight” ด้วย หรืองานศิลปะที่ทำจากกระจกสีและเชื่อมต่อกันด้วยตะกั่วอย่างเช่น โคมกระจกสีที่มีชื่อเสียงที่ทำโดย หลุยส์ คอมฟอร์ท ทิฟฟานี (Louis Comfort Tiffany)

เมื่อพูดถึงวัสดุคำว่า “กระจกสี” โดยทั่วไปจะหมายถึงแก้วที่ทำให้เป็นสีโดยการเติม Metallic salts ระหว่างการผลิต ช่างจะใช้กระจกสีในการสร้าง “หน้าต่างประดับกระจกสี” โดยการเอากระจกสีชิ้นเล็กๆ มาจัดให้เป็นลวดลายหรือภาพภายในกรอบโดยเชื่อมชิ้นกระจกด้วยกันด้วยเส้นตะกั่ว เมื่อเสร็จแล้วก็อาจจะทาสีและย้อมสีเหลืองตกแต่งอีกเล็กน้อยเพื่อให้ลวดลายเด่นขึ้น นอกจากนั้นคำว่า “กระจกย้อมสี” (Stained glass) จะหมายถึงหน้าต่างกระจกที่วาดทาสีเสร็จแล้วเผาในเตาหลอมก่อนที่จะทิ้งไว้ให้เย็น

“งานกระจกสี” เป็นงานฝีมือที่ศิลปินต้องมีพรสวรรค์ทางศิลปะเพื่อที่จะออกแบบได้ และต้องมีความรู้ทางวิศวกรรมเพี่อที่สามารถประกอบบานกระจกที่ทำใว้ให้แน่นหนาภายในกรอบสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะกระจกบานใหญ่ๆ ที่จะต้องรับน้ำหนักของตัวบานกระจกเองและสามารถทนทานต่อสภาวะอากาศภายนอกได้ หน้าต่างบานใหญ่เหล่านี้ยังอยู่รอดมาให้เราชมบ้างตั้งแต่สมัยยุคกลางโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ในยุโรปตะวันตกหน้าต่างประดับกระจกสีเป็นจักษุศิลป์ชนิดเดียวที่เหลือมาตั้งแต่ยุคกลาง จุดประสงค์ของหน้าต่างประดับกระจกสีมิใช่ให้ผู้ดูมองออกไปดูโลกภายนอกหรือให้แสงส่องเข้ามาในสิ่งก่อสร้างแต่จะควบคุมผู้อยู่ภายใน จากเหตุผลนี้หน้าต่างประดับกระจกสีจึงอาจจะเรียกได่ว่าเป็น “การตกแต่งผนังส่องแสง” (“illuminated wall decorations”) มากกว่าจะเป็นหน้าต่างอย่างตามความหมายทั่วไปของหน้าต่างที่ใช้มองออกสู่ภายนอก

การออกแบบหน้าต่างวัดอาจจะเป็นได้ทั้งอุปมาอุปไมยหรือไม่ก็ได้ หน้าต่างอาจจะเป็นตำนานจากคัมภีร์ไบเบิล ประวัติศาสตร์ หรือ วรรณคดี หรือ ชีวิตของนักบุญ หรือผู้อุปการะวัด หรืออาจจะเป็นลวดลายสัญญลักษณ์ เช่นตราประจำตระกูล การตกแต่งภายในสิ่งก่อสร้างหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวในหัวข้อเดียวกันเช่นถ้าเป็นวัดก็อาจจะเป็นเรื่องราวชีวประวัติของพระเยซู หรือนักบุญ หรือผู้สร้างวัด ถ้าเป็นภายในวิทยาลัยกระจกอาจจะมีสัญลักษณ์สำหรับศิลปะหรือวิทยาศาสตร์ หรือภายในบ้านอาจจะเป็นลวดลายแบบใดแบบหนึ่งที่เจ้าของเลือก


การสร้างและการประกอบ

การทำสีกระจก
จากคริสต์ศตวรรษที่ 10 หรือ 11 เมื่อศิลปะการประดับกระจกสีเริ่มรุ่งเรืองก็เริ่มมีโรงงานผลิตกระจกขึ้นตามแหล่งที่มีทรายแก้ว (Silica) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำกระจก แก้วทำเป็นสีโดยการเติม metallic oxide ในขณะที่แก้วในเบ้าที่ทำด้วยดินเหนียวยังเหลวอยู่ แก้วสีที่ทำโดยวิธีนี้จึงเรียกว่า “แก้วเบ้าโลหะ” (pot metal) ถ้าจะให้แก้วออกสีเขียวก็เติมออกไซด์ทองแดง ให้ได้สีน้ำเงินก็เติมโคบอลต์ และให้ได้สีแดงก็เติมทอง ในปัจจุบันสีเขียวและน้ำเงินใช้วิธีทำคล้ายกัน สีแดงก็ทำจากส่วนผสมสมัยใหม่ ทองจะใช้ทำเฉพาะสีแดงออกไปทางชมภูกว่าสมัยโบราณ

การทำแก้วชนิดต่างๆ
“แก้วหลอด” (Cylinder glass) แก้วหลอดทำจากแก้วเหลวที่ทำเป็นลูกกลมๆ แล้วเป่าจนกระทั่งเป็นหลอดกลวงเหมือนขวด เรียบและหนาเท่ากัน พอได้ที่ก็ตัดออกจากท่อเป่า แผ่ออกไปให้แบน แล้วรอให้เย็นลงเพื่อความทนทาน แก้วชนิดนี้เป็นแก้วชนิดที่ใช้ประดับหน้าต่างกระจกสีที่เราเห็นกันทุกวันนี้

“แก้วมงกุฏ” (Crown glass) แก้วชนิดนี้จะเป่าเป็นทรงถ้วยแล้ววางบนโต๊ะหมุนที่สามารถหมุนได้เร็ว แรงเหวี่ยงของการหมุนทำให้แก้วแผ่ยืดออกไป จากนั้นก็เอาตัดเป็นแผ่นเล็กๆ ได้ แก้วชนิดนี้ใช้ในการประดับหน้าต่างกระจกสี แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้แต่งกรอบเล็กๆภายในหน้าต่างของที่อยู่อาศัยในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 ลักษณะของกระจกแบบนี้จะเป็นระลอกจากศูนย์กลาง เพราะตรงกลางกระจกจะได้แรงเหวี่ยงน้อยที่สุดทำให้หนากว่าส่วนอื่น ชิ้นกลางนี้จะใช้สำหรับสเปชเชียลเอฟเฟกต์เพราะความขรุขระของพื้นผิวทำให้สะท้อนแสงได้มากกว่าชิ้นอื่น กระจกชิ้นนี้เรียกว่า “กระจกตาวัว” [1] (bull's eye) มักจะใช้กันสำหรับที่อยู่อาศัยในศตวรรษที่ 19 และบางครั้งก็จะใช้ในวัดด้วย

“แก้วโต๊ะ” (Table glass) ผลิตโดยการเทแก้วเหลวลงบนโต๊ะโลหะแล้วกลึงด้วยท่อนโลหะที่เป็นลวดลาย ลายจากท่อนโลหะก็จะฝังบนผิวกระจก แก้วแบบนี้จึงมีแบบมีผิว ( texture) หนักเพราะการที่แก้วมีปฏิกิริยาต่อโลหะเย็น แก้วชนิดนี้เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบันภายในสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างทางศาสนาในชื่อที่เรียกกันว่า “cathedral glass” ถึงแม้จะไม่ใช่แก้วที่ใช้ในการสร้างมหาวิหารในสมัยโบราณแต่มาใช้กันมากในการสร้างวัดในศตวรรษที่ 20

“แก้วเคลือบ” (Flashed glass) แก้วสีแดงที่ทำจากเบ้าโลหะที่กล่าวข้างต้นสีแดงมักจะออกมาไม่ได้อย่างที่ต้องการจะออกไปทางดำ และราคาการผลิตก็สูงมาก วิธีใหม่ที่ใช้ทำสีแดงเรียกว่า “flashing” ทำโดยเอา “แก้วหลอด” ใสที่ไม่มีสีที่กึ่งเหลวจุ่มลงไปใหนเบ้าแก้วแดงแล้วยกขึ้น แก้วแดงก็จะเกาะบนผิวแก้วใสที่ไม่มีสีบางๆ พอเสร็จก็ตัดออกจากที่เป่า แล้วแผ่ให้แบนและปล่อยไว้ให้เย็น

วิธีการเคลือบนี้มีประโยชน์หลายอย่างเพราะทำให้สามารถทำสีแดงได้หลายโทนตั้งแต่แดงคล้ำจนเกือบใส แต่ส่วนใหญ่จะใช้สีแดงทับทิมจนถึงสีแดงจางหรือแดงเป็นริ้วในการทำขอบบางๆ ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือเมื่อแก้วสีแดงเป็นสองชั้นก็สามารถสกัดผิวสีแดงออกเพื่อให้แสงส่องผ่านส่วนที่ใสที่อยู่ภายใต้ได้ เมื่อปลายสมัยปลายยุคกลางวิธีนี้ใช้ในการตกแต่งลวดลายที่วิจิตรของเสื้อคลุมของนักบุญ ประโยชน์อย่างที่สามซึ่งใช้กันมากในบรรดาศิลปินเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 โดยแผ่นกระจกจะสะท้อนออกมาเป็นสีที่ไม่เสมอกันจึงเหมาะแก่การการตกแต่งเสื้อคลุมหรือม่าน

การผลิตกระจกสีในสมัยปัจจุบัน
ปัจจุบันยังมีโรงงานที่ผลิตกระจกสีโดยเฉพาะที่ ประเทศเยอรมนี, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ประเทศฝรั่งเศส และ ประเทศโปแลนด์ ที่ยังผลิตกระจกสีลักษณะแบบดั้งเดิมโดยใช้วิธีการทำแบบสมัยโบราณ กระจกสีที่ผลิตโดยวิธีนี้ส่วนใหญ่จะใช้ในงานปฏิสังขรณ์หน้าต่างกระจกสีที่สร้างก่อนปีค.ศ. 1920 หน้าต่างกระจกสีสมัยใหม่ และงานหัตถกรรม หลังจากนั้นมักจะใช้แก้วหลายแบบโดยเฉพาะสมัยวิคตอเรีย


ขั้นตอนในการทำหน้าต่างประดับกระจกสี

ขั้นแรกผู้สร้างจะต้องมีแม่แบบหน้าต่างที่ออกแบบโดยสถาปนิก แม่แบบจะต้องพอเหมาะพอดีกับหน้าต่างที่เมื่อประกอบกระจกเสร็จจะกลับไปประกอบบนตัวหน้าต่างได้สนิท
หัวเรื่องที่จะทำก็ต้องให้เหมาะกับที่ตั้งหรือตำแหน่งของหน้าต่างภายในสิ่งก่อสร้าง เช่นหน้าต่างทางด้านตะวันตกจะเป็นหน้าต่างที่สำคัญที่สุดเพราะอยู่หน้าวัด หรือหน้าต่างอาจจะเพิ่มความสำคัญจากด้านตะวันตกไปตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งแท่นบูชาเอกเป็นต้น หรือความสัมพันธ์กับหน้าต่างอื่นๆ ภายในสถานที่ก่อสร้างเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นทางเนื้อหาหรือรูปทรง ช่างจะวาดแบบคร่าวๆ ที่เรียกว่า “Vidimus” ให้ผู้ประสงค์จะสร้างดูเป็นตัวอย่างก่อนที่จะลงมือทำจริงๆ
แต่เดิมหน้าต่างที่เป็นเรื่องราวเป็นราวจะแบ่งเป็นบานหรือแผ่นเล็กๆ ที่เป็นเรื่องราวต่อเนื่องกัน หน้าต่างที่เป็นรูปคนก็จะเป็นรูปนักบุญหรือคนสำคัญยืนเป็นแถวมีสัญลักษณ์ประจำตัวประกอบเช่นกระจกรูปนักบุญแม็ทธิวอีแวนเจลลิสก็จะมีรูปเทวดาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนักบุญแม็ทธิวอยู่ข้างๆ บางครั้งบานกระจกก็จะมีคำบรรยายใต้ภาพ หรือชื่อขององค์การหรือผู้ที่อุทิศให้ หรือชื่อของผู้อุทิศทรัพย์ให้สร้าง ในการทำหน้าต่างแบบโบราณ การตกแต่งเนื้อที่นอกจากบริเวณที่กล่าวแล้ว เช่นกรอบรอบเรื่องราวหรือหุ่น หรือซุ้มเหนือหุ่น หรือรายละเอียดอื่นๆ ก็จะขึ้นอยู่กับศิลปิน
จากนั้นช่างก็จะร่างภาพขนาดเท่าของจริงของทุกส่วนของหน้าต่าง ความซับซ้อนของภาพร่างก็จะขึ้นอยู่กับลวดลายของหน้าต่าง ถ้าเป็นหน้าต่างวัดเล็กๆ หน้าต่างหนึ่งก็อาจจะมีเพียงสองสามช่องแต่ถ้าเป็นหน้าต่างมหาวิหารก็อาจจะมีถึงเจ็ดช่องและซ้อนกันสามชั้นหรือมากกว่า และลวดลายหน้าต่างก็จะมีมากกว่าวัดเล็ก ในสมัยยุคกลางภาพร่างนี้จะวาดโดยตรงลงบนโต๊ะที่ฉาบปูนบางๆเอาไว้ ซึ่งใช้ในการตัด ทาสี และประกอบ
เวลาออกแบบช่างออกแบบต้องคำนึงถึงโครงสร้างของหน้าต่าง ลักษณะและขนาดของกระจก และวิธีทำของตนเอง ภาพร่างแบ่งเป็นส่วนๆสำหรับกระจกแต่ละชิ้น ช่างออกแบบจะวางตำแหน่งชิ้นตะกั่วที่ใช้เชื่อมแก้วแต่ละชิ้นเข้าด้วยกันเพื่อให้ผลออกมาดีที่สุด
ตัดแก้วตามขนาดที่บ่งไว้ในร่าง ช่างก็จะเลือกสีที่ต้องการ การตัดให้ได้ขนาดที่ต้องการหรือใกล้เคียงแล้วเจียรขอบทีละนิดด้วยเครื่องมือจนได้ขนาดที่ต้องการ
รายละเอียดหน้า ผม และมือจะใช้วิธีวาดและทาสีใต้ผิวกระจกโดยใช้สีที่มีส่วนผสมพิเศษเช่นผงตะกั่วหรือผงทองแดง ผงแก้วละเอียด gum arabic กับส่วนผสมอื่นที่อาจจะเป็น เหล้าองุ่น น้ำส้มสายชู หรือปัสสาวะ ศิลปะการวาดและทาสีเพิ่มความสลับซับซ้อนขึ้นมากเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
เมื่อได้ชิ้นกระจกตามขนาดที่ต้องการและส่วนที่ต้องวาดแล้วก็ถึงเวลาประกอบเข้าด้วยกันโดยใส่ลงในช่องระหว่างชิ้นตะกั่วรูป “H” แล้วจึงเชื่อมเข้าด้วยกัน จากนั้นก็อัดด้วยซีเมนต์ที่นิ่มเป็นน้ำมัน หรือ “กาว” ระหว่างตะกั่วกับชิ้นแก้วเพื่อให้ยึดชิ้นแก้วให้แน่นไม่ให้เคลื่อนไหวได้
เมื่อประดับแต่ละส่วนเสร็จก็นำเข้ากรอบ ตามปกติแล้วเวลาประกอบหน้าต่างในกรอบ ช่างก็จะใส่ท่อนเหล็กเป็นระยะๆ แล้วผูกบานกระจกกับท่อนเหล็กที่วางไว้ด้วยลวดทองแดง เพื่อจะรับน้ำหนักหน้าต่างได้ หน้าต่างแบบกอธิคจะแบ่งเป็นช่องๆ ด้วยกรอบโลหะที่เรียกว่า “ferramenta” วิธีเดียวกันนี้นำมาใช้ในการประกอบหน้าต่างประดับกระจกสีขนาดใหญ่ในสมัยบาโรกด้วย
ตั้งแต่ปี ค. ศ. 1300 เป็นต้นมาก็เริ่มมีการใช้การย้อมสีเงิน (silver stain) ซึ่งทำจาก ซิลเวอร์ไนเตรท ทำให้ได้ตั้งแต่สีเหลืองมะนาวอ่อนไปจนถึงสีส้มแก่ การย้อมก็ทำโดยการทาบนผิวกระจกและเผาเพื่อให้ติดเนื้อกระจกและไม่ให้หลุด สีเหลืองนี้มีประโยชน์ในการทำขอบรูป ซุ้มในรูปหรือรัศมีหรือเปลี่ยนกระจกสีน้ำเงินให้เป็นเขียวเพื่อใช้ในการทำส่วนที่เป็นสนามหญ้าในรูป
ประมาณปี ค. ศ. 1450 ก็มีเริ่มมีการเย้อมแบบที่เรียกว่า “Cousin's rose” ซึ่งทำให้สีผิวหนังสดขึ้น
ราวปี ค. ศ. 1500 มีการย้อมแบบใหม่หลายวิธี ส่วนใหญ่ใช้ผงแก้วสีป่นเป็น enamel ตอนแรกวิธีนี้จะใช้ในการทำตราประจำตระกูลหรือตราประจำตัว หรือรายละเอียดเล็กๆ แต่พอมาถึงราวปี ค. ศ. 1600 การตัดกระจกเป็นชิ้นๆ ก็วิวัฒนาการขึ้นมาก แทนที่จะตัดกระจกเป็นชิ้นเล็กๆ ช่างก็จะวาดรูปลงบนแผ่นกระจกคล้ายแผ่นกระเบื้องแล้วเผาให้สีติดกระจกแล้วจึงเอาไปประกอบในกรอบโลหะ
การทำหน้าต่างประดับกระจกสีสมัยใหม่จะใช้ทองแดงแทนตะกั่ว

ประวัติงานกระจกสี

งานกระจกสีก่อนยุคกลาง

การทำกระจกสีทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณทั้งที่ ประเทศอียิปต์ และ โรมันซึ่งผลิตสิ่งของทำด้วยแก้วที่ชิ้นไม่ใหญ่นัก บริติชมิวเซียม มีกระจกสำคัญจากสมัยโรมันสองชิ้นๆ หนึ่งเรียกว่าถ้วย “Lycurgus” ซึ่งเป็นสีเหลืองมัสตาร์ดขุ่นๆ แต่จะออกสีม่วงแดงเมื่อถูกแสง และ แจกันพอร์ตแลนด์ (Portland vase) ซึ่งเป็นสีน้ำเงินดำและมีสลักขาวบนผิวแก้ว

ในวัดคริสต์ศาสนาสมัยแรกๆ จากคริสต์ศตวรรษที่ 4 และ 5 มีหน้าต่างที่ใช้ตกแต่งด้วยแผ่นหินปูนอาลาบาสเตอร์ (alabaster) บางๆบนกรอบไม้ ลักษณะจะคล้ายกระจกที่มีแบบหน้าต่างประดับกระจกสี แต่ที่คล้ายคลึงกับการทำหน้าต่างประดับกระจกสีมากกว่าคือหน้าต่างที่ทำจากหินและใช้แก้วสีของศิลปะอิสลาม จาก เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 นักเคมีชาวอาหรับชื่อ Jabir ibn Hayyan หรือ เจเบอร์ (Geber) บรรยายสูตรการทำกระจกสีไว้ 46 สูตรในหนังสือชื่อ “หนังสือเกี่ยวกับมุกมีค่า” (“Kitab al-Durra al-Maknuna” หรือ “The Book of the Hidden Pearl”) หนังสือฉบับต่อมาเพิ่มอีก 12 สูตรโดย al-Marrakishi จาเบียร์บรรยายถึงวิธีผลิตกระจกสีคุณภาพดีพอที่จะตัดเป็นอัญมณีได้[1]


งานกระจกสียุคกลาง

งานกระจกสีกลายมาเป็นศิลปะเต็มตัวและรุ่งเรืองที่สุดในยุคกลางเมื่อมาใช้เป็นทัศนศิลป์เพื่อเล่าเรื่องจากพระคัมภีร์ไบเบิลสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ที่อ่านหนังสือไม่ออก

ตั้งแต่ประมาณ 950 ก่อนคริสต์ศตวรรษ จนถึงสมัยโรมาเนสก์และสมัยกอธิคยุคแรก ประมาณปี ค. ศ. 1240 หน้าต่างยังมิได้แบ่งเป็นช่องๆ เมื่อสร้างกระจกก็ต้องสร้างทั้งบานในกรอบเหล็กจึงทำให้ต้องประกอบไม่มีส่วนใดของหน้าต่างที่ช่วยแบ่งแรงกดดัน เช่นที่มหาวิหารชาร์ทร (Chartres Cathedral) หรือทางตะวันออกของมหาวิหารแคนเตอร์บรี เมื่อสถาปัตยกรรมกอธิควิวัฒนาการขึ้นหน้าต่างก็กว้างมาขึ้นทำให้มีแสงส่องเข้ามาในสิ่งก่อสร้างมากขึ้น เมื่อหน้าต่างกว้างขึ้นก็มีการแบ่งเป็นช่องๆ ด้วยแกนหิน[2] (Stone tracery) เมื่อมีแกนหินแบ่งทำให้ช่องตกแต่งภายในหน้าต่างหนึ่งๆ เล็กลงทำให้การทำหน้าต่างมีความซับซ้อนได้มากขึ้นตามลำดับ และขนาดของบานหน้าต่างทั้งบานก็ใหญ่ขึ้นไปอีกจนมาเจริญเต็มที่ในสมัยที่เรียกว่ากอธิควิจิตร (Flamboyant gothic) ซึ่งมีอิทธิพลมาจากสมัยกอธิคเพอร์เพนดิคิวลาร์ (Perpendicular) ของอังกฤษ ที่เน้นเส้นดิ่ง ซึ่งจะเห็นได้จากงานหน้าต่างกระจกรอบมหาวิหารกลอสเตอร์

เมื่อการใช้ความสูงในสมัยกอธิคทำได้ดีขึ้นในวัดและมหาวิหารก็มีการพยายามทำให้ดีกว่าเดิม จากหน้าต่างสี่เหลี่ยมมียอดโค้งแหลมมาเป็นหน้าต่างกลมที่เรียกว่า “หน้าต่างกุหลาบ” (rose window) ซึ่งเริ่มทำกันที่ประเทศฝรั่งเศส จากทรงง่ายๆ ที่เจาะผนังหินบางๆ มาจนเป็นหน้าต่างล้อที่มีแกนซึ่งจะเห็นได้จากหน้าต่างกุหลาบที่มหาวิหารชาร์ทร และที่เพิ่มความสลับซับซ้อนขึ้นอีกมากที่แซนท์ชาเปล (Sainte-Chapelle) ที่ปารีส หรือหน้าต่าง “ตาบาทหลวง” (Bishop's Eye) ที่มหาวิหารลิงคอล์น


การทำลายและการสร้างใหม่
ระหว่าง การปฏิรูปศาสนาที่ประเทศอังกฤษในระหว่างที่มีการการยุบอารามภายใต้การนำของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 และในสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6พระราชโอรส เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 หน้าต่างประดับกระจกสีถูกทุบทำลายไปมากและสร้างแทนที่ด้วยกระจกใสเกลี้ยงธรรมดา และต่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษ ที่นำโดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) ครอมเวลล์ต่อต้านลัทธิประติมานิยมหรือศิลปะนิยม (การใช้รูปปั้นหรือเครื่องตกแต่งเป็นสิ่งสักการะ) และสนับสนุนลัทธิการเข้าถึงศาสตาโดยจิตนิยมแทนที่ ผู้เชื่อถือในปรัชญานี้จึงทำลายรูปสัญลักษณ์และสิ่งของอื่นๆที่ถือว่าไม่ควรจะมีอยู่ในวัดรวมทั้งหน้าต่างกระจกไปเป็นอันมาก ที่เหลืออยู่ที่ฝีมือดีๆ ก็ไม่มากเช่นที่ “เฮ็นเกรฟ ฮอล” (Hengrave Hall) ที่ซัพโฟล์ค (Suffolk) การทำลายครั้งหลังนี้ทำให้ศิลปะการตกแต่งด้วยกระจกสีเสื่อมลงจนกระทั่งมาฟื้นฟูกันใหม่เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19

แต่ในขณะเดียวกันในผืนแผ่นดินใหญ่ยุโรปถึงแม้ว่านิกายโปรเตสแตนต์จะเริ่มเป็นที่นิยมและมีการทำลายศิลปะทางศาสนาเช่นเดียวกับอังกฤษ แต่การตกแต่งกระจกสียังคงทำกันอยู่ในลักษณะแบบคลาสสิค ซึ่งจะเห็นได้จากงานที่ ประเทศเยอรมนี, ประเทศเบลเยียม และ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในสมัยนี้การผลิตกระจกสีที่ประเทศฝรั่งเศสทำมาจากโรงงานที่เมืองลิโมจก์ (Limoges) และ เมืองมูราโน (Murano) ที่ประเทศอิตาลี แต่ในที่สุดการตกแต่งกระจกสีก็มาสิ้นสุดลงเอาระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสทั้งจากการบ่อนทำลายและการละเลย

ยุคศิลปะฟื้นฟู

การหันมาสนใจในนิกายโรมันคาทอลิกในประเทศอังกฤษมาริเริ่มอีกครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งความสนใจส่วนใหญ่จะเป็นความสนใจในวัดแบบยุคกลางโดยเฉพาะวัดแบบกอธิค จึงทำให้มีการสิ่งก่อสร้างที่เลียนแบบที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค ซึ่งจอห์น รัสคิน ประกาศว่าเป็น “ลักษณะโรมันคาทอลิกแท้” ขบวนการสร้างสถาปัตยกรรมลักษณะนี้นำโดยสถาปนิกออกัสตัส พิวจิน (Augustus Pugin) ซึ่งก็ได้มีการสร้างวัดใหม่ขึ้นมากในเมืองใหญ่อันเป็นผลจากการขยายตัวของประชากรอันเป็นสาเหตุมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม และการซ่อมแซมวัดเก่าๆ ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม จึงทำให้มีการหันมาสนใจศิลปะการตกแต่งประดับกระจกสีกันขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็มีการก่อตั้งบริษัทสำคัญๆที่มีชื่อในการทำศิลปะกระจกสีเช่น

บริษัทฮาร์ดแมนแห่งเบอร์มิงแฮม
การทำกระจกสีมีเป็นวิธีการที่ซับซ้อนฉะนั้นจึงเหมาะแก่การทำในระดับการผลิตจึงจะคุ้มทุน บริษัทเช่นฮาร์ดแมน (Hardman & Co.) ที่ เบอร์มิงแฮม และ บริษัทเคลตันและเบล (Clayton and Bell) ที่ ลอนดอน ซึ่งจ้างช่างผู้ชำนาญในงานกระจกสีโดยเฉพาะ งานระยะต้นของฮาร์ดแมนออกแบบโดย ออกัสตัส พิวจิน ใช้ติดตั้งในสิ่งก่อสร้างที่พิวจินสร้าง แต่เมื่อพิวจินเสียชีวิตเมื่อปี ค. ศ. 1852 จอห์น ฮาร์ดแมน พาวเวลผู้เป็นหลานก็ทำกิจการต่อ งานของพาวเวลเป็นที่สนใจของ Cambridge Camden Society ซึ่งเป็นขบวนการที่มีจุดประสงค์ในการศึกษาสถาปัตยกรรมแบบกอธิคและสิ่งของโบราณที่มีค่าทางศาสนา นอกจากนั้นพาวเวลยังมีหัวทางการค้าจึงได้นำผลงานไปแสดงที่ “งานมหกรรมที่ฟิลาเดลเฟีย ค. ศ. 1873” หลังจากออกงานที่ฟิลาเดลเฟียพาวเวลก็ได้รับงานหลายชิ้นในสหรัฐอเมริกา

วิลเลียม มอริส นักออกแบบกระจกสีในกลุ่ม Pre-Raphaelites ที่มีชื่อเสียงที่สุดเห็นจะเป็น วิลเลียม มอร์ริส และ เอ็ดเวิร์ด เบิร์น โจนส์ (Edward Burne-Jones) ขณะที่โจนส์มีชื่อเสียงเป็นจิตรกร สติวดิโอของวิลเลียม มอริสมีชื่อในการออกแบบหน้าต่างสำหรับสิ่งก่อสร้างและการตกแต่งภายในรวมทั้งภาพเขียน เฟอร์นิเจอร์ และผ้าตกแต่งภายใน ส่วนหนึ่งของธุรกิจของมอริสคือการตั้งโรงงานผลิตกระจกสีสำหรับงานของตนเองและงานที่เอ็ดเวิร์ด เบิร์น โจนส์ออกแบบ

เคลตันและเบล เคลตันและเบล (Clayton and Bell) เป็นผู้ผลิตกระจกสีรายใหญ่ ว่ากันว่าวัดในอังกฤษเกือบทุกวัดมีกระจกจากเคลตันและเบลหรือบางวัดจะเป็นของเคลตันและเบลทั้งวัดด้วยซ้ำ ในบรรดาช่างออกแบบของเคลตันและเบล ชาร์ล อีเมอร์ เค็มพ์ เป็นช่างที่มีชื่อเสียงที่สุดที่แยกตัวไปมีโรงงานของตนเองเมื่อปีค. ศ. 1869 งานออกแบบของเค็มพ์จะมีลักษณะเบากว่างานของเคลตันและเบล เค็มพ์เป็นผู้ออกแบบชาเปลของวิทยาลัยเซลวิน (Selwyn College) ที่เคมบริดจ์ (Cambridge) และออกแบบหน้าต่างด้วยกันทั้งหมด 3,000 บาน วอลเตอร์ ทาวเวอร์ผู้เป็นหลานของเค็มพ์ดำเนินกิจการต่อ และเติมหอที่รวงข้าวสาลีที่เป็นสัญญลักษณ์ของเค็มพ์และดำเนินกิจการต่อมาจนค. ศ. 1934
วอร์ดและฮิวส์ และ วิลเลียม เวลส์ อีกบริษัทหนึ่งที่สำคัญคือวอร์ดและฮิวส์ (Ward and Hughes) แม้จะเริ่มด้วยลักษณะกอธิคแต่เมื่อมาถึงราวค.ศ. 1870 ก็เริ่มเปลี่ยนโดยได้รับอิทธิพลจากลัทธิสุนทรียนิยม ( Aestheticism) บริษัทนี้ทำกิจการอยู่จนถึงปลายปี ค.ศ. 1920 และอีกคนหนึ่งวิลเลียม เวลส์ (William Wailes) ผู้สร้างหน้าต่างทางตะวันตกของมหาวิหารกลอสเตอร์ วิลเลียม เวลส์เองเป็นนักธุรกิจไม่ใช่นักออกแบบแต่จะใช้ช่างออกแบบเช่นโจเซฟ เบกลีย์ (Joseph Baguley) ผู้ที่ต่อมาออกมาตั้งบริษัทของตนเอง

ทิฟฟานีและลาฟารจ ช่างกระจกชาวอเมริกันสองคน จอห์น ลาฟารจ (John La Farge) ผู้ประดิษฐ์ “แก้วรุ้ง” (Opalescent glass) ซึ่งเป็นแก้วที่หลายสีซึ่งเกิดจากผสมระหว่างการผลิต ลาฟารจได้รับลิขสิทธิ์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1880 และหลุยส์ คอมฟอร์ท ทิฟฟานี ผู้ได้รับบลิขสิทธิ์หลายใบจากการใช้ “แก้วรุ้ง” หลายๆ วิธี เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน และเชื่อกันว่าเป็นผู้เริ่มใช้ทองแดงแทนตะกั่วในการเชื่อมชิ้นกระจกสี ที่ทิฟฟานีใช้ในการทำหน้าต่าง ตะเกียง และสิ่งตกแต่งอื่นๆ

คริสต์ศตวรรษที่ 20
บริษัทที่ก่อตั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็มาล้มละลายไปมากเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพราะความนิยมในศิลปะแบบกอธิคเสื่อมลง แต่ความนิยมการทำหน้าต่างประดับกระจกสีมารุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2เนื่องจากต้องมีการซ่อมแซมหน้าต่างกระจกอย่างมากมายที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม ช่างชาวเยอรมันเป็นผู้นำในการฟื้นฟูครั้งหลังนี้ ศิลปินคนสำคัญๆ ก็ได้แก่เออร์วิน บอสซันยี (Ervin Bossanyi) ลุดวิก ชาฟฟราธ (Ludwig Schaffrath) โยฮันส์ ชไรทเตอร์ (Johannes Shreiter) ดักกลาส ชตราคัน (Douglas Strachan) จูดิธ เช็คเตอร์ (Judith Schaechter) และคนอื่นๆ ที่แปลงศิลปะโบราณให้มาเป็นศิลปะร่วมสมัย ฉนั้นแม้ว่างานส่วนใหญ่ที่สร้างกันในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จะไม่มีลักษณะที่พิเศษและเป็นผลงานจากการผลิตทางอุตสาหกรรมไม่ใช่งานสร้างสรรค์โดยศิลปิน แต่ก็ยังมีผลงานบางชิ้นที่มีคุณค่าควรแก่การพิจารณาเช่นงานหน้าต่างด้านตะวันตกของมหาวิหารแมนเชสเตอร์ที่อังกฤษโดยโทนี ฮอลลาเวย์ (Hollaway) ซึ่งเป็นงานที่มีฝีมือดีที่สุดชิ้นหนึ่ง

ในประเทศฝรั่งเศสก็มีศิลปินสำคัญๆ เช่น ฌอง เรเน บาเซน (Jean René Bazaine) ที่วัดซังเซเวแรง (Saint-Séverin) และเกเบรียล ลัวร์ (Gabriel Loire) ที่ชาร์ทรส์ (Chartres) แก้ว “Gemmail” ซึ่งเริ่มประดิษฐ์โดยฌอง เป็นการวางแก้วสีเหลื่อมกันเพื่อให้ได้สีที่นุ่มนวลขึ้น

ฉากกางเขน


ฉากกางเขน (ภาษาอังกฤษ: Rood screen หรือ Choir screen หรือ Chancel screen) คือฉากที่แยกระหว่างบริเวณสำหรับผู้เข้าร่วมในคริสต์ศาสนพิธีหรือทางเดินกลางและบริเวณสำหรับสงฆ์หรือบริเวณที่พระใช้ทำพิธีที่แกะตกแต่งอย่างสวยงามที่นิยมสร้างกันในยุคกลาง วัสดุที่สร้างอาจจะเป็นไม้หรือหินแกะสลักหรือฉลุทาสีหรือเหล็กดัด ฉากกางเขน ปรากฏทั่วไปในวัดทางยุโรป ภาษาเยอรมันใช้คำว่า “Lettner”, ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า “jubé”, ภาษาดัทช์ใช้คำว่า “doksaal” ฉากกางเขนทางตะวันออกจะตกแต่งหรูหรากว่าทางตะวันตก

ที่มาของคำว่าฉากกางเขน

คำว่า “ฉากกางเขน” มาจากภาษาแองโกล-แซ็กซอนว่า “rode” ซึ่งแปลว่า “กางเขน” ที่เรียกว่าฉากกางเขนเพราะแต่เดิมบนฉากจะเป็นที่ตั้งพระเยซูบนกางเขน สองข้างมักจะเป็นนักบุญ เช่นพระแม่มารี และ นักบุญจอห์นอีแวนเจลลิส บนฉากบางครั้งก็จะมีทางเดินแคบๆ หรือบางครั้งก็กว้างพอที่จะเป็นที่ยืนร้องเพลงสวดได้ ทางขึ้นมักจะแอบอยู่ด้านข้าง

การสร้างฉากมักจะเป็นลายฉลุที่สามารถมองทะลุจากทางเดินกลางเข้าไปภายในบริเวณสงฆ์ หรือ “chancel” ได้ คำว่า “chancel” มาจากภาษาละติน “cancelli” ซึ่งแปลว่า “ฉลุ”


ตัวอย่างงานฉากกางเขนในอังกฤษ
งานฉากกางเขนในอังกฤษพบในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ที่สแตนตันฮาร์คอร์ท ที่อ็อกฟอร์ดเชอร์ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ทำในคริสต์ศตวรรษที่ 15 เช่นที่ทรัลในแคว้นซอมเมอร์เซ็ท และอาลท์เทิลเบรอที่นอร์โฟล์ค งานฉากกางเขนไม้ที่พบในบริเวณอีสต์อังเกลียทางตะวันออกของอังกฤษยังรักษาการตกแต่งตั้งแต่เมื่อแรกสร้างซึ่งทาสีและปิดทองอย่างงานฝีมือ เช่นที่พบของตระกูลการทำของช่างแรนเวิร์ธที่ เซาธ์โวลด์และไบลท์เบิร์ก และที่แรนเวิร์ธเอง งานที่บาร์ตันเทิร์ฟ เป็นงานที่แสดงให้เห็นฐานันดรของระบบสวรรค์โดยแสดงลำดับเทวดาเก้าชั้น นิโคลัส เพฟเนอร์นักวิจารณ์สถาปัตยกรรมทางคริสต์ศาสนาคนสำคัญของอังกฤษ กล่าวถึงฉากสำคัญจากคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่ บริดฟอร์ดที่แคว้นเดวอน


ความสำคัญของสัญลักษณ์ที่ใช้
ฉากกางเขนเป็นสิ่งขวางทั้งทางวัตถุและทางสัญลักษณ์ที่แยกระหว่างบริเวณที่ถือว่าเป็นบริเวณที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระกับบริเวณของฆราวาสที่เข้ามาร่วมในพิธี นอกจากนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่สามารถมองทะลุเข้าไปได้แต่ไม่ทั้งหมด ส่วนล่างระดับเอวจะทึบเหนือส่วนนั้นจึงฉลุ และตกแต่งด้วยนักบุญ, นางฟ้าเทวดาและลวดลายต่างๆ การอนุญาตให้เห็นได้บ้างบางส่วนไม่ทั้งหมดเป็นส่วนสำคัญของพิธีมิสซาและของการใช้สัญลักษณ์ในยุคกลาง เมื่อผู้เข้าร่วมพิธีคุกเข่าก็จะสามารถเห็นส่วนบนของพระจากลายฉลุส่วนบนเมื่อ พระยกเหล้าและไวน์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีศีลมหาสนิทขึ้น วัดบางวัดจะสร้างช่องคล้ายหน้าต่างสองข้างฉากที่เรียกว่า “squint hole” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมพิธีเห็นพิธีการแปรขนมปังเป็นพระวรกายของพระเยซู (Transubstantiation) ได้ชัดขึ้น

ฉากกางเขนเป็นส่วนสำคัญของการทำพิธีทางศาสนาโดยเฉพาะช่วง “อาทิตย์ศักดิ์สิทธิ์” (Holy Week) ระหว่าง อีสเตอร์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่มีการทำพิธีสำคัญๆ หลายพิธี ระหว่างเข้าพรรษาฉากก็จะถูกคลุมด้วยผ้าและมาเปิดอีกครั้งในวัน “วันอาทิตย์ใบปาล์ม” ต่อหน้าขบวนผู้ถือใบปาล์มที่เข้ามาร่วมในพิธี และจะมีการอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับทุกขกิริยาของพระเยซู (Passion) จากระเบียงฉากกางเขนภายใต้กางเขนโดยพระสามองค์


การทำลายและการปฏิสังขรณ์
ระหว่างการการปฏิรูปศาสนา ฉากกางเขนเป็นส่วนหนึ่งของสึ่งที่ถือว่เป็นการใช้รูปสัญลักษณ์ในทางที่ผิด จึงเป็นเป้าหมายที่ถูกรี้อทิ่งไปมากตามพระราชกฤษฏีกาที่ออกเมื่อปี ค.ศ. 1547 โดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 และมาปฏิสังขรในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 และถูกทำลายอึกครั้งในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ฉะนั้นงานฉากกางเขนของอังกฤษจึงเป็นสิ่งที่หาดูได้ยาก

เก้าอี้อิง


เก้าอี้อิง (อังกฤษ: Misericord) หรือ เก้าอี้กรุณา (Mercy seat) เป็นสิ่งที่กล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิล เป็นคันไม้สั้นๆ ที่ยื่นออกมาจากม้านั่งที่พับได้ที่ตั้งอยู่ในบริเวณสวดมนต์หรือร้องเพลงสวดภายในวัดคริสต์ศาสนาเพื่อใช้ยืนอิงเพื่อผ่อนคลายความเมื่อยระหว่างที่ต้องยืนสวดมนต์นานๆ


ประวัติ

ในสมัยกลางนักบวชต้องยืนสวดมนต์วันละหลายครั้งและครั้งละนานๆ และอาจจะนานถึงวันละ 7-8 ชั่วโมง ผู้สูงอายุหรือเจ็บป่วยก็จะใช้ไม้ค้ำได้ ต่อมาก็มีการใช้ “เก้าอี้อิง” (Misericordia ซึ่งแปลตรงๆ ว่า “ความกรุณา”) การสร้างเก้าอี้ก็เป็นแบบที่พับได้ เมื่อพับขึ้นก็จะมีคันเล็กๆ ยื่นออกมาเพื่อให้ผู้ยืนสวนมนต์ยืนอิงลงไปบนคันที่ยื่นออกมาเพื่อช่วยผ่อนคลายความเมื่อย และเมื่อยืนอิงก็จะดูไม่น่าเกลียดว่ากึ่งนั่งสวดมนต์ เพราะคันภายใต้จะมีระดับสูงกว่าที่นั่งเล็กน้อย

งานแกะไม้ทำเก้าอี้อิงก็เช่นงานศิลปะในยุคกลางอย่างอื่นซึ่งจะประณีต และมักจะเป็นฉากที่อาจจะแสดงฐานะของผู้นั่งเป็นนัย โดยเฉพาะที่นั่งที่ใกล้กับแท่นบูชา

เก้าอี้อิงในวัดในอังกฤษเริ่มทำกันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 จนกระทั่งปัจจุบัน แต่งานหลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 17 ก็เริ่มเป็นงานเลียนแบบของเก่าซึ่งทำให้ไม่มีค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปะเท่าใด แคทตาลอกของจี แอล เร็มเนนต์ปี ค. ศ. 1969 ไม่ได้กล่าวถึงงานหลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 17 และรวมเป็นงานสมัยใหม่ แต่ก็มีข้อยกเว้นบางกรณีของงานจากสมัยวิคตอเรียและแม้แต่งานสมัยใหม่บางชิ้น งานชุด “เก้าอี้อิง” จากคริสต์ศตวรรษที่ 13 ที่มีให้เห็นก็ได้แก่เก้าอี้อิงที่มหาวิหารเอ็กซีเตอร์ แต่เก้าอี้อิงส่วนใหญ่ในอังกฤษสร้างระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 14 ถึง 15 และจะไม่เป็นศิลปะศาสนาแต่จะเป็นเรื่องชาวบ้านหรือรูปสิ่งนอกศาสนา ซึ่งแปลกสำหรับสิ่งที่เอาไว้ในวัดโดยเฉพาะไว้ใกล้บริเวณที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในวัด



เก้าอี้อิงเหล่านี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสำนักสงฆ์แต่เมื่อมีการการปฏิรูปศาสนาที่ประเทศอังกฤษ เก้าอี้เหล่านี้ก็ถูกทำลายบ้างหรือแจกไปตามวัดประจำตำบลหรือหมู่บ้านบ้าง ที่ยังเหลืออยู่ก็มาถูกทำลายเอาเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยกลุ่มชนที่สนับสนุนลัทธิการทำลายศาสนศิลป์ และโดยนักปฏิรูปสมัยวิคตอเรีย เก้าอี้อิงชุดหนึ่งที่เชสเตอร์ถูกทำลายโดยดีน ฮอว์ซันผู้อ้างว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมที่จะเอาไว้ในวัด แต่ของเดิมจากยุคกลางก็ยังเหลืออยู่อีก 43 ตัว “เก้าอี้อิง” จากมหาวิหารลิงคอล์นถูกย้ายไปวังเวสท์มินส์เตอร์ (Westminster Hall) กล่าวกันว่าผู้ที่แกะเก้าอี้อิงมักจะเป็นช่างหัดใหม่ ตัวครูจะแกะสิ่งที่เด่นๆ กว่า

แม้ว่า เก้าอี้อิง จะถูกทำลายไปมากแต่ก็ยังมีบางแห่งที่ยังมีเก้าอี้ฝืมือดีที่ยังเหลือให้เราชมอยู่เช่นที่วัดเซนต์โบทอฟ ที่เมืองบอสตันแขวงลิงคอล์นเชอร์ ที่อังกฤษที่เรียกกันว่า “ตอ” (The Stump)

โดมหัวหอม


โดมหัวหอม (ภาษารัสเซีย: луковичная глава, ลูโควิชนายา กลาวา) เป็นอาคารทรงโดมแบบหนึ่ง มักจะสร้างเป็นโบสถ์ของศาสนาคริสต์ นิกายรัสเชียนออร์โธดอกซ์ ส่วนที่เป็นโดมนั้น จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่าส่วนฐานที่รองรับด้านล่าง และมักมีความสูงมากกว่าความกว้าง อาคารขนาดเหล่านี้มียอดแหลม ลายเกลียว คล้ายกับหัวหอม และด้วยเหตุนี้ จึงนิยมเรียกกันว่า "โดมหัวหอม" (Onion dome)

หลังคาครอบที่สำคัญแบบอื่นๆ ของโบสถ์นิกายนี้ คือ "โดมหมวกเหล็ก" (helmet dome) (เช่น โดมของวิหารเซนต์โซเฟีย ในเมืองนอฟกอรอด และวิหารอัสสัมชัน ในเมืองวลาดิมิร์ ประเทศยูเครน นอกจากนี้ยังมี "โดมลูกแพร์" (pear domes) เช่น วิหารเซนต์โซเฟียในเมืองเคียฟ และ "โดมดอกบัวตูม" (bud dome) สถาปัตยกรรมบาโรก (เช่น โบสถ์เซนต์แอนดรูส์ ในเมืองเคียฟ)

สถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค


สถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค (อังกฤษ: Neo-Gothic architecture หรือ Gothic Revival architecture) หรีอ สถาปัตยกรรมวิคตอเรีย (Victorian architecture) เป็นสถาปัตยกรรมที่เริ่มราวปี ค.ศ. 1840 ที่อังกฤษ เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้ที่นิยมและสนใจสถาปัตยกรรมกอธิคใหม่พยายามฟื้นฟูสถาปัตยกรรมยุคกลาง ซึ่งต่างจากสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกรีกโรมันที่เป็นที่นิยมกันในสมัยนั้น ความนิยมนี้เผยแพร่ไปทั่วสหราชอาณาจักร ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกา กล่าวกันว่าจำนวนสิ่งก่อสร้างแบบฟื้นฟูกอธิคจะมากกว่าสิ่งก่อสร้างแบบกอธิคต้นฉบับเสียด้วยซ้ำ

สถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิคได้รับแรงสนับสนุนจากยุคกลางวิทยาซึ่งมีรากฐานมาจากการอยู่รอดของสิ่งที่เป็นกอธิค ทางด้านวรรณคดีสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิคและ Romanticism ทำให้เกิดนวนิยายลักษณะกอธิค เช่นเรื่อง “ปราสาทโอทรันโท” โดยฮอเรส วอลโพล เมื่อค.ศ. 1764 หรือ โคลง “Idylls of the King” โดยอัลเฟรด เทนนิสสัน ซึ่งใช้แนวใหม่ในหัวเรื่องพระเจ้าอาเธอร์ที่มาจากยุคกลาง ในวรรณคดีเยอรมนีก็เช่นเดียวกัน[1]

but i love you

look at only me

วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เพดานพัด


เพดานพัด (อังกฤษ: Fan vault) เป็นเพดานที่ใช้ในสถาปัตยกรรมแบบเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ (Perpendicular) ซึ่งเป็นสมัยหนึ่งของสถาปัตยกรรมกอธิคซึ่งสันของเพดานแยกออกไปเป็นแฉกคล้ายรูปพัด ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มีเฉพาะในอังกฤษ

เพดานพัดพบครั้งแรกเมื่อประมาณปีค.ศ. 1351[1]ซึ่งจะเห็นได้จากทางเดินด้านใต้ของระเบียงคดที่มหาวิหารกลอสเตอร์[2]ที่สร้างโดยทอมัสแห่งเคมบริดจ์ (Thomas of Cambridge) ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 สิ่งก่อสร้างนี้เป็นที่รู้จักกันว่าแอบบีกลอสเตอร์ (Abbey Church at Gloucester) งานที่แสดงลักษณะของเพดานพัดที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งคือเพดานเหนือบันไดที่มหาวิหารอ๊อกซฟอร์ด และเพดานพัดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่ชาเปลคิงส์คอลเลจที่ เคมบริดจ์



ที่มา

การสร้างเพดานพัดเริ่มขึ้นที่มหาวิหารกลอสเตอร์เมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 ภายในทางเดินด้านตะวันออกของระเบียงคด[3] ตัวอย่างอื่นๆ ก็พบในเมืองกลอสเตอร์ซึ่งแสดงว่าช่างหินในบริเวณนี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างเพดานแบบนี้




ตัวอย่างงานเพดานพัด

ชาเปลคิงส์คอลเลจที่ เคมบริดจ์ - คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็น เพดานพัดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
มหาวิหารปีเตอร์เบรอ - คริสต์ศตวรรษที่ 16 ทางมุขด้านตะวันออกของหอแบบโรมาเนสก์
เวสท์มินสเตอร์แอบบี - Lady Chapel ค.ศ. 1503-ค.ศ. 1519[4]
แชร์บอนแอบบี มณฑลดอร์เซ็ท
มหาวิหารบาธ มณฑลซอมเมอร์เซ็ทราวค.ศ. 1860

คันทวย หรือ ทวย

คันทวย หรือ ทวย (อังกฤษ: corbel) คือส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมทำหน้าที่ค้ำยันชายคา ระเบียง หรือ หลังคาของสิ่งก่อสร้าง



คันทวยในสถาปัตยกรรมตะวันออก


สถาปัตยกรรมไทย



คันทวย พระระเบียง วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่คันทวย หรือ ทวย คือส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมไทยทำหน้าที่ค้ำยันชายคา มักแกะสลักหรือหล่อเป็นลวดลายสวยงาม คันทวย มีทั้งที่เป็นไม้ และปูนปั้น ตามแต่ประเภทของอาคาร






คันทวย ทางภาคเหนือ จะเรียกทวยหูช้าง มีลักษณะเป็นแผ่นไม้รูปสามเหลี่ยมติดกับเสาหรือผนัง บนแผ่นไม้มีการสลักลายหรือลายฉลุโปร่ง เป็นรูปนาค ลายดอกไม้ หรือลายต่าง ๆ ตามแต่การออกแบบ

สัดส่วนที่สวยงามของคันทวย คือ 4 คูณ 6 หรือ 4 คูณ 7 หรือ 4 คูณ 8 (4 คือส่วนกว้าง 6 7 และ 8 คือส่วนสูง)

สถาปัตยกรรมจีน
สถาปัตยกรรมของประเทศจีน ตามธรรมเนียมการก่อสร้างของจีนจะเรียกคันทวยว่า “dougong” ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ก่อนคริสตกาล


คันทวยในสถาปัตยกรรมตะวันตก

คันทวยแบบฟื้นฟูกรีกโรมันภายใต้ระเบียงที่เมืองอินเดียแนโพลิส มลรัฐอินดีแอนา

คันทวยโรมาเนสก์ ที่คิลเพ็ค (Kilpeck) อังกฤษ เป็นรูปหมาและกระต่ายคำว่า คันทวย ในสถาปัตยกรรมตะวันตก คือก้อนหินหรือที่ยื่นออกมาจากผนังหรือกำแพงเพื่อรับน้ำหนักของสิ่งก่อสร้างที่ยื่นออกมา ถ้าเป็นทวยไม้ก็จะเรียกว่า “tassel” หรือ “bragger” การใช้คันทวยเริ่มใช้กันตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แต่มานิยมกันในยุคกลางและสถาปัตยกรรมขุนนางสกอตแลนด์

คำว่า “corbel” มาจากภาษาฝรั่งเศสเก่าซึ่งมาจากภาษาละติน “corbellus” แปลว่ากา (นก) แปลงมาจากคำว่า “corvus” ซึ่งหมายถึงลักษณะจงอยปากนก ฉนั้นฝรั่งเศสจึงเรียกคันทวยว่า “corbeau” ซึ่งแปลว่านกกา และ “cul-de-lampe” สำหรับคันทวยที่อยู่ภายนอกอาคารที่ใช้รองรับหลังคา หรือ “modillon” สำหรับคันทวยที่รองรับน้ำหนักภายในสิ่งก่อสร้าง


การใช้คันทวยในการตกแต่ง

คันทวยหินที่แอบบีบอยล์ (Boyle Abbey) คริสต์ศตวรรษที่ 13คันทวยของสิ่งก่อสร้างแบบโรมาเนสก์มักจะเรียบแต่จะมีการแกะสลักเป็นรูปหน้าคน หัวสัตว์ หรือสัตว์ในจินตนาการ อย่างที่วัดคิลเพ็ค (Kilpeck) อังกฤษที่ยังมีคันทวยจากสมัยนั้นเหลืออยู่เกือบทั้งหมด--85 คันทวยจากเดิม 91

ในสมัยสถาปัตยกรรมอังกฤษตอนต้นประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 การแกะสลักคันทวยก็เริ่มหรูหราขึ้นเช่นคันทวยที่มหาวิหารลิงคอล์น บางครั้งคันทวยก็จะดูเหมือนงอกออกมาจากกำแพงรองรับด้วยเทวดาหรือรูปสลักอื่นๆ สมัยต่อมาก็มีการแกะคันทวยเป็นใบไม้หรือรูปตกแต่งอื่นๆ ซึ่งคล้ายกับการแกะหัวเสา

คันทวยที่รับน้ำหนักระเบียงในประเทศอิตาลี หรือ ประเทศฝรั่งเศส จะค่อนข้างใหญ่กว่าและตกแต่งอย่างวิจิตรกว่าอย่างเช่นคันทวย “Cinquecento” จากคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในอังกฤษจะใช้คันทวยในการก่อสร้างบ้านไม้แบบที่เรียกว่า “half-timber” เพื่อรับน้ำหนักชั้นบนที่มักจะยื่นออกมาจากชั้นล่าง


ฐานคันทวย
ฐานคันทวย (corbel table) คือบัวแนวคันทวยที่ยื่นออกมาซึ่งมักจะใช้รองรับรางน้ำ แต่บริเวณลอมบาร์ดึทางตอนเหนือของประเทศอิตาลีจะใช้ฐานคันทวยเป็นเครื่องตกแต่งสิ่งก่อสร้างเช่นใช้แบ่งสิ่งก่อสร้างเป็นชั้นๆ หรือตกแต่งกำแพงที่ว่างเปล่า

การใช้ฐานคันทวยในประเทศอิตาลีหรือฝรั่งเศสมักจะทำกันอย่างซับซ้อนบางครั้งก็จะเป็นคันทวยซ้อนกันหลายชั้นเช่นในการทำฐานรับเชิงเทินบนป้อม (machicolation) ของปราสาททั้งในอังกฤษและฝรั่งเศส

ในการก่อสร้างปล่องไฟสมัยใหม่จะใช้ฐานคันทวยในการก่อสร้างปล่องเป็นฐานคอนกรีตรอบภายในปล่องรับด้วยคันทวย คันทวยอาจจะหล่อพร้อมคอนกรีต หรือเป็นคันทวยสำเร็จรูป

ครีบยัน flying buttress หรือ arc-boutant


ครีบยัน (ภาษาอังกฤษ: flying buttress หรือ arc-boutant) ในทางสถาปัตยกรรมมักจะใช้ในการก่อสร้างคริสต์ศาสนสถานเพื่อแบ่งรับน้ำหนักจากหลังคามาสู่ค้ำยันที่กระจายออกไปเป็นระยะๆ ซึ่งอาจจะเป็นทางเดินข้าง (aisle) คูหาสวดมนต์ หรือระเบียงนอกสิ่งก่อสร้าง การใช้ค้ำยันปีกทำให้ทุ่นการรับน้ำหนักหรือแรงกดดันกำแพงที่แต่เดิมต้องรับน้ำหนักและความกดดันทั้งหมด จึงทำให้สามารถทำหน้าต่างได้กว้างขึ้นได้ ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นโดยไม่มีค้ำยันปีกก็จะทำให้กำแพงไม่แข็งแรง

จุดประสงค์ของค้ำยันปีกก็เพื่อช่วยลดน้ำหนักกดดันของกำแพงทางเดินกลาง แรงกดดันและน้ำหนักส่วนใหญ่จะอยู่ส่วนบนของค้ำยันฉะนั้นเมื่อทำค้ำยันเป็นครึ่งซุ้มโค้งก็ทำให้สามารถรับน้ำหนักได้เท่าๆ กับค้ำยันที่ตัน นอกจากนั้นยังทำให้ค้ำยันเบาขึ้นและราคาถูกกว่าที่จะสร้าง ฉะนั้นกำแพงจึง “บิน” ออกไปจากสิ่งก่อสร้างแทนที่จะเป็นกำแพงทึบจึงเรียกกันว่า “ค้ำยันปีก”




วิธีการก่อสร้างที่ใช้ค้ำยันมีมาตั้งแต่สมัยสถาปัตยกรรมโรมันและต้นโรมาเนสก์แต่สถาปนิกมักจะพรางโดยการซ่อนใต้หลังคา เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 สถาปนิกก็เห็นถึงความสำคัญของค้ำยันและมาเน้นการใช้ค้ำยันเป็นสิ่งตกแต่งสิ่งก่อสร้างเช่นที่มหาวิหารชาร์ทร (Cathedral of Chartres) มหาวิหารเลอมานส์ (Cathedral of Le Mans) มหาวิหารบูเวส์ (Cathedral of Beauvais) มหาวิหารรีมส์ (Cathedral of Reims) และ มหาวิหารโนเตรอดามแห่งปารีสเอง

บางครั้งเมื่อเพดานสูงมากๆ สถาปนิกก็จะใช้ค้ำยันปีกซ้อนกันสองชั้นหรือบางครั้งการจ่ายน้ำหนักก็จะกระจายออกไปกับค้ำยันสามสี่อัน ตามปกติแล้วน้ำหนักของค้ำยันก็จะเพิ่มน้ำให้กับตัวอาคารพอสมควร ฉะนั้นค้ำยันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ การใช้ค้ำยันดิ่งเป็นระยะๆ ทำให้เพิ่มการรับน้ำหนักและแรงกดทับได้ดีขึ้นกว่าที่จะสร้างตลอดแนวกำแพง ค้ำยันดิ่งที่ใช้ในการก่อสร้าง มหาวิหารลิงคอล์น เวสท์มินสเตอร์แอบบีอยู่ภายนอกหอประชุมสงฆ์ ค้ำยันดิ่งมักจะใช้ยอดแหลม (pinnacle) เพื่อช่วยเพิ่มแรงต่อต้านของสิ่งก่อสร้าง

ระเบียงคด

ระเบียงคด

ระเบียงคดที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารระเบียงคด (ภาษาอังกฤษ: Cloister) คือส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมทางศาสนาซึ่งมักจะเป็นซุ้มล้อมรอบลาน


ระเบียงคดในสถาปัตยกรรมไทย
ระเบียงคด คือส่วนหนึ่งวัดในสถาปัตยกรรมไทย โดยเฉพาะวัดที่มีขนาดใหญ่ทื่อาจจะเป็นที่ตั้งพระพุทธรูปรอบระเบียง หรือมีจิตรกรรมฝาผนัง



ระเบียงคดในสถาปัตยกรรมตะวันตก

ระเบียงคดที่
มหาวิหารกลอสเตอร์ระเบียงคด มาจากภาษาละติน “claustrum” เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม ของ มหาวิหาร สำนักสงฆ์ และแอบบี มักจะเป็นระเบียงสี่ด้านรอบลานกลาง เพื่อใช้เป็นหลบฝนแต่มีอากาศถ่ายเทได้เพราะเป็นสิ่งก่อสร้างที่กึ่งเปิด การที่วัดมีระเบียงคดมักจะเป็นเครื่องหมายว่าเป็นสำนักสงฆ์ หรือเคยเป็นสำนักสงฆ์มาก่อน ระเบียงมักจะสร้างติดกับตัวมหาวิหารทางด้านใต้เพราะเป็นด้านที่ได้รับแสงอาทิตย์มากกว่าจึงอุ่นกว่า

ในยุคกลางระเบียงคดจะใช้เป็นที่สวดมนต์ วิปัสนา เรียนหนังสือ คัดหนังสือ หรือกิจธุระอย่างอื่นเช่นซักล้างเช่นระเบียงคดที่มหาวิหารกลอสเตอร์ที่มีรางน้ำยาว

ระเบียงคดที่ยาวที่สุดในโลกอยู่ที่เซอร์โทซา ดิ ปาดัวทางใต้ของประเทศอิตาลี ซึ่งมีเนี้อที่ทั้งหมด 12000 ตารางเมตร

หน้าบัน

หน้าบัน (ภาษาอังกฤษ: Tympanum) คือบริเวณครึ่งวงกลมหรือเกือบสามเหลี่ยมเหนือประตูทางเข้าที่อยู่ระหว่างทับหลังและโค้ง (arch) ซึ่งจะมีรูปสลักตกแต่งหรือเครื่องตกแต่งอื่นๆ

สถาปัตยกรรมเกือบทุกแบบจะมีองค์ประกอบนี้ ผู้คิดค้นการสร้างหน้าบันเป็นคือชาวอียิปต์โบราณประมาณ 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช ต่อมาก็ปรากฏในสถาปัตยกรรมกรีก สถาปัตยกรรมของคริสต์ศาสนา และ สถาปัตยกรรมของศาสนาอิสลาม[4]



หน้าบันในพุทธศาสนสถาน

หน้าบันโรมาเนสก์ คริสต์ศตวรรษที่ 12 ของวัดเวเซเลย์ (Vézelay Abbey) ประเทศฝรั่งเศสหน้าบัน คือ “องค์ประกอบอาคารที่ใช้อิฐหรือไม้ ก่อหรือปิดทับบริเวณส่วนที่เป็นโพรงของโครงจั่วหลังคา เพื่อป้องกันไม่ให้แดดหรือฝนสาดเข้าไปภายในอาคาร นิยมแกะสลักหรือปั้นปูนประดับตกแต่ง”



หน้าบันในคริสต์ศาสนสถาน
หน้าบันของกรีกหรือคริสต์ศาสนสถานจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ล้อมรอบด้วยแถบรูปแกะสลักที่เรียกว่าอาร์ชิโวลท์ (archivolt)

หัวเรื่องบางหัวเรื่องที่นิยมตกแต่งด้านหน้าวัดคริสต์ศาสนาก็มี

การตัดสินครั้งสุดท้าย เช่นที่ มหาวิหารอาเมียง ประเทศฝรั่งเศส
พระเยซูผู้ทรงเดชานุภาพ (Christ in Glory) เช่นที่ มหาวิหารโรเชสเตอร์ (Rochester Cathedral) อังกฤษ
ชะลอร่างจากกางเขน เช่นงานของนิโคลา ปิซาโน (Nicola Pisano) หน้ามหาวิหารเซียนนา (Sienna Duomo) ประเทศอิตาลี
ประวัติพระแม่มารี หรือ นักบุญ เช่นที่มหาวิหารโทลีโด (Cathedral of Toledo) ประเทศสเปน

ภูมิสถาปัตยกรรม

ภูมิสถาปัตยกรรม (อังกฤษ: landscape architecture) อ่านออกเสียงว่า "พู-มิ-สะ-ถา-ปัด-ตะ-ยะ-กัม" เป็นศิลปะและวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการออกแบบวางแผน การอนุรักษ์และจัดการพื้นที่ใช้สอยภายนอกอาคาร รวมทั้งพื้นที่บางส่วนภายในหรือบนดาดฟ้าอาคารเพื่อความผาสุข สวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน

ลักษณะโดยรวม
งานของภูมิสถาปนิกอาจครอบคลุมตั้งแต่การสรรค์สร้างสวนสาธารณะและถนนอุทยานไปจนถึงการวางผังบริเวณกลุ่มอาคารสำนักงาน จากการออกแบบที่พักอาศัยไปจนถึงการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองและการจัดการพื้นที่ธรรมชาติขนาดใหญ่ หรือการฟื้นฟูภูมิทัศน์ที่เสียหาย เช่น เหมืองแร่เก่า บริเวณฝังกลบขยะ ภูมิสถาปัตยกรรมทับซ้อนกับการจัดสวน ก็จริง แต่จะเป็นงานวิชาชีพที่มีปัจจัยพิจารณาในการออกแบบและมีขอบเขตกว้างขวางกว่า

ภูมิสถาปนิกทำงานในพื้นที่ภายนอกอาคารเกือบทุกชนิดและพื้นบางส่วนภายในหรือบนดาดฟ้าอาคาร ทั้งใหญ่และเล็ก ในเมืองและชนบท ทั้งด้วยวัสดุ “แข็ง” (hardscape) / “นุ่ม” (softscape) ภูมิสถาปนิกทำงานครอบคลุม:

รูปทรง ขนาดส่วนและการวางผังโครงการใหม่
งานที่พักอาศัยส่วนบุคคลและงานสาธารณะ
การออกแบบผังบริเวณโรงเรียน มหาวิทยาลัยและโรงแรม
สวนสาธารณะ สนามกอล์ฟ สวนสนุกและสนามเล่นกีฬาต่างๆ
บริเวณโครงการเคหะ นิคมอุตสาหกรรมและโครงการเชิงการค้า
ทางหลวง โครงสร้างทางการขนส่ง สะพานและทางผ่าน
ลานเมืองและลานชุมชนและระบบทางเดินเท้า
โครงการฟื้นฟูชุมชนเมืองขนาดเล็กและใหญ่
ป่า แหล่งท่องเที่ยว ภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ และการประเมินทางภูมิทัศน์หรือการศึกษาด้านการอนุรักษ์
ภูมิทัศน์วัฒนธรรม (Cultural Landscape)
อ่างเก็บน้ำ เขื่อน สถานีไฟฟ้า บ่อขุดวัสดุทางอุตสาหกรรมหรือโครงการทางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมทั้งบริเวณบริการนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ
การประเมินสภาพแวดล้อม การให้คำปรึกษางานวางแผนภูมิทัศน์และการทำข้อเสนอในการจัดการผืนแผ่นดิน
โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งและเกาะ
คุณค่าที่สำคัญที่สุดของภูมิสถาปัตยกรรมมักเกิดขึ้นในช่วงแรกของการวางผังแม่บทโครงการ ช่วงที่อยู่ในระหว่างการระดมความคิดในการกลั่นกรองสิ่งที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการสร้างสรรค์การใช้สอยพื้นที่ ภูมิสถาปนิกสามารถให้แนวคิดรวมและจัดเตรียมผังหลักเบื้องต้นที่แสดงให้เห็นรายละเอียดได้ชัดเจนและง่ายที่จะเข้าใจในขั้นต่อๆ มา ภูมิสถาปนิกสามารถจัดทำแบบก่อสร้างประกอบสัญญาจ้าง จัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้คำปรึกษา เป็นพยานผู้ชำนาญการในด้านการใช้ที่ดินเชิงนิเวศ นอกจากนี้ภูมิสถาปนิกยังสามารถจัดเตรียมเอกสารใบสมัครเพื่อการจัดหาแหล่งเงินลงทุนสำหรับโครงการด้วย


ความชำนาญเฉพาะในงานภูมิสถาปัตยกรรม
นักออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมและวิศวกรสำรวจ เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรทางกายภาพที่มีอยู่ และที่มีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบทางกายภาพที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เป็นผู้วางแผนผัง กำหนดจัดวาง คาดการณ์การใช้งานอย่างเป็นเหตุ-ผล เป็นผู้ที่รู้ซึ้งถึงความสัมพัน์ระหว่างการจัดวางองค์ประกอบทางธรรมชาติและกิจกรรมให้เกิดประโยชน์ มีความเหมาะสม ทั้งรู้ทรงของพื้นที่ ที่ว่าง ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งรวมไปถึงงานภูมิทัศน์อ่อน (งานพืชพรรณ เช่น การออกแบบปลูกต้นไม้ และการสรรค์สร้างพื้นที่สีเขียวกลางแจ้งทุกประเภท บุคคลเหล่านี้ทำงานภาครัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น บางคนอาจทำงานภาคเอกชนหรือทำงานอิสระ รับเป็นที่ปรึกษาส่วนราชการ อุตสาหกรรม พาณิชกรรมและเอกชนรายบุคคล ผู้จัดการภูมิทัศน์ ใช้ความรู้ด้านวัสดุพืชพรรณและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติในการให้คำแนะนำในการดูแลรักษาระยะยาวและในการพัฒนาภูมิทัศน์ บุคคลเหล่านี้ทำงานเกี่ยวกับพืชสวน การจัดการสถานที่ ป่า การอนุรักษ์ธรรมชาติและเกษตรกรรม นักวิทยาศาสตร์ภูมิทัศน์ มีทักษะพิเศษเช่น ปถพีวิทยา อุทกวิทยา ภูมิสัณฐาน หรือพฤกษศาสตร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาในงานภูมิทัศน์ งานของบุคคลเหล่านี้อาจไล่ตั้งแต่การสำรวจบริเวณไปจนถึงการประเมินสิ่งแวดล้อมของบริเวณขนาดใหญ่เพื่อการวางแผนหรือการจัดการ และอาจทำรายงานผลกระทบในโครงการพัฒนาหรือในความสำคัญเฉพาะของพรรณไม้หรือสัตว์บางชนิดในพื้นที่ นักวางแผนภูมิทัศน์ เกี่ยวข้องและดูแลในด้านตำแหน่งที่ตั้ง วิวทิวทัศน์ นิเวศวิทยาและการใช้ที่ดินในเชิงนันทนาการของเมือง ชนบท และพื้นที่ชายฝั่ง งานที่บุคคลกลุ่มนี้ทำรวมถึงการเขียนรายงานด้านนโยบายและยุทธวิธี และลงท้ายด้วยการส่งผังรวมสำหรับการพัฒนาโครงการใหม่ การประเมินและและประมาณค่าพร้อมทั้งการจัดทำแผนการจัดการเพื่อนำไปใช้ในการทำแผนนโยบาย บางคนอาจมีสร้างสมความชำนาญเฉพาะเพิ่มเติม เช่น งานภูมิทัศน์โบราณคดี หรือกฎหมายที่เกี่ยวของกับภูมิทัศน์


ประวัติ

มนุษยชาติทั่วโลกต่างก็ได้สร้างสวนมานานนับสหัสวรรษ สวนญี่ปุ่น และสวนสวรรค์เปอร์เซีย สวนสวรรค์เหล่านี้นับเป็นตัวอย่างของสวนประเพณีโบราณ สวนลอยบาบิโลนสร้างโดยพระเจ้าเนบูชาดเนสซาที่ 2 ประมาณ 600 ปีก่อนคริสตกาล ในยุโรป เรนาซองส์ได้นำมาซึ่งยุคแห่งการออกแบบที่ยิ่งใหญ่ รวมทั้งสวนเพื่อความปีติต่างๆ เช่น วิลลา เดอเอสเต ที่ ทิโวลิ สวนเรนาซองส์ที่สร้างระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 (พ.ศ. 2043-2243) ได้บรรลุถึงขีดสูงสุดแห่งความยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นผลงานของ อังเดร เลอ โนตร์ ณ วัว เลอ วิกกอง และ แวร์ซาย

ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 (ระหว่าง พ.ศ. 2244-2343) อังกฤษเริ่มเน้นสไตล์ใหม่ของ “สวนภูมิทัศน์” บุคคล เช่น วิลเลียม เคนท์ ฮัมฟรีย์ เรพตัน รวมทั้งโจเซฟ แพกซ์ตัน และผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดอีกคนหนึ่งคือ ลานเซลอต บราวน์ “ผู้สามารถ” ได้แปรเปลี่ยนอุทยานคฤหาสที่ยิ่งใหญ่ของอังกฤษให้กลายเป็นธรรมชาติที่เรียบและสะอาดงดงาม อุทยานเหล่านี้ยังคงเหลือให้ชมในปัจจุบันหลายแห่ง คำว่าภูมิสถาปัตยกรรมในภาษาอังกฤษคือ “Landscape Architecture” ได้ถุกเรียกเป็นครั้งแรกโดยชาวสก็อตชื่อ กิลเบิร์ต เลง มีสัน ในหนังสือชื่อเรื่อง ภูมิสถาปัตยกรรมแห่งจิตรกรรมอันยิ่งใหญ่แห่งอิตาลี (ลอนดอน พ.ศ. 2371) เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเภทของสถาปัตยกรรมที่ปรากฏในภาพเขียนภูมิทัศน์ คำว่า “ภูมิสถาปัตยกรรม” ได้รับการตอบรับนำมาใช้ต่อมาโดย เจซี ลูดอน และเอ.เจ. ดาวนิง สำหรับประเทศไทยเริ่มใช้คำว่า "ภูมิสถาปัตยกรรม" ประมาณ พ.ศ. 2498 เมื่อเริ่มมีการเปิดสอนวิชานี้ในชั้นปีที่ 3 ของหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฺฑิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเปิดสอนเป็นครั้งแรกโดยอาจารย์จันทรลดา บุณยมานพ ซึ่งจบปริญญาโทด้านภูมิสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา

ล่วงสู่คริสต์ศตวรรษที่ 19 (พ.ศ. 2344-2443) การวางแผนชุมชนเมืองเริ่มมีบทบาทสำคัญโดยเป็นการผสมผสานระหว่างการวางแผนสมัยใหม่รวมกับสวนภูมิทัศน์ประเพณี ซึ่งทำให้ภูมิสถาปัตยกรรมกลายเป็นจุดรวมสำคัญที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเองขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษ เฟรเดอริก ลอว์ ออล์มสเตด ได้ออกแบบสวนสาธารณะหลายแห่งออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกลายเป็นผลที่มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อการปฏิบัติวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมในยุคปัจจุบัน สวนสาธารณะดังกล่าวบางแห่งได้แก่ เซ็นทรัลปาร์ก ในนครนิวยอร์ก พรอสเป็กปาร์ก ใน บรุกลีน และในนครบอสตัน ที่ได้ชื่อเรียกกันว่า ระบบสวนสาธารณะ “สร้อยหยกเขียว”

ภูมิสถาปัตยกรรมได้พัฒนาตัวเองมาเป็นสาขาวิชาชีพการออกแบบเฉพาะ ได้สนองตอบต่อขบวนการออกแบบและสถาปัตยกรรมตลอดช่วงเวลาในคริสต์ศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 2444-2543) ปัจจุบัน การค้นคิดสิ่งใหม่ๆ มีผลให้การแก้ปัญหาทางภูมิสถาปัตยกรรมในทางที่ก้าวหน้าขึ้นสำหรับในงานภูมิทัศน์ถนน สวนสาธารณะและอุทยาน ผลงานของ มาร์ธา ชวาท์ส ในสหรัฐฯ และในยุโรป เช่น ชูเบิร์กปลิน ในรอตเตอร์ดาม เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ


ประวัติความเป็นมาของภูมิสถาปัตยกรรมในประเทศไทย
ประวัติความเป็นมาของภูมิสถาปัตยกรรมของประเทศไทยไม่เป็นที่ชัดเจนนัก อาจเป็นด้วยหลักฐานทั้งทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีถูกทำลายในในสงครามไทย-พม่าที่กรุงศรีอยุธยาโดยเฉพาะเมื่อ พ.ศ. 2310 ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงสมัยสุโขทัยกล่าวไว้เพียงการปลูกต้นไม้เชิงเกษตรกรรมไว้เบื้องเหนือเบื้องใต้ มีกล่าวถึงตระพังหรือสวนน้ำไว้บ้างแต่ไม่พรรณนารูปแบบและความสวยงาม

บาทหลวงชาวฝรั่งเศสบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับสวนในสมัยพระนารายณ์มหาราชไว้พอควร ว่ามีชาวต่างประเทศนำพรรณไม้แปลกๆ มาถวาย และทรงลงมือทำสวนด้วยพระองค์เองในพระราชวังลพบุรี ไม่กล่าวถึงรูปแบบและความสวยงามที่มีนัยสำคัญไว้เช่นกัน

สมัยต้นรัตนโกสินทร์มีการนำรูปแบบสวนจีนมาสร้างในพระบรมมหาราชวังและวัดสำคัญ เรียกว่าเขามอ มีการสร้างสวนซ้ายสวนขวา เริ่มมีการสร้างสวนเพื่อความปีติในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีสวนและมีรูปแบบของสวนปรากฏชัดเจนขึ้น มีการนำรูปแบบสวนยุโรปซึ่งกำลังผ่านความรุ่งเรืองของยุคเรนาซองส์ โดยมีนายช่างฝรั่งที่เข้ามารับราชการ เช่น นายเฮนรี อาลบาสเตอร์ หรือพระเศวตศิลา ต้นตระกูลเศวตศิลารวมทั้งคนอื่นๆ มาเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างสวนหลายแห่ง อุทยานสราญรมย์เป็นตัวอย่างสวนที่ยังหลงเหลือและได้รับการบูรณะให้สวยงามในปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจเป็นผู้ให้กำเนิดการผังเมืองและภูมิสถาปัตยกรรมเป็นพระองค์แรกก็ว่าได้ พระราชหัตถ์เลขาถึงเจ้าพระยาวรพงศ์ระหว่าง พ.ศ. 2444-2452 เป็นข้อพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าพระองค์ทรงเชี่ยวชาญในงานทั้งสองสาขานี้อย่างไร ทรงรู้จักต้นไม้ พร้อมทั้งชื่อและอุปนิสัยพรรณไม้ต่างๆ ที่ใช้ปลูกทั้งในสวนและในเมืองนับได้เกือบร้อยชนิด

งานสวนและสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลยุโรปในรัชกาลที่ 4-5 ได้ต่อเนื่องมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 เช่น วังฤดูร้อนต่างๆ เป็นต้นว่า พระราชวังบ้านปืน และพระตำหนักมฤคทายวัน เพชรบุรี วังสนามจันทร์ นครปฐมและวังไกลกังวล เป็นต้น รูปแบบของสวนไม่เป็นที่เด่นชัดว่ามีรูปแบบอย่างไร กล่าวกันว่าเป็นงานประกอบที่ทำโดยสถาปนิกชาวยุโรปผู้ออกแบบและก่อสร้างอาคาร ซึ่งอาจมีรูปแบบที่สวยงามแต่ได้ถูกแปรเปลี่ยนไปโดยกาลเวลา

สวนและงานภูมิสถาปัตยกรรมได้หยุดนิ่งมาตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจโลกตกต่ำในปลายรัชกาลที่ 7 และเริ่มขยับตัวขึ้นใหม่ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่เริ่มพัฒนาประเทศและสมัยเริ่มสงครามเวียดนาม การใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ทำให้มีความต้องการบ้านเช่าที่มีสวน ต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนสร้างโรงแรม เช่น โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเน็นตัล (ปัจจุบันถูกรื้อกลายเป็นศูนย์การค้าสยามพารากอน) และโครงการเงินกู้ได้เผยโฉมของภูมิสถาปัตยกรรมให้ปรากฏ ช่างจัดสวนไทยจึงได้เคยเห็นและรู้จักวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมที่เป็นสากลเป็นครั้งแรก ในขณะเดียวกัน เทศบาลนครกรุงเทพฯ ก็ได้เริ่มรณรงค์จัดสวนตามมุมต่างๆ ของถนน เรียกว่า “สวนหย่อม” โดยเลียนแบบ “สวนญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นที่นิยมมากในสมัยนั้น

การเร่งรัดพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมที่จะต้องเร่งแก้ไขทำให้ภูมิสถาปัตยกรรมได้รับการยอมรับมากขึ้นในประเทศไทย


วิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรม

ภูมิสถาปนิกถือว่าเป็นนักวิชาชีพในลักษณะเดียวกันกับแพทย์และนักกฎหมายเนื่องจากบุคคลเหล่านี้ จะต้องได้รับการศึกษาเป็นการพิเศษเฉพาะและจะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเช่นเดียวกับผู้ประกอบวิชาชีพอื่น

ในสหรัฐฯ และที่อื่นๆ การเข้าสู่สายวิชาชีพจะต้องผ่านการศึกษาเล่าเรียนขั้นสูง ผ่านการฝึกหัดงานและผ่านการสอบรับใบอนุญาต ทั้งนี้เพื่อเป็นการปกป้องประโยชน์แห่งสาธารณชนจากความเสียหายที่อาจได้รับจากผู้ไม่มีความรู้ความสามารถและไม่มีจรรยาบรรณ ผู้ปฏิบัติวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมจะรวมตัวกันตั้งสมาคมวิชาชีพขึ้นเพื่อร่วมกันจรรโลงสาขาวิชาชีพแห่งตนให้เข้มแข็ง ในสหรัฐฯ คือสมาคมภูมิสถาปนิกอเมริกัน (American Society of Landscape Architects - ASLA) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2442 นับเป็นสมาคมวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมแห่งแรกของโลก

ประเทศไทยได้ก่อตั้ง “สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย” Thai Association of Landscape Architects-TALA เมื่อ พ.ศ. 2530 หลังสหรัฐฯ 88 ปี การควบคุมวิชาชีพกระทำโดยใช้กฎหมายบังคับให้ผู้ปฏิบัติวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

อาจกล่าวได้วิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทยที่มีการออกแบบเฉพาะโดยภูมิสถาปนิกโดยตรง และมีการแยกสัญญาจากงานสถาปัตยกรรมเริ่มเมื่อประมาณ พ.ศ. 2515 โดยข้อกำหนดของธนาคารโลกในโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาวิทยาเขตใหม่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่บ่งให้ใช้ภูมิสถาปนิก

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสำนักงานภูมิสถาปนิกมากกว่า 30 แห่ง วิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมของประเทศไทยอยู่ภายใต้การควบคุมของสภาสถาปนิกตาม พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ซึ่งใช้แทนพระราชบัญญัติควบคุมวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2508


การศึกษาด้านภูมิสถาปัตยกรรม
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกในโลกที่เปิดสอนวิชาภูมิสถาปัตยกรรมในระดับมหาวิทยาลัย โดยเปิดสอนระดับปริญญาตรี เมื่อ พ.ศ. 2443 ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รัฐแมสซาชูเซตส์ ปัจจุบันได้มีการเปิดสอนในเกือบทุกประเทศในโลก จากการสำรวจของสหพันธ์ภูมิสถาปนิกนานาชาติ (IFLA) เมื่อ พ.ศ. 2547 พบว่ามีสถาบันระดับมหาวิทยาลัย 204 แห่งใน 43 ประเทศของโลก (ที่ส่งแบบสอบถามกลับ) [1] ที่เปิดสอนวิชาภูมิสถาปัตยกรรมระดับวิชาชีพปริญญาตรี โทและเอก รวมทั้งปริญญาตรีก่อนวิชาชีพหลักสูตร 4 ปี (Pre-professional degree)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดสอนวิชาภูมิสถาปัตยกรรมระดับปริญญาตรีหลักสูตร 5 ปีเป็นแห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ในปี พ.ศ. 2521 ปัจจุบัน ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรมในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมแล้วมากกว่า 25 รุ่น หรือประมาณ 500 คน ต่อมาได้มีการเปิดสอนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ และที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดสอนระดับปริญญาตรีวิชาชีพหลักสูตร 5 ปีเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการเปิดสอนระดับปริญญาโทเพิ่มขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต (ภูมิสถาปัตยกรรม) แห่งแรกของประเทศไทย
ปัจจุบันคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดหลักสูตรด้านภูมิสถาปัตยกรรมในระดับปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปี เป็นที่แรกของประเทศไทยแล้วเพื่อเพิ่มทางเลือกทางการศึกษาสาขานี้ให้มีความหลากหลายขึ้น โดยจะเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา พ.ศ. 2550 เป็นปีแรก

สถาปัตยกรรมบาโรก

สถาปัตยกรรมบาโรก (ภาษาอังกฤษ: Baroque architecture) เป็นคำที่บรรยายลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เริ่มราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่ประเทศอิตาลี เป็นสถาปัตยกรรมที่บ่งถึงความหรูหราโอ่อ่าและความมีอำนาจของสถาบันคริสต์ศาสนาและการปกครอง และจะเน้นเรื่องแสง สี เงา และคุณค่าของประติมากรรม

ขณะที่สถาปัตยกรรมเรอเนซองส์จะเน้นความมั่งคั่งและอำนาจของราชสำนักอิตาลี และประสมประสานศิลปะศาสนาและศิลปะทางโลก สถาปัตยกรรมบาโรกเมื่อเริ่มแรกเป็นสถาปัตยกรรมที่มาจากปฏิกิริยาต่อการปฏิรูปศาสนาของนิกายโปรเตสแตนต์ซึ่งเป็นกระบวนการของสถาบันคาทอลิกต่อต้านการปฏิรูปดังกล่าว โดยการปฏิรูปภายในสถาบันคาทอลิกเอง

การประชุมสังคายนาที่เมืองเทร้นต์ ระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1545 ถึงวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1563 เป็นเหตุการณ์ที่ถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ “การปฏิรูปศาสนาของนิกายโรมันคาทอลิก” (Counter-Reformation) ฉนั้นสถาปัตยกรรมแบบบาโรกจึงนอกจากจะเป็นการแสดงออกทางอารมณ์แล้วยังเป็นการแสดงความมั่งคั่งและความมีอำนาจของสถาบันศาสนานิกายโรมันคาทอลิกอีกด้วย นอกจากนั้นสถาปัตยกรรมแบบบาโรกยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มความเชื่อถือและความศรัทธาในศาสนาโดย ลัทธิเธียไทน์ (Theatines) และ ลัทธิเยซูอิด (Jesuits) ซึ่งเป็นลัทธิในนิกายโรมันคาทอลิก จนกระทั่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 สถาปัตยกรรมแบบบาโรกก็เริ่มมาอิทธิพลต่อการก่อสร้างชนิดอื่นเช่นพระราชวังโดยเริ่มที่ประเทศฝรั่งเศส เช่นที่ปราสาทเมซองส์ (Château de Maisons) (ค.ศ. 1642) ใกล้ปารีส ออกแบบโดย ฟรองซัว มองซาร์ (François Mansart) และเผยแพร่ไปสู่ประเทศอื่นๆในยุโรป



ที่มาและลักษณะของสถาปัตยกรรมบาโรก

ปราสาทริเออร์ (Palace of Trier) ประเทศเยอรมันีสิ่งก่อสร้างแบบโรมันโดยไมเคิล แอนเจโลโดยเฉพาะมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่กรุงโรมถือว่าเป็นที่มาของสถาปัตยกรรมแบบบาโรกเพราะเป็นการออกแบบสิ่งก่อสร้างใหญ่ที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่ไม่เคยทำกันมาก่อน จิอาโคโม เดลลา ปอร์ตา (Giacomo della Porta) ผู้เป็นลูกศิษย์ของมีเกลันเจโลใช้ลักษณะเดียวกันนี้ต่อมา โดยเฉพาะด้านหน้าของวัดอิลเยซู (Il Gesu) ของลัทธิเยซูอิด (Jesuit) ซึ่งเป็นบทนำของหน้าวัดซานตาซูซานนา (Santa Susanna) โดย คาร์โล มาเดอร์โน (Carlo Maderno) ซึ่งถือกันว่าเป็นหน้าวัดที่สำคัญสำหรับสมัยบาโรกตอนต้น พอถึงคริสต์ศาสนาที่ 17 สถาปัตยกรรมแบบบาโรกก็เผยแพร่ไปทั่วยุโรปและลาตินอเมริกาซึ่งเผยแพร่โดยพระเยซูอิด

ลักษณะสำคัญๆของสถาปัตยกรรมบาโรกก็ได้แก่

ทางสู่แท่นบูชาที่เคยยาวก็กว้างขึ้นและบางครั้งก็จะเป็นวงกลมเช่นที่วัดวีส์
การใช้แสงสีอย่างนาฏกรรมถ้าไม่เป็นแสงและเงาที่ตัดกัน (chiaroscuro effect) ก็จะเป็นการใช้แสงเสมอกันจากหน้าต่างหลายหน้าต่าง เช่นที่แอบบีไวน์การ์เตน (Weingarten Abbey)
การตกแต่งอย่างหรูหราด้วยเครื่องตกแต่ง เช่น putto ที่ทำด้วยไม้ที่มักจะทาเป็นสีทอง ปูนปลาสเตอร์ ปูนปั้น หินอ่อน การทาสีตกแต่ง (faux finishing)
การใช้จิตรกรรมฝาผนังบนเพดานกลางใหญ่ซึ่งอาจจะเป็นโดม
ด้านหน้าภายนอกมักจะยื่นออกไปจากตรงกลางอย่างเด่นชัด
ภายในจะเป็นโครงสำหรับภาพเขียนและประติมากรรมโดยเฉพาะบาโรกสมัยหลัง
การผสมผสานระหว่างภาพเขียนและสถาปัตยกรรมที่กลืนกันทำให้ลวงตาจนแยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นสิ่งก่อสร้างอันไหนเป็นภาพเขียนและประติมากรรม
การใช้โดมอย่างแพร่หลายในบาวาเรีย สาธารณรัฐเช็ก ยูเครน และ โปแลนด์
การสร้างมาเรียน และ โฮลีทรินิตี คอลัมน์ (Marian และ Holy Trinity columns) ตามจตุรัสกลางเมือง ที่ประเทศคาธอลิคสร้างเพื่อการฉลองความรอดภัยมาจากกาฬโรคระบาดในยุโรป โดยเฉพาะในสาธารณรัฐเช็ก ประเทศสโลวาเกีย และ ประเทศออสเตรีย

สถาปัตยกรรมบาโรกและการขยายอาณานิคม

พระราชวังที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, ประเทศรัสเซียแม้เราจะเห็นว่าสถาปัตยกรรมบาโรกเป็นสถาปัตยกรรมของยุโรปแต่เราต้องไม่ลืมว่าสถาปัตยกรรมบาโรกเกิดขึ้นขณะที่ยุโรปกำลังขยายอาณานิคมฉะนั้นการก่อสร้างจึงมีอิทธิพลไปถึงประเทศในอาณานิคมของยุโรปด้วย ปัจจัยสำคัญในการขยายอาณานิคมก็คือการมีรัฐบาลที่มั่นคงและมีอำนาจเช่น ประเทศฝรั่งเศส หรือ ประเทศสเปน ซึ่งเป็นสองประเทศแรกที่ริเริ่มการขยายตัวในทางนี้[1] อาณานิคมเพิ่มความมั่งคั่งให้กับเจ้าของจากทั้งเงินซึ่งขุดจากเหมืองเช่นที่ ประเทศโบลิเวีย หรือ ประเทศเม็กซิโก และประเทศอื่นๆ และทางการค้าขายสินค้าเช่นน้ำตาลหรือยาสูบ ฉะนั้นจึงเป็นผลให้มีความจำเป็นในการควบคุมเส้นทางการค้าขาย สร้างระบบการซื้อขายแบบผูกขาด และการค้าขายทาสเพื่อใช้เป็นแรงงานในประเทศอาณานิคม ระบบต่างเหล่านี้ส่วนใหญ่จะควบคุมโดยประเทศฝรั่งเศสระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17 สิ่งต่างๆเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดมีสงครามระหว่างมหาอำนาจอาณานิคม เช่น “สงครามศาสนาของฝรั่งเศส” (French Religious Wars) “สงครามสามสิบปี” (Thirty Years' War) ระหว่างปี ค.ศ. 1618 ถึงปี ค.ศ.1648 “สงครามฝรั่งเศส-สเปน” (Franco-Spanish War) และ “สงครามเนเธอร์แลนด์” (Dutch War) ระหว่างปี ค.ศ. 1672 ถึงปี ค.ศ.1678 และอื่นๆ

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ประเทศสเปนประสพความล้มเหลวในการบริหารทรัพย์สินที่ได้จากอาณานิคมทำให้ต้องล้มละลาย และต้องใช้เวลาในฟี้นตัวจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ฉะนั้นถึงแม้ว่าสเปนจะเต็มใจยอมรับสถาปัตยกรรมบาโรก แต่ก็ทำได้เพียงผิวเผินเพราะขาดปัจจัย ซึ่งแตกต่างจากประเทศฝรั่งเศสหรือออสเตรียที่เราจะเห็นการก่อสร้างวังใหญ่โตและสำนักสงฆ์กันอย่างแพร่หลายกันในระยะเวลาเดียวกัน ตรงกันข้ามกับสเปนฝรั่งเศสภายใต้การนำของ ฌอง แบ๊ปติสต์ โคลแบร์ (Jean Baptiste Colbert) รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ระหว่างปี ค.ศ. 1619 ถึงปี ค.ศ. 1683 โคลแบร์นำการอุตสาหกรรมเข้ามาปรับปรุงเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสได้ผลประโยชน์อย่างเต็มที่ อันเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมและสิ่งก่อสร้างและศิลปะ แต่สิ่งที่มากับความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจก็คือภาวะเงินเฟ้อซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อน พูดง่ายๆ คือคนรวยก็รวยมากขึ้นคนจนก็จนลง เช่นจะเห็นได้จากกรุงโรมที่มีชื่อเสียงว่ามีวัดหรูหรามากมายแต่ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยขอทาน[2]


สถาปัตยกรรมบาโรกในประเทศต่างๆ

ประเทศอิตาลี - โรมและอิตาลีตอนใต้

จัตุรัสหน้ามหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่กรุงโรม
ผังวัดซานคาร์โลอัลเลอควอโตรฟอนทาเน โดย บอโรมินิสถาปัตยกรรมบาโรกเริ่มมาจากสถาปัตยกรรมในอิตาลีเช่นบาซิลิกา สิ่งก่อสร้างชิ้นแรกที่แยกตัวมาจากลักษณะแมนเนอริสม์ คือวัดซานตาซูซานนาซึ่งออกแบบโดย คาร์โล มาเดอร์โน จังหวะการวางโครงสร้างของเสา โถงกลาง และ การตกแต่งภายในทำให้สิ่งก่อสร้างเพิ่มความซับซ้อนขึ้น และการริเริ่มความมีลูกเล่นภายในกฏของโครงสร้างแบบคลาสสิค

สถาปัตยกรรมบาโรกจะเน้นความยืดหยุ่น ความต่อเนื่อง และ ความเป็นนาฏกรรมของสิ่งก่อสร้างซึ่งจะเห็นได้จากผลงานวัดซานลูคาและซานตามาร์ตินา (San Luca e Santa Martina) และวัดซานตามาเรียเดลลาพาเซ[1] (Santa Maria della Pace) โดย เปียโตร ดา คอร์โตนา (Pietro da Cortona) ที่สร้างเมื่อ ปี ค.ศ. 1656 โดยเฉพาะด้านหน้าวัดซานตามาเรียเดลลาปาเซซึ่งเป็นโค้งยื่นออกไปสู่จัตุรัสแคบๆหน้าวัด ทำให้เหมือนฉากโรงละคร การผสมผสานลักษณะศิลปะโรมันเข้าไปในสมัยนี้ทำให้มีสิ่งก่อสร้างมีลักษณะสง่าเป็นที่เห็นได้ชัดจากภูมิทัศน์เมืองรอบสิ่งก่อสร้าง

ตัวอย่างของสิ่งก่อสร้างตามลักษณะนี้คือลาน/จัตุรัสหน้ามหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่กรุงโรม ออกแบบโดย จานลอเรนโซ เบร์นินี ระหว่างปี ค.ศ. 1656 ถึงปี ค.ศ. 1667 ซึ่งถือกันว่าเป็นงานชิ้นเอกของสถาปัตยกรรมบาโรกที่เพิ่มความเด่นชัดของภูมิทัศน์เมืองโรม ตัวจัตุรัสเป็นซุ้มโค้งสองด้าน (colonnades) รอบลานกลางทรง trapezoidal เพราะความใหญ่โตและรูปทรงของจัตุรัสที่ดึงเข้าไปสู่ด้านหน้ามหาวิหาร ทำให้ผู้ที่เดินเข้ามาในจัตุรัสมีความรู้สึกเกรงขามหรือทึ่ง ผังที่เบร์นินีเองชอบคือวัดรูปไข่ซานอันเดรียอาลควินาลเล (Sant'Andrea al Quirinale) ที่ออกแบบเมื่อปี ค.ศ. 1658 ซึ่งมีแท่นบูชาตระหง่านและโดมสูงเป็นตัวอย่างที่แสดงหัวใจของสถาปัตยกรรมแบบบาโรกได้อย่างกระทัดรัด ตัวอย่างของสถาปัตยกรรมแบบบาโรกสำหรับที่อยู่อาศัยของเบร์นินีก็ได้แก่วังบาร์เบรินี (Palazzo Barberini) ออกแบบเมื่อปี ค.ศ. 1629 และวังชิจิ (Palazzo Chigi-Odescalchi) ออกแบบเมื่อปี ค.ศ. 1664

คู่แข่งคนสำคัญของเบร์นินีที่โรมคือ ฟรานเซสโก บอโรมินิ ซึ่งงานของเขาจะแยกแนวไปจากการจัดองค์ประกอบตามสถาปัตยกรรมแบบแผนโบราณและสถาปัตยกรรมฟื้นฟูศิลปวิทยาเป็นอย่างมาก สถาปัตยกรรมของบอโรมินิจะหนักไปทางนาฏกรรมมากกว่าแบบแผนเดิมซึ่งในภายหลังถือว่าเป็นการปฏิวัติทางสถาปัตยกรรมหลังจากที่ถูกโจมตีในคริสต์ศตวรรษที่ 16 บอโรมินินิยมใช้การจัดรูปแบบจากรูปทรงเรขาคณิตต่างๆ อย่างซับซ้อน ช่องว่างภายในของจะขยายออกหรือหดตัวตามที่บอโรมินิจะจัดซึ่งมาเชื่อมต่อกับลักษณะการออกแบบระยะต่อมาโดยมิเกลันเจโล ผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของบอโรมินิคือวัดซานคาร์โลอัลเลอควอโตรฟอนทาเน (San Carlo alle Quattro Fontane) ซึ่งจะเห็นได้จากผังที่เป็นรูปไข่และการเล่นโค้งเว้าโค้งนูน ผลงานระยะต่อมาที่วัดซานอิโวอัลลาซาพิเอ็นซา[2] (Sant'Ivo alla Sapienza) บอโรมินิหลีกเลี่ยงการใช้ผืนผิวเรียบที่ไม่มีการตกแต่งโดยการเติมสิ่งต่างจะเห็นได้จากโดมจุกคอร์กทรงตะเกียงบนหลังคาวัด

หลังจากบอโรมินิเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1640 คาร์โล ฟอนตานา (Carlo Fontana) ก็กลายมาเป็นสถาปนิกที่มีอิทธิพลมากที่สุดในกรุงโรม ลักษณะผลงานระยะแรกจะเห็นได้จากฟาซาด (Façade) ที่โค้งเว้าเล็กน้อยด้านหน้าวัดซานมาร์เชลโลอาลคอร์โซ[3] (San Marcello al Corso) ลักษณะงานของฟอนทานา -- ถึงแม้ว่าจะขาดความแปลกใหม่เหมือนสถาปนิกรุ่นเดียวกัน -- แต่ก็มีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมแบบบาโรกมากจากงานมากมายที่เขาเขียนและสถาปนิกที่ฟอนทานาฝึก ซึ่งเป็นกลุ่มที่เผยแพร่ลักษณะบาโรกไปทั่วยุโรปตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 18

คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นศตวรรษที่เมืองหลวงของสถาปัตยกรรมแบบบาโรกย้ายจากโรมไปปารีส สถาปัตยกรรมแบบโรโคโคที่รุ่งเรืองที่โรมราวปี ค.ศ. 1720 เป็นต้นมาเป็นสถาปัตยกรรมที่มีอิทธิพลอย่างมากมาจากความคิดของบอโรมินิ สถาปนิกที่มีชื่อที่สุดในกรุงโรมสมัยนั้นก็มีฟรานเชสโก เดอ ซองตีส์ (Francesco de Sanctis) ผู้สร้างบันไดสเปน เมื่อปี ค.ศ. 1723 และ ฟิลิปโป รากุซซินิ (Filippo Raguzzini) ผู้สร้างจัตุรัสเซ็นต์อิกนาซิโอ เมื่อ ค.ศ. 1727) สถาปนิกสองคนนี้มีอิทธิพลเฉพาะในอิตาลี ไม่เช่นสถาปนิกบาโรกซิซิลีรวมทั้งจิโอวานนี บัททิสตา วัคคารินิ (Giovanni Battista Vaccarini) อันเดรีย พาลมา (Andrea Palma) และจุยเซ็พพี เวนาซิโอ มาร์วูเกลีย (Giuseppe Venanzio Marvuglia) ที่มีอิทธิพลนอกเหนือจากอิตาลี

สถาปัตยกรรมบาโรกช่วงหลังในอิตาลีจะเห็นได้จากวังคาเซอร์ตา[4] (Caserta Palace) โดยลุยจิ แวนวิเทลลิ (Luigi Vanvitelli) ซึ่งว่ากันว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นลักษณะที่มีอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมบาโรกของฝรั่งเศสและสเปน ตัวอาคารวางเข้ากันกับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ลักษณะของสิ่งก่อสร้างของแวนวิเทลลิที่เนเปิลส์และคาเซอร์ตาเป็นแบบที่ค่อนข้างเรียบแต่ก็รักษาความสวยงามไว้ซึ่งเป็นลักษณะที่เอื้อต่อการวิวัฒนาการไปเป็นสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิคในสมัยต่อมา


ประเทศอิตาลี - ภาคเหนือ

ด้านหน้าวังคาริยาโน โดย ฟรานเซสโก บอโรมินิทางภาคเหนือของอิตาลีเจ้านายราชวงศ์ซาวอยทรงนิยมสถาปัตยกรรมบาโรกจึงจ้าง กัวริโน กัวรินี ฟิลิปโป จูวาร์รา (Filippo Juvarra) และ เบอร์นาร์โด วิทโทเน (Bernardo Vittone) ในการสร้างสิ่งก่อสร้างที่แสดงถึงอำนาจทางการเมืองที่ราชวงศ์นี้เพิ่งได้รับมา

กัวรินีเดิมเป็นพระใช้ความชำนาญทางสถาปัตยกรรมกอธิคเดิมเป็นพื้นฐานในการสร้างสิ่งก่อสร้างที่รูปทรงไม่สมมาตร โดยการใช้เสารูปใข่หรือการทำด้านตกแต่ง (Façade)ที่ผิดแปลกไปจากจากที่เคยทำกันมา โดยสร้างลักษณะที่เรียกกันว่า “architectura obliqua” ซึ่งนำมาจากลักษณะของฟรานเซสโก บอโรมินิทั้งรูปทรงและโครงสร้าง วังคาริยาโน (Palazzo Carignano) ที่กัวรินีสร้างเมือปี ค.ศ. 1679 ถือว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่หรูหราที่สุดในการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยในคริสต์ศตวรรษที่ 17

ลักษณะสิ่งก่อสร้างของฟิลิปโป จูวาร์ราจะดูเบาเหมือนลอยได้ซึ่งเป็นลักษณะที่พบในศิลปะแบบโรโคโค งานออกแบบชิ้นที่สำคัญที่สุดเป็นงานที่ทำให้กับวิคทอร์ อามาเดอุสที่ 2 แห่งซาร์ดิเนีย ทัศน์ศิลป์ของบาซิลิกาซุเพอร์กาที่จูวาร์ราสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1717 มีอิทธิพลมาจากตึกเด่นๆ และเนินเขาบริเวณตูริน ตัวบาซิลิกาเองตั้งเด่นอยู่บนเขาเหนือตัวเมืองซึ่งเป็นลักษณะที่มีอิทธิพลต่อการสร้างบ้านพักล่าสัตวฺ์ สำหรับวังสตูปินยิ (Palazzina di Stupinigi) เมื่อปี ค.ศ. 1729 งานของจูวาร์รามีอิทธิพลนอกเหนือไปจากบริเวณตูริน ซึ่งจะเห็นได้จากงานสุดท้ายที่ทำคือพระราชวังลากรานฮา[5] (La Granja) ที่มาดริด ประเทศสเปน สำหรับพระเจ้าฟิลลิปที่ 5 แห่งสเปน และพระราชวังอรานฮูซ[6] (Palacio Real de Aranjuez)

แต่ผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากกัวรินี และจูวาร์รามากที่สุดเห็นจะเป็นเบอร์นาร์โด วิทโทเน สถาปนิกชาวพีดมอนท์ผู้สร้างวัดแบบโรโคโคไว้มาก ผังจะเป็นสี่กลีบและใช้รายละเอียดมากในการตกแต่ง แบบของวิทโทเนจะซับซ้อนเป็นเพดานโค้งซ้อนกันหลายชั้น โครงสร้างซ้อนโครงสร้าง และโดมซ้อนโดม


ประเทศฝรั่งเศส

พระราชวังเบล็นไฮม์ อังกฤษ ใช้การวางผังแบบ ห้องสำคัญๆ อยู่ตรงกลาง สำนักงานและครัวอยู่ในปีกข้าง
วังไมซองส์ใกล้ปารีส โดยฟรองซัว มองซาร์ ค.ศ. 1642
โวเลอวิคองเทใกล้ปารีสโดยหลุยส์ เลอ โว และ อันเดร เลอ โนเตรอ เมื่อ ค.ศ.1661
เลออินแวลีด (Les Invalides) ที่ปารีส โดยจุลส์ อาร์ดวง มองซาร์ ค.ศ. 1676ศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมบาโรกสำหรับที่อยู่อาศัยก็เห็นจะต้องเป็นประเทศฝรั่งเศส การออกแบบวังมักเป็นผังแบบสามปีกรูปเกือกม้าที่เริ่มทำกันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 แต่สิ่งก่อสร้างที่มีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมบาโรกที่แท้จริงคือ วังลักเซมเบิร์กซึ่งออกแบบโดย ซาโลมอน เดอ โบร (Salomon de Brosse) ที่เป็นลักษณะไปทางคลาสสิคซึ่งเป็นลักษณะบาโรกของฝรั่งเศส หลักการจัดองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างก็จะให้ความสำคัญกับบริเวณหลักเช่นห้องรับรอง เป็นบริเวณสำคัญที่สุด (corps de logis) การจัดลักษณะนี้เริ่มทำกันเป็นครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศส ขณะที่ห้องทางปีกที่ใกลออกไปจากห้องหลักจะค่อยลดความสำคัญลงไปตามลำดับ หอแบบยุคกลางมาแทนที่ด้วยมุขที่ยื่นออกมาตรงกลางสิ่งก่อสร้างซึ่งอาจจะเป็นประตูมหึมาสามชั้นเป็นต้น

งานของเดอ โบรเป็นงานผสมระหว่างลักษณะแบบฝรั่งเศส (สูงลอย หลังคาแมนซารด์[7] (Mansard) และหลังคาที่ซับซ้อน) กับลักษณะแบบอิตาลีที่คล้ายกับวังพิตติ[8]ที่ฟลอเรนซ์ทำให้กลายมาเป็นลักษณะที่เรียกว่า “ลักษณะหลุยส์ที่ 13” ผู้ที่ใช้ลักษณะนี้ได้ดีที่สุดก็เห็นจะเป็นฟรองซัวส์ มองซาร์ผู้ที่ถือกันว่าเป็นผู้นำสถาปัตยกรรมบาโรกเข้ามาในฝรั่งเศส เมื่อออกแบบวังไมซองส์ (Château de Maisons) เมื่อปี ค.ศ. 1642 มองซาร์สามารถนำทฤษฎีการก่อสร้างทั่วไปและแบบบาโรกมาปรับให้เข้ากับลักษณะกอธิคที่ยังหลงเหลือภายในการก่อสร้างแบบฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี

วังไมซองส์แสดงให้เราเห็นถึงการค่อยๆ แปลงจากสถาปัตยกรรมหลังยุคกลางของวังในคริสต์ศตวรรษที่ 16 มาเป็นลักษณะแบบคฤหาสน์ชนบทในคริสต์ศตวรรษที่ 18 โครงสร้างเป็นสัดส่วนแบบสมมาตรและใช้เสาตกแต่งทุกชั้นอย่างเป็นระเบียบ ส่วนใหญ่จะเป็นเสาอิง ด้านหน้าตกแต่งด้วยชายคาที่ดูราวกับว่ามีความยืดหยุ่น ทำให้สิ่งก่อสร้างทั้งหมดดูเหมือนสามมิติ แต่โครงสร้างของมองซาร์จะ “ปอก” สิ่งตกแต่งที่ “รก” ที่มักจะใช้ในสถาปัตยกรรมบาโรกแบบโรมออก

ขั้นต่อไปในการวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยคือการใช้สวนเป็นองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างเช่นที่โวเลอวิคองเท (Vaux-le-Vicomte) ซึ่งมีหลุยส์ เลอ โว (Louis Le Vau) เป็นคนออกแบบ ชาร์ล เลอ บรุนเป็นสถาปนิก และอันเดร เลอ โนเตรอ (André Le Nôtre) เป็นช่างออกแบบสวนซึ่งแต่ละองค์ประกอบผสมผสานกลมกลืนกัน ตัวอาคารตกแต่งด้วยลักษณะที่เรียกว่า “colossal order” ที่ทำให้สิ่งก่อสร้างมีความน่าประทับใจมากขึ้น ความร่วมมือระหว่างหลุยส์ เลอ โว และ เลอ โนเตรอ เป็นผลที่เรียกว่า “Magnificent Manner” ซึ่งทำให้เกิดสิ่งก่อสร้างนอกวังหลวงที่กลายมาเป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่คำนึงถึงเฉพาะแต่สิ่งก่อสร้างเท่านั้นแต่ยังใช้ “ภูมิสถาปัตยกรรม” ในการเพิ่มความน่าดูของสิ่งก่อสร้างด้วย

สถาปนิกสามคนนี้ต่อมาก็เป็นผู้สร้างพระราชวังแวร์ซายซึ่งก็คือโวเลอวิคองเทที่ขยายใหญ่ขึ้น และกลายมาเป็นวังที่มีผู้สร้างเลียนแบบกันมากในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เช่นที่มานไฮม์ (Mannheim) นอร์ดเคิชเชน (Nordkirchen) และ โดรทนิงโฮลม (Drottningholm) ในประเทศเยอรมันี

การขยายครั้งสุดท้ายของพระราชวังแวร์ซายทำโดย จุลส์ อาร์ดวง มองซาร์ (Jules Hardouin-Mansart) ผู้เป็นคนสำคัญในการออกแบบ โดมเดออินแวลีด (Les Invalides) ซึ่งถือกันว่าเป็นวัดที่สำคัญที่สุดในศตวรรษนั้นของฝรั่งเศส อาร์ดวง มองซาร์ ได้รับประโยชน์จากคำสอนของฟรองซัว มองซาร์ผู้เป็นลุง ซึ่งเป็นการสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อนในประเทศทางตอนเหนือของอิตาลี และการใช้โดมครึ่งวงกลมบนโครงสร้างที่มั่นคงที่ดูแล้วมิได้แสดงสัดส่วนที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งก่อสร้าง จุลส์ อาร์ดวงมิได้แต่ปรับปรุงทฤษฎีของลุงเท่านั้นแต่ยังวางรากฐานการก่อสร้างแบบบาโรกลักษณะฝรั่งเศสด้วย

ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ก็เริ่มปฏิกิริยาต่อลักษณะสถาปัตยกรรมแบบพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยเปลี่ยนมาเป็นรูปลักษณะที่ละเอียดอ่อนช้อยและเป็นกันเองกว่าเดิมที่เรียกกันว่า “ศิลปะโรโคโค” ผู้ริเริ่มการใช้ลักษณะนี้คือนิโคลัส พินเนอ (Nicholas Pineau) ผู้ร่วมมือกับจุลส์ อาร์ดวง มองซาร์ตกแต่งภายในวังมาร์ลี[9] (Château de Marly) ศิลปินอื่นที่สร้างงานแบบโรโคโคคือปิแอร์ เลอ โปเตรอ (Pierre Le Pautre) และ จุสต์ โอเรย์ เมซองนิเยร์ (Juste-Aurèle Meissonier) ผู้สร้าง “genre pittoresque” ภายในวังชองติลลี (Château de Chantilly) เมื่อปี ค.ศ. 1722 และโอเต็ลเดอซูบีส์ (Hôtel de Soubise) เมื่อปี ค.ศ. 1732 ซึ่งการตกแต่งที่ใช้เครื่องตกแต่งและลวดอย่างมากมายและหรูหราจนเกินเลยไป ซึ่งทำให้ลดความสำคัญทางโครงร่างของสถาปัตยกรรมการแบ่งส่วนภายในลงไปมาก


มอลตา

ผังเมืองหลวงวัลเลตตา มอลตา
ตึกเทศบาลเมืองอัมสเตอร์ดัม โดยเจคอป แวน แค็มเพ็น ค.ศ. 1646ผังเมืองวาลเลททาซึ่งเป็นเมืองหลวงของ ประเทศมอลตาวางเมื่อปี ค.ศ. 1566 เพื่อเป็นเมืองรับศึกของ “Knights of Malta” เดิมคือ “Knights of Rhodes” ผู้มายึดเกาะมอลตาหลังจากถูกขับจากโรดส์โดยกองทัพทหารอิสลาม ตัวเมืองออกแบบโดยฟรานเชสโก ลาปาเรลลี (Francesco Laparelli) เป็นผังเมืองแบบตารางและใช้เวลาสร้างราวร้อยปี อันเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เราเห็นถึงการวางผังเมืองแบบบาโรก หอมหึมาที่เมื่อสร้างเป็นหอที่ทันสมัยที่สุดก็ยังอยู่อย่างครบถ้วน เพราะความสมบูรณ์แบบทางสถาปัตยกรรมที่หาดูได้ยากเมืองวาลเลททาจึงได้รับเลือกโดยองค์การยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 1980


เนเธอร์แลนด์
ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 สถาปัตยกรรมแบบบาโรกเกือบไม่มีอิทธิพลในประเทศเนเธอร์แลนด์ สถาปัตยกรรมของสาธารณะรัฐทางตอนเหนือของยุโรปเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงคุณค่าของประชาธิปไตยของประชาชนมิใช่เพื่อเป็นการแสดงอำนาจของเจ้าของผู้สร้าง สถาปัตยกรรมก็จะสร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิค ซึ่งคล้ายกับการวิวัฒนาการในอังกฤษสถาปัตยกรรมแบบพาเลเดียนของเนเธอร์แลนด์จะดูทะมึนและรัดตัว สถาปนิกที่สำคัญสองคน เจคอป แวน แค็มเพ็น (Jacob van Campen) และ เปียร์เตอร์ โพสต์ (Pieter Post) ใช้การผสมผสานของเสาใหญ่ หน้าจั่วแหลม การตกแต่งหน้าบัน และยอดแหลมในสิ่งก่อสร้าง ซึ่งเป็นลักษณะที่มีลักษณะแบบเดียวกับของคริสโตเฟอร์ เร็นสถาปนิกอังกฤษ

งานที่ใหญ่ๆ ในสมัยนั้นก็ได้แก่ตึกเทศบาลเมืองอัมสเตอร์ดัม ออกแบบเมื่อ ค.ศ. 1646 โดยแค็มเพ็นและ มาสตริชท์ (Maastricht) สร้างเมื่อค.ศ. 1658 วังต่างๆ ของราชวงศ์ออเร็นจ์ (House of Orange) จะละม้ายคฤหาสน์ของผู้มีอันจะกินมากกว่าจะเป็นวัง เช่นวัง Huis ten Bosch และ Mauritshuis เป็นทรงบล็อกสมดุลประกอบด้วยหน้าต่างใหญ่ ไม่มีการตกแต่งหรูหราแบบบาโรก ความขึงขังแบบเรขาคณิตนี้ก็ใช้ที่วังฤดูร้อน Het Loo

รัฐเนเธอร์แลนด์เป็นรัฐหนึ่งที่มีอำนาจมากในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในยุโรปฉะนั้นอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของเนเธอร์แลนด์จึงมีความสำคัญต่อยุโรปตอนเหนือ สถาปนิกจากเนเธอร์แลนด์ถูกจ้างให้สร้างโครงการใหญ่ๆ ทางตอนเหนือของประเทศเยอรมนี สแกนดิเนเวีย และประเทศรัสเซียโดยใช้ลักษณะการก่อสร้างบาโรกแบบเนเธอร์แลนด์ นอกจากนั้นสถาปัตยกรรมอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ก็ยังไปรุ่งเรืองที่ลุ่มแม่น้ำฮัดสันในสหรัฐอเมริกา สังเกตได้จากบ้านอิฐแดงหน้าจั่วแหลมซึ่งยังคงพบเห็นได้ที่ Willemstad ที่ Netherlands Antilles


ประเทศเบลเยียม

Carolus-Borromeuskerk ที่อันท์เวิร์พ
โรงพยาบาลกรีนนิช โดย คริสโตเฟอร์ เร็น ค.ศ. 1694สถาปัตยกรรมแบบบาโรกทางตอนใต้ของประเทศเนเธอร์แลนด์หรือในปัจจุบันเป็นประเทศเบลเยียมแตกต่างจากทางบริเวณโปรเตสแตนต์ทางเหนือ หลังจาก “การสงบศึกสิบสองปี” ระหว่างปี ค.ศ. 1609 ถึงปี ค.ศ. 1621 ภาคใต้ของเนเธอร์แลนด์ยังอยู่ในการยึดครองของโรมันคาทอลิกปกครองโดยกษัตริย์สเปนราชวงศ์แฮ็บสเบิร์กฟลานเดอร์ส สถาปัตยกรรมทางบริเวณนี้เป็นแบบการปฏิรูปศาสนาซ้อนของนิการโรมันคาทอลิก (Counter Reformation) สถาปนิกฟลานเดอร์สเช่นเว็นเซล เคอเบิรกเกอร์ (Wenzel Coebergher) ได้รับการฝึกที่อิตาลีและผลงานก็มีอิทธิพลจากจาโกโม บารอซซี ดา วินยอลาและจาโกโม เดลลา พอร์ตา (Giacomo della Porta) งานชิ้นสำคัญของเคอเบิรกเกอร์คือมหาวิหารเชิรพเพนฮูเวล (Basilica of Our Lady of Scherpenheuvel-Zichem) ซึ่งเป็นทรงเจ็ดเหลี่ยมออกแบบเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของเมืองใหม่

อิทธิพลของจิตรกรปีเตอร์ พอล รูเบนส์ก็มีส่วนสำคัญทางสถาปัตยกรรม ในหนังสือ “I Palazzi di Genova” รูเบนส์นำลักษณะการก่อสร้างและการตกแต่งแบบใหม่ของอิตาลีมายังทางใต้ของประเทศเนเธอร์แลนด์ การสร้างลานคอร์ทยาร์ทและซุ้มที่บ้านของรูเบนส์เองที่อันทเวิร์พเป็นตัวอย่างที่ดีของงานทางสถาปัตยกรรมของรูเบนส์ นอกจากนั้นรูเบนส์ยังมีส่วนในการตกแต่งวัดลัทธิเยซูอิดที่เป็นการตกแต่งอย่างอลังการตามแบบบาโรกซึ่งประกอบด้วยรูปปั้นและภาพเขียนที่เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม


อังกฤษ
ในขณะที่สถาปัตยกรรมแบบบาโรกที่มีบทบาทอย่างกว้างขวางในฝรั่งเศสระหว่างกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในอังกฤษเกือบจะไม่มีอิทธิพลใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะในระหว่างสมัยการปกครองของออลิเวอร์ ครอมเวลล์ และ สมัย “ฟื้นฟูราชวงศ์ (English Restoration) สิบปีระหว่างการเสียชีวิตของสถาปนิกภูมิทัศน์อินิโก โจนส์เมื่อปี ค.ศ. 1652 กับเมื่อคริสโตเฟอร์ เร็นไปเยี่ยมปารีสเมื่อปี ค.ศ. 1665 อังกฤษไม่มีสถาปนิกคนใดที่สำคัญพอที่จะกล่าวถึงได้ ฉะนั้นความสนใจในสถาปัตยกรรมยุโรปที่จะเข้ามาในอังกฤษจึงมีน้อย

คริสโตเฟอร์ เร็นกลายมาเป็นเจ้าตำรับของสถาปัตยกรรมบาโรกแบบอังกฤษ ซึ่งมึลักษณะต่างกับสถาปัตยกรรมบาโรกแบบยุโรปทางการออกแบบและการแสดงออกซึ่งจะไม่มีลูกเล่นเช่นแบบเยอรมนี หรืออิตาลี และลักษณะของเร็นออกจะไปทางสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิคมากกว่า หลังจากที่เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในลอนดอน ค.ศ. 1666 เร็นก็ได้รับสัญญาการก่อสร้างวัด 53 วัดในลอนดอน ซึ่งเร็นใช้สถาปัตยกรรมแบบบาโรกเป็นฐาน งานชิ้นใหญ่ที่สุดก็เห็นจะเป็นมหาวิหารเซนต์พอล ซึ่งเปรียบได้กับสึ่งก่อสร้างแบบโดมอื่นๆ เช่นในประเทศอิตาลีและฝรั่งเศส ลักษณะใหม่นี้เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบพาเลเดียนของอินิโก โจนส์กับสถาปัตยกรรมแบบบาโรกจากแผ่นดินใหญ่ยุโรปได้อย่างเหมาะเจาะ

นอกจากวัดแล้วคริสโตเฟอร์ เร็นก็ยังเป็นสถาปนิกในการสร้างสิ่งก่อสร้างสำหรับที่อยู่อาศัยด้วย คฤหาสน์ชนบท[10] (Country house)แบบบาโรกแห่งแรกที่สร้างๆ ตามแบบของสถาปนิกวิลเลียม ทาลมัน (William Talman) คือบ้านแช็ทเวิร์ธ[11] (Chatsworth House) ซึ่งเริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1687 ลักษณะแบบบาโรกมาเริ่มใช้โดยสถาปนิกจอห์น แวนบรูห์ (John Vanbrugh) และนิโคลัส ฮอคสมอร์ (Nicholas Hawksmoor) ถึงแม้ว่าทั้งสองคนจะมีความสามารถในการแสดงออกทางแบบบาโรกแต่มักจะไม่ทำงานพร้อมกันเช่นงานที่วังโฮวาร์ด[12] (Castle Howard) เมื่อ ค.ศ. 1699 และวังเบล็นไฮม์[13] (Blenheim Palace) เมื่อ ค.ศ. 1705

แม้ว่าสิ่งก่อสร้างทั้งสองแห่งอาจจะมีลักษณะออกจะจืดและเรียบเมื่อเทียบกับแบบบาโรกอิตาเลียนแต่สำหรับสายตาอังกฤษสิ่งก่อสร้างทั้งสองแห่งนี้ก็มีลักษณะเด่นสง่า วังโฮวาร์ดเป็นตึกใหญ่มีโดมเหนือสิ่งก่อสร้างซึ่งถ้าเอาไปตั้งที่เดรสเด็นหรือมิวนิคในเยอรมันนีก็จะไม่เหมาะ วังเบล็นไฮม์จะหนาหนักกว่าตกแต่งด้วยซุ้มหินโค้ง งานชิ้นสุดท้ายของแวนบรูห์คือวังซีตันเดอลาวาล[14] (Seaton Delaval Hall) เมื่อ ค.ศ. 1718 ซึ่งเป็นบ้านขนาดเล็กเมื่อเทียบกับที่อื่นแต่ก็มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ที่แวนบรูห์ผู้เป็นนักเขียนบทละครแสดงฝีมืออย่างเต็มที่โดยแสดงให้เห็นความคล้ายคลึงของสถาปัตยกรรมแบบบาโรกกับโรงละคร แม้แวนบรูห์จะพยายามอย่างเต็มที่ในการเผยแพร่สถาปัตยกรรมแบบบาโรกในอังกฤษ แต่ก็มิได้เป็นที่นิยมกันนัก


สแกนดิเนเวีย

วังแบบฝรั่งเศสสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17เป็นตัวอย่างของการออกแบบคฤหาสน์ในชนบททั่วทางตอนเหนือของยุโรป
วังโดรทนิงโฮล์ม โดยเทสซินแสดงในให้เห็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสผสมสวีเดน
มหาวิหารคาลมาร์, ประเทศสวีเดน
อามาเลียนบอร์ก บริเวณบาโรกกลางเมืองโคเปนเฮเกน, ประเทศเดนมาร์ก
ออกัสตัสเบิร์กซึ่งเป็นตัวอย่างของวังแบบบาโรกจากบริเวณนอร์ธไรน์เวสเฟเลีย, ประเทศเยอรมนีระหว่างยุคทองของราชอาณาจักรสวีเดนสถาปัตยกรรมของประเทศในสแกนดิเนเวียได้รับอิทธิพลจากนิโคเดอมัส เทสซิน ผู้พ่อ (Nicodemus Tessin the Elder) และ นิโคเดอมัส เทสซิน ผู้ลูก (Nicodemus Tessin the Younger) ผู้เป็นสถาปนิกประจำราชสำนักของสวีเดน แบบของเทสซินเป็นที่ยอมรับกันในประเทศทางบอลติก รวมทั้งโคเปนเฮเกน และ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

เทสซิน ผู้พ่อเกิดที่ประเทศเยอรมนีเป็นผู้สร้างลักษณะสถาปัตยกรรมแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของสวีเดนซึ่งผสมระหว่างสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสร่วมสมัยและลักษณะบอลติกยุคกลาง การออกแบบวังโดรทนิงโฮล์ม (Drottningholm Palace) เป็นการใช้ลักษณะฝรั่งเศสและอิตาลีแต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีลักษณะของสแกนดิเนเวียเช่นหลังคาเป็นแบบ “hipped roof”

เทสซิน ผู้ลูกรักษาลักษณะเดียวกับพ่อ ที่จะทำด้านหน้าสิ่งก่อสร้างที่ค่อนข้างเรียบ การออกแบบวังสตอกโฮล์มเป็นอิทธิพลโดยตรงของผังพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ของจานลอเรนโซ เบร์นินีที่มิได้สร้างตามแผนของเบร์นินี ซึ่งทำให้นึกภาพวังสตอกโฮล์มตั้งอยู่อย่างเหมาะสมที่เนเปิลส์ เวียนนา หรือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้ไม่ยาก อีกตัวอย่างหนึ่งของเทสซิน ผู้ลูกที่เรียกกันว่าบาโรกนานาชาติซึ่งมาจากรูปแบบสิ่งก่อสร้างโรมันแต่มีส่วนผสมของลักษณะท้องถิ่นเช่นในการสร้างพระราชวังมาดริด[15] อีกตัวอย่างหนึ่งของเทสซิน ผู้ลูกคือมหาวิหารคาลมาร์ (Kalmar cathedral) ซึ่งเป็นแบบบาโรกอิตาลีสมัยต้นรัดรอบด้วยเสาอิงไอโอนิค

บาโรกสวีเดนมีอิทธิพลจนมาถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนเมื่อสถาปัตยกรรมแบบเดนมาร์กและรัสเซียเข้ามามิอิทธิพลแทนที่ งานชิ้นที่เห็นได้ชัดคืองานของนิโคไล เอทเวด (Nicolai Eigtved) เช่นบริเวณอามาเลียนบอร์ก (Amalienborg) กลางเมืองโคเปนเฮเกน ปราสาทประกอบด้วยอาคารสี่เหลี่ยมสี่หลังสำหรับผู้ปกครองที่มีอำนาจสี่กลุ่มในประเทศเดนมาร์ก จัดรอบจัตุรัสแปดเหลี่ยม ด้านหน้าตกแต่งแบบเรียบแต่ภายในเป็นแบบโรโคโคที่ดีที่สุดของทวีปยุโรปตอนเหนือ


จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
สถาปัตยกรรมบาโรกแพร่หลายในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ภายหลังจากบริเวณอื่นในยุโรป แม้ว่าอีลิอาส โฮล (Elias Holl) สถาปนิกจากอ็อกสเบิร์กและนักทฤษฏีเช่นโจเซฟ เฟิรทเท็นบาคผู้พ่อจะเริ่มใช้ลักษณะบาโรกแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีการเผยแพร่มากเพราะสงครามสามสิบปี (Thirty Years' War) แต่ตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1650 เป็นต้นไปงานก่อสร้างก็เริ่มรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งทั้งสถาปัตยกรรมทางศาสนาและที่อยู่อาศัย ในระยะแรกอิทธิพลมาจากช่างหินจากทางใต้ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์และทางเหนือของอิตาลีที่เรียกกันว่า “magistri Grigioni” และสถาปนิกจากลอมบาร์ดี โดยเฉพาะสถาปนิกตระกูลคาร์โลเน (Carlone) จากบริเวณหุบเขาอินเทลวี (Val d'Intelvi) แต่ไม่นานหลังจากนั้นในระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17ออสเตรียก็เริ่มสร้างลักษณะบาโรกที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง โยฮันน์ เบอรนฮาร์ด ฟิชเชอร์ ฟอน แอร์ลาร์ค (Johann Bernhard Fischer von Erlach) มีความประทับใจในงานของจานลอเรนโซ เบร์นินี จนสร้างลักษณะใหม่ที่เรียกว่า “ลักษณะอิมพีเรียล” โดยการนำเอาลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมทั้งหลายในอดีตมารวมกัน ซึ่งจะเห็นชัดจากงานที่วัดเซนต์ชาร์ล โบร์โรเมโอ (St. Charles Borromeo) ที่เวียนนา ทางภาคใต้ของประเทศเยอรมนีจะเป็นอิทธิพลของโยฮันน์ ลูคัส ฟอน ฮิลเดอบรันดท์ (Johann Lucas von Hildebrandt) สถาปนิกอีกผู้หนี่งซึ่งก็ได้รับการฝึกจากอิตาลี

ลักษณะสถาปัตยกรรมบาโรกทางไต้ของเยอรมนีจะแยกจากทางเหนือเช่นเดียวกับการแยกบาโรกแบบโรมันคาทอลิกจากบาโรกแบบโปรเตสแตนต์ ทางบริเวณโรมันคาทอลิกทางใต้วัดเยซูอิดเซนต์ไมเคิลที่มิวนิคเป็นวัดแรกที่นำลักษณะบาโรกแบบอิตาลีเข้ามาในเยอรมนี แต่การวิวัฒนาการจากลักษณะที่นำเข้ามาหรือการแพร่หลายของลักษณะสถาปัตยกรรมที่ว่าก็มิได้มีมากนัก ที่แพร่หลายมากกว่าคือลักษณะที่ปรับปรุงของวัดเยซูอิดเช่นกันที่ดิลลิงเง็น (Dillingen) ที่เป็น “วัดผนัง-เสา” (wall-pillar church) ซึ่งเพดานเป็นเพดานประทุนเหนือทางเดินกลางรายด้วยคูหาสวดมนต์ต์ต์ต์แยกจากกันด้วยผนังและเสา ซึ่งต่างกับวัดเซนต์ไมเคิลที่มิวนิคที่คูหาสวดมนต์ต์ต์ต์ของวัดแบบ “วัดผนัง-เสา” จะสูงพอๆ กับทางเดินกลางและเพดานก็จะยื่นมาจากเพดานของทางเดินกลางในระดับเดียวกัน ภายในคูหาสวดมนต์ต์ต์ต์จะสว่างจากแสงที่ส่องเข้ามาจากทางเข้าของวัด เสาอิงประกอบคูหาแท่นบูชารองทำให้มีวัดมีลักษณะเป็นนาฏกรรมเช่นฉากละคร

“วัดผนัง-เสา” ต่อมาก็พัฒนาโดยสถาปัตยกรรมตระกูลโวราร์เบิร์ก (Vorarlberg) และช่างหินจากบาวาเรีย นอกจากนั้นลักษณะของ “วัดผนัง-เสา” ยังผสมผสานได้ดีกับกับ “วัดโถง” (Hall church) ที่ใช้กันในสมัยปลายกอธิค วัดลักษณะนี้ยังสร้างกันต่อมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนอาจจะเรียกได้ว่ามาถึงสมัยฟื้นฟูคลาสสิคเช่นที่เห็นได้จากวัดที่แอบบีโรทอันเดอโรท (Rot an der Rot Abbey) นอกจากนั้น “วัดผนัง-เสา” ยังเป็นโครงสร้างที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ง่ายโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิมมากเช่นจะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงที่วัดดิลลิงเง็น

นอกจากนั้นวัดแบบบาโรกแบบโรมันคาทอลิกยังได้รับอิทธิพลจากสิ่งอื่นเช่นที่เรียกกันว่า “บาโรกปฏิวัติ” (radical Baroque) ของโบฮีเมีย “บาโรกปฏิวัติ” ของคริสตอฟ ดินเซนฮอฟเฟอร์ และลูกชาย คริสตอฟ ดินเซนฮอฟเฟอร์ ซึ่งขณะนั้นอาศัยอยู่ที่ปรากก็ได้รับอิทธิพลจากทางเหนือของอิตาลีโดยเฉพาะจากงานของ กัวริโน กัวรินี ซี่งจะเป็นลักษณะที่ใช้ผนังโค้งและการใช้ช่องว่างภายในเป็นรูปใข่ตัดกัน ในขณะเดียวกันเราก็จะเห็นอิทธิพลของโบฮีเมียในงานของสถาปนิกคนสำคัญคือโยฮันน์ ไมเคิล ฟิชเชอร์ (Johann Michael Fischer) ที่ใช้ระเบียงโค้งใน “วัดผนัง-เสา” แรกๆ ที่สร้าง หรืองานของ โยฮันน์ บาลทาซาร์ น็อยมัน ซึ่งถือว่าเป็นงานที่สุดท้ายที่แสดงลักษณะโบฮีเมียผสมเยอรมนี

สถาปัตยกรรมบาโรกเกือบจะไม่มีอิทธิพลใดๆ กับคริสต์ศาสนสถานของนิกายโปรเตสแตนต์ และเกือบไม่มีผลงานที่เด่นๆที่ควรจะกล่าวถึงนอกจากที่วัดพระแม่มารี (Frauenkirche) ที่เดรสเด็น การเขียนเกี่ยวกับทฤษฏีสถาปัตยกรรมเป็นที่นิยมกันทางเหนือมากกว่าทางใต้ เช่นงานบรรณาธิการของเล็นนาร์ด คริสตอฟ สเติร์ม (Leonhard Christoph Sturm) ของนิโคลอส โกลด์มัน (Nikolaus Goldmann) แต่ทฤษฏีของสเติร์มเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมศาสนสถานก็มิได้นำมาปฏิบัติ ทางภาคใต้จะเน้นการปฏิบัติมากกว่าการเขียนเรื่องทฤษฏีสถาปัตยกรรม การใช้ทฤษฏีก็จะเป็นพียงการใช้ตัวสิ่งก่อสร้างเองและองค์ประกอบจากหนังสือประกอบรูป และรูปสลักบนโลหะเป็นตัวอย่าง

สถาปัตยกรรมการสร้างวังมีความสำคัญพอๆ กันทั้งโรมันคาทอลิกทางใต้ และโปรเตสแตนต์ทางเหนือ หลังจากการสร้างตามแบบอิตาลีและอิทธิพลจากเวียนนาและรัชตัทในระยะแรก อิทธิพลจากฝรั่งเศสก็เพื่มความนิยมมากขึ้นจากต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ลักษณะแบบฝรั่งเศสจะเห็นได้จากผังแบบเกือกม้ารอบคอร์ทยาร์ด ซึ่งต่างจากผังแบบอิตาลีที่จะเป็นกล่องสี่เหลี่ยม การสร้างก็มักจะเป็นความร่วมมือของสถาปนิกหลายคนทำให้มีการผสมลักษณะระหว่างออสเตรียแบบอิตาลี และฝรั่งเศส ซึ่งจะเห็นได้จากการสร้างวังเวิร์ทซเบิร์ก ซึ่งผังโดยทั่วไปเป็นลักษณะแบบเกือกม้าแต่คอร์ทยาร์ดอยู่ภายในตัวตึกมิได้เปิดออกด้านนอกอย่างแบบฝรั่งเศส ด้านฟาซาร์ดเป็นผลงานของโยฮันน์ ลูคัส ฟอน ฮิลเดอบรันดท์ผู้นิยมการตกแต่งแบบคลาสสิคแบบฝรั่งเศส ซึ่งมีลักษณะเด่นๆ อยู่สองอย่างๆ หนึ่งคือภายในเป็นบันไดมหึมาแบบออสเตรีย แต่ก็มีห้องแบบฝรั่งเศสทางด้านสวนซึ่งมีอิทธิพลมาจากการวางห้องภายในปราสาทหรือวังในฝรั่งเศส


สหพันธ์โปแลนด์-ลิธูเอเนีย

วังวิลาเนาที่วอร์ซอในประเทศโปแลนด์ เป็นลักษณะบาโรกของสถานที่อยู่อาศัยแบบเรียบง่าย
วัดเซนต์โจเซฟที่คลิโมเทา (Klimontów)วัดบาโรกแรกของสหพันธ์โปแลนด์-ลิธูเอเนียคือวัดคอร์พัสคริสตี (Corpus Christi) ที่เนียสวิทซ์ (Niasvizh) ที่สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1587 นอกจากนั้นยังถือว่าเป็นวัดแรกในโลกที่เป็นบาซิลิกาที่มีโดมและด้านฟาซาร์ดเป็นแบบบาโรกของทวีปยุโรปตะวันออก

สถาปัตยกรรมบาโรกแพร่หลายในสหพันธ์โปแลนด์-ลิธูเอเนียเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 สิ่งก่อสร้างที่สำคัญๆ แบบบาโรกก็ได้แก่คูหาสวดมนต์ต์ต์ต์ต์วาซา (Waza Chapel) ภายในมหาวิหารวาเวล (Wawel Cathedral); วัดเซนต์ปีเตอร์และเซ็นต์พอล, วัดเซนต์แอนนา และ วัดวิซิเทค (Wizytek church) ที่คราเคา; วัดเซนต์ปีเตอร์และเซ็นต์พอล, คูหาสวดมนต์ต์ต์ต์ต์คาสิเมียร์ภายในมหาวิหารวิเนียส และวัดเซนต์คาสิเมียร์ที่วิเนียส (Vilnius); สำนักสงฆ์พาไซลิส (Pažaislis monastery) ที่เคานัส (Kaunas); มหาวิหารเซนต์จอร์จที่ลเวา (Lwów); วัดเยซูอิดทีพ็อทซนัน (Poznań); และมหาวิหารซาเวียร์ที่หร็อดโน (Hrodno); ชาเปลหลวงที่มหาวิหารกดันสค์ (Gdańsk) และชเวตา ลิพคา (Święta Lipka) ที่มาซูเรีย ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2วอร์ซอเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างแบบบาโรกแต่ปัจจุบันแทบไม่มีอะไรเหลือนอกจาก วังวิลาเนา (Wilanów), วังคราซินสกี (Krasiński Palace), วัดเบอร์นาร์ดิน และวัดวิซิเทคซึ่งเป็นวัดสมัยปลายบาโรก

สถาปนิกเช่นโยฮันน์ คริสตอฟ เกลาบิทซ์ (Johann Christoph Glaubitz) เป็นคนสำคัญในการสร้างลักษณะที่เรียกว่า “วิลเนียสบาโรก” (Vilnius Baroque) ซึ่งเป็นแบบที่ใช้ทั่วไปในบริเวณนั้น พอมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ลักษณะบาโรกแบบโปแลนด์ก็มีอืทธิพลทั่วไปรวมทั้งบริเวณยูเครน ซึ่งกลายมาเป็นต้นกำเนิดของ “คอสแซ็คบาโรก” ที่มีอิทธิพลมากจนกระทั่งวัดจากยุคกลางและวัดทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดเนียพเพอร์ (Dnieper River) ถูกสั่งให้ออกแบบและสร้างตามแบบที่นิยมกันล่าสุด


ฮังการีและโรมาเนีย
ด้านหน้าวังที่ Fertőd, ฮังการีวัดแบบบาโรกวัดแรกในราชอาณาจักรฮังการีคือวัดเยซูอิด “Nagyszombat” ที่สร้างโดยเปียโตร สป็อซโซ (Pietro Spozzo) ระหว่างปี ค.ศ. 1629 ถึงปี ค.ศ. 1637 ตามแบบวัดเยซูที่โรมในประเทศอิตาลี พระเยซูอิดมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่การก่อสร้างคริสต์ศาสนสถานแบบใหม่นี้หลายแห่งเช่นที่ “Győr” (ค.ศ. 1634-ค.ศ. 1641), “Kassa” (ค.ศ. 1671-ค.ศ. 1684), “Eger” (ค.ศ. 1731-ค.ศ. 1733) และ “Székesfehérvár” (ค.ศ. 1745-ค.ศ. 1751) ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 หลังจากบ้านเมืองและถูกทำลายอย่างย่อยยับหลังจากการรุกรานของจักรวรรดิอ็อตโตมานก็ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบบาโรก ผังเมืองที่ยังเป็นแบบบาโรกเต็มตัวก็ยังคงเหลืออยู่บ้างเช่นที่ “Győr”, “Eger”, “Székesfehérvár”, “Veszprém”, “Esztergom” และบริเวณปราสาทของบูดา ปราสาทที่สำคัญที่สุดของฮังการีคือปราสาทบูดา, ปราสาท Grassalkovich และ ปราสาท Esterházy ที่ Fertőd นอกจากนั้นก็ยังมีปราสาทย่อมๆ ของเจ้านายอยู่ทั่วไป

บาโรกแบบฮังการีได้รับอิทธิพลจากออสเตรียและอิตาลีเพราะมีสถาปนิกเยอรมนีและอิตาลีมาทำงานอยู่ที่นั่นมาก ลักษณะความนิยมท้องถิ่นคือความเรียบง่าย, ไม่มีการตกแต่งอย่างเกินเลยและผสมลักษณะการตกแต่งแบบท้องถิ่นเข้าไปด้วยโดยเฉพาะงานที่ทำโดยสถาปนิกท้องถิ่น สถาปนิกคนสำคัญๆ ของสมัยบาโรกในฮังการีก็ได้แก่อันดราส เมเยอร์ฮอฟเฟอร์ (András Mayerhoffer), อิกแน็ค โอราเช็ค (Ignác Oraschek) และมาร์ทอน วิทเวอร์ (Márton Wittwer) ฟรันซ์ อันทอน พิลแกรม (Franz Anton Pilgram) ก็มีผลงานในราชอาณาจักรฮังการีเช่นที่สำนักสงฆ์ลัทธิพรีมอนสเตรเทนเชียน “Jászó” พอถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 สถาปัตยกรรมแบบฟื้นฟูคลาสสิคก็เข้ามาแทนที่ สถาปนิกคนสำคัญๆ ของสมัยนี้ก็ได้แก่เมนีเฮอรท เฮเฟเล (Menyhért Hefele) และยาคัป เฟลล์เนอร์ (Jakab Fellner)

สิ่งก่อสร้างสำคัญสองแห่งในโรมาเนียที่เป็นแบบบาโรกก็ได้แก่วังบรุคเค็นทาลที่เมื่องซิบิยู (Brukenthal Palace, Sibiu) และวังบาทหลวงเดิมที่โอเรเดีย (Oradea) ซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์


จักรวรรดิรัสเซีย

พระราชวังฤดูหนาว, รัสเซีย
คอนแวนต์มาฟราโดยลุโดวิชในจักรวรรดิรัสเซียสถาปัตยกรรมแบบบาโรกมาเป็นสามระลอก - สมัยต้นเป็นบาโรกแบบมอสโคว์ (Naryshkin Baroque) ซึ่งตกแต่งอย่างสวยงามด้วยสีขาวบนอิฐแดงตามวัดที่ออกจะเป็นแบบโบราณ, บาโรกแบบเพทไทรน์ (Petrine Baroque) ซึ่งส่วนใหญ่นำมาจากทางตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรป และบาโรกสมัยหลังหรือบาโรกราสเทรลลี (Rastrelliesque Baroque) ซึ่งบรรยายโดยวิลเลียม บรุมฟิลด์ (William Brumfield) ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่หรูหราในการออกแบบแต่ก็ยังมีจังหวะในการใช้เสาคอลัมน์และความสง่าของบาโรก


โปรตุเกส และ บราซิล

พระราชวังบรากา, โปรตุเกสบาโรกของคาบสมุทรไอบีเรียที่เต็มไปด้วยการตกแต่งที่อ่อนหวานจะไม่รวมถึงการตกแต่งของพระราชวังมาดริดและลิสบอนที่จะออกเรียบ ซึ่งเป็นอิทธิพลมาจากอิตาลีในคริสต์ศตวรรษที่ 17 การออกแบบของพระราชวังมาดริด, พระราชวังกรานฮา (La Granja), พระราชวังอารันฮูส (Aranjuez), คอนแวนต์มาฟรา (Convent of Mafra) และวังเคลุซ (Palace of Queluz) มีอิทธิพลมาจากเบร์นินีและฟิลิโป ฮูวารา (Filippo Juvarra) สำหรับสถาปัตยกรรมทางศาสนาเช่นวัดซานตามาเรีย เดลลา ดิวินา โพรวิเดนซา (Sta. Maria della Divina Providenza) ที่ลิสบอนที่กัวรินีริเป็นผู้ออกแบบเป็นการเริ่มวางแนวสถาปัตยกรรมบาโรกที่ถึงแม้ตัวว่าวัดเองจะมิได้สร้างตามแบบที่วางไว้ วัดบาโรกวัดแรกที่โปรตุเกสคือวัดซานตาเอ็นกราเซีย (Santa Engrácia) ที่ลิสบอนออกแบบโดย João Antunes ผู้เป็นสถาปนิกประจำราชสำนัก

พอมาถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 สถาปนิกทางตอนเหนือของโปรตุเกสได้รับอิทธิพลจากบาโรกแบบอิตาลีโดยการใช้หินแกรนิตของท้องถิ่นที่มีลักษณะยืดหยุ่นในการสร้างหอ Clérigos[16] สูง 75 เมตรที่พอร์โต ศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมแบบบาโรกอยู่ที่บรากา สิ่งก่อสร้างที่นี่แสดงลักษณะที่สำคัญเกือบทุกอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแบบบาโรกของโปรตุเกส ตัวอย่างเช่นพระราชวังบรากาที่ใช้การตกแต่งแบบแถบหลากสี, การเล่นเส้นหลังคา และทรงหน้าต่างที่แตกต่างกันไป

สถาปนิกบราซิลก็เช่นกับสถาปนิกโปรตุเกสที่ใช้ความยืดหยุ่นในองค์ประกอบและการตกแต่งแต่ยังไม่เท่าเทียมกับเจ้าของแบบที่แผ่นดินใหญ่ยุโรปในทางความหรูหรา วัดมาเรียนาและโรซาริโอที่อูโรเพรโตเป็นแบบที่มีอิทธิพลมาจากฟรานเซสโก บอโรมินิ ที่การใช้รูปไข่ไขว้ หน้าวัดเซนต์ปีเตอร์ (São Pedro dos Clérigos) ที่ Recife ซึ่งเป็นแบบปูนปั้นและหินทำให้มีชีวิตขึ้นด้วยการตกแต่งลวดลายก้นหอยที่บีบระหว่างหอหน้าสองหอ [3].

แม้ว่าสถาปัตยกรรมแบบบาโรกจะเสื่อมความนิยมในยุโรปแต่ในบราซิลก็ยังใช้ต่อมาโดย Aleijadinho ผู้เป็นสถาปนิกผู้มีความสามารถ เช่นวัด Bom Jesus de Matozinhos ที่ Congonhas ที่ใช้รูปทรงที่น่าดูและการใช้ตกแต่งสีมืดบนปูนปั้นสีอ่อนด้านหน้าวัด ถึงแม้ว่าการออกแบบวัดเซนต์ฟรานซิสแห่งอาซิซิที่ São João del Rei จะไม่ได้รับการอนุมัติแต่ก็มิได้เสียเปล่าเพราะนำไปใช้สร้างวัดเซนต์ฟรานซิสที่อูโรเพรโตแทนที่


สเปนและเบลเยียม

การตกแต่งด้านหน้ามหาวิหารซานติอาโกเดอคอมโพสเตลลา, ประเทศสเปน
วัดเซนต์ไมเคิลที่ลูแวง (ค.ศ. 1650), ประเทศเบลเยียมสถาปัตยกรรมบาโรกแบบอิตาลีเข้ามาแทนที่สถาปัตยกรรมของฮวน เดอ เฮอร์เรรา (Juan de Herrera) สถาปนิกสเปนที่มีลักษณะเรียบและไปทางคลาสสิคที่ใช้กันมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 แต่เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1667 การออกแบบด้านหน้าของมหาวิหารกรานาดา โดยอลองโซ คาโน (Alonso Cano) และมหาวิหาร Jaen โดย ยูฟราซิโอ โลเปซ เดอ โรฮาส (Eufrasio López de Rojas) ก็เริ่มจะแสดงให้เห็นการที่สถาปนิกใช้ลวดลายการตกแต่งอย่างมหาวิหารของเสปนแต่มีอิทธิพลบาโรกเข้ามาผสม

ลักษณะบาโรกของสเปนแตกต่างจากลักษณะบาโรกของทางเหนือของยุโรปตรงที่เป็นสถาปัตยกรรมของการแสดงออกทางอารมณ์แทนที่จะเป็นสถาปัตยกรรมที่ทำเพื่อสร้างความพอใจให้แก่ผู้มีการศึกษาหรือเพื่อโอ้อวดผู้เป็นเจ้าของแต่เพียงอย่างเดียว ตระกูลเชอร์ริงกูรา (Churriguera) ผู้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบแท่นบูชาและฉากแท่นบูชาวิวัฒนาการการออกแบบจากที่เป็นคลาสสิคเรียบๆ มาเป็นการออกแบบผนังสิ่งก่อสร้างที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและมีชีวิตจิตใจที่เรียกกันว่า “ลักษณะเชอร์ริงกูรา” ซึ่งกลายมาเป็นลักษณะที่มีอิทธิพลต่อการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างทั้งในสเปนเองและประเทศในอาณานิคม

ภายในห้าสิบปีตระกูลเชอร์ริงกูราก็เปลี่ยนภูมิทัศน์ของเมืองซาลามาชา (Salamanca) จนกลายมาเป็น “เมืองแบบเชอร์ริงกูรา” ลักษณะที่เด่นๆ ของบาโรกของสเปนก็ได้แก่การวางองค์ประกอบของช่องว่างและแสงภายในสิ่งก่อสร้างเช่นที่หอประชุมสงฆ์กรานาดาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 หรือการออกแบบสิ่งตกแต่งเช่นรูปปั้นให้เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมเช่นงานของนาร์ซิสโค โทเม (Narciso Tomé) ผู้ใช้ความตัดกันของแสงเงาอย่างนาฏกรรม (chiaroscuro effect) ในงาน “Transparente” ที่ มหาวิหารโทเลโด

สถาปัตยกรรมบาโรกในสเปนวิวัฒนาการเป็นสามขั้นระหว่างปี ค.ศ. 1680 ถึงปี ค.ศ. 1720 เชอร์ริงกูราริเริ่มเผยแพร่การใช้ลักษณะคอลัมน์โซโลมอน[17]ของกัวรินีและการจัดแบบผสมที่เรียกว่า “Supreme order” ขั้นที่สองระหว่างปี ค.ศ. 1720 ถึงปี ค.ศ. 1760 ก็เริ่มมีการใช้คอลัมน์แบบเชอร์ริงกูราเป็นทรงโคนแบบโอบิลิสค์แต่คว่ำซึ่งใช้เป็นศูนย์กลางของการตกแต่ง และขั้นสุดท้ายระหว่างปี ค.ศ. 1760 ถึงปี ค.ศ. 1780 ซึ่งเป็นการตกแต่งแบบเกลียวม้วนหรือก้นหอยและการตกแต่งอย่างอลังการก็เริ่มจะลดความนิยมลงมาเป็นสถาปัตยกรรมแบบฟื้นฟูคลาสสิคที่เรียบง่ายกว่า

งานสถาปัตยกรรมบาโรกแบบสเปนที่เด่นที่สุดสองชิ้นก็ได้แก่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยวาลลาโดลิด ([University of Valladolid) โดยดิเอโก โทเมที่สร้างในปี ค.ศ. 1719 และโรงพยาบาลซานเฟอร์นานโด (Hospicio de San Fernando) ที่มาดริดโดยเปโดร เดอ ริเบอรา (Pedro de Ribera) ในปี ค.ศ. 1722 การตกแต่งอย่างหรูหรามามีอิทธิพลต่อ อันโตนิโอ กอดี (Antonio Gaudi) และศิลปะนูโว (Art Nouveau) ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในกรณีนี้และเช่นกับกรณีอื่น ๆ ศิลปินจะใช้สิ่งตกแต่งที่พรางโครงร่างของสถาปัตยกรรม (tectonic) ภายใต้ โดยไม่คำนึงถึงโครงสร้างหลักของตัวสถาปัตยกรรมและประโยชน์ทางการใช้สอยของสิ่งก่อสร้าง การตกแต่งจะเน้นด้วยการสลักไม้ดอกไม้ใบอย่างหรูหรารอบประตูหลัก ถ้าลอกเอาสิ่งตกแต่งเช่นบัวคอร์นิช หรือช่อระย้าเหล่านี้ออกหมดก็จะไม่มีผลใดใดทั้งสิ้นต่อตัวโครงสร้างหลักของสถาปัตยกรรม

ทางด้านใต้ของเนเธอร์แลนด์บริเวณฟลานเดอร์สที่ปกครองโดยกษัตริย์สเปน การตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ใบจะแนบแน่นกับผนังที่ตกแต่งมากกว่าซึ่งทำให้ลดความรู้สึกของความเคลื่อนไหวลง ลักษณะผสมระหว่างบาโรกแบบสเปนผสมฝรั่งเศสผสมเนเธอร์แลนด์จะเห็นได้จากแอบบีอเวอร์โบด[ภาพ:Abbey averbode 2 big.jpg] (Abbey of Averbode) ที่สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1667 หรือที่วัดเซนต์ไมเคิลที่ลูแวง[18]ซึ่งตกแต่งด้านหน้าอย่างหรูหราเป็นสองชั้นประกอบด้วยเสาคอลัมน์กึ่งเสาอิงและรายละเอียดรูปสลักแบบฝรั่งเศส

อึกหกสิบปีต่อมาเจม บอร์ตี มิเลีย (Jaime Borty Milia) สถาปนิกชาวเฟลมมิช เป็นคนแรกที่นำโรโคโคเข้ามาในสเปนโดยการออกแบบตกแต่งด้านหน้ามหาวิหารเมอร์เซียเมื่อปี ค.ศ. 1733 ผู้ที่ใช้โรโคโคอย่างเป็นจริงเป็นจังคือเว็นทูรา รอดริเกซ (Ventura Rodríguez) ช่างชาวสเปนผู้เป็นผู้ตกแต่งภายในมหาวิหาร Lady of the Pillar[19] ที่ซาราโกสซา (Saragossa) อย่างงดงามเมื่อปี ค.ศ. 1750


ทวีปอเมริกาสเปน

วัดเซนต์ฟรานซิสแห่งอาซิซิ (San Francisco de Asís Church) ลิมา ประเทศเปรู ค.ศ. 1673
ด้านหน้าวัดเซนต์เซบาสเตียนและเซนต์พริสตาที่แท็กซโค (เม็กซิโก) ซึ่งเต็มไปด้วยการตกแต่งแบบเชอร์ริงกูราแบบเม็กซิโกการใช้ผสมผสานระหว่างการตกแต่ของศิลปะอเมริกันอินเดียนและมัวร์ซึ่งเป็นศิลปะของการแสดงออกทางอารมณ์อย่างชัดเจนในการตีความหมายของเชอร์ริงกูราทำให้เห็นถึงการตกแต่งที่เต็มไปด้วยชีวิตจิตใจ การวิวัฒนาการจากลักษณะเชอร์ริงกูราไปก็มีด้วยกันหลายแบบในบริเวณที่เป็นอาณานิคมของสเปน นอกเหนือไปจากบาโรกแล้วที่นำเข้าจากสเปนแล้วบาโรกแบบอเมริกายังวิวัฒนาการมามีเอกลักษณ์ในการตกแต่งปูนปั้นของตนเอง มหาวิหารที่มีหอสองหอด้านหน้าของอเมริกาของคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีรากฐานโครงสร้างมาจากสถาปัตยกรรมยุคกลาง และสถาปัตยกรรมแบบบาโรกมิได้นำเข้ามาใช้จนกระทั่งปี ค.ศ. 1664 เมื่อมีการสร้างวัดเยซูอิดที่จัตุรัส เดอส อาร์มาส (Plaza des Armas) ที่กุสโก ในประเทศเปรู

สถาปัตยกรรมบาโรกแบบเปรูเป็นสถาปัตยกรรมแบบตกแต่งที่ออกทางหรูหราเช่นจะเห็นได้จากวัดซานฟรานซิสโกที่กรุงลิมา ที่สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1673 ขณะเดียวกันบาโรกท้องถิ่นเช่นที่วัด Jesuit Block and Estancias[20] ในเมืองกอร์โดบา ในประเทศอาร์เจนตินาสร้างตามแบบวัดเยซู ที่กรุงโรม และลักษณะผสมท้องถิ่นแบบ “mestizo” เกิดขึ้นที่อเรกวิปา (เปรู) โปโตซิ และลาปาซ (โบลิเวีย) ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 สถาปนิกบางแห่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบมัวร์จากสเปนยุคกลาง สถาปัตยกรรมบาโรกสมัยหลังในการตกแต่งหน้าวัดแบบเปรูพบเป็นครั้งแรกที่วัด Our Lady of La Merced ที่ลิมา หรือที่วัด La Compañia[21] ในกรุงกีโต (เอกวาดอร์) ซึ่งภายนอกตกแต่งด้วยเสาเกลียว และภายในเป็นฉากแท่นบูชาที่แกะสลักอย่างวิจิตร

ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทางตอนเหนือสถาปัตยกรรมบาโรกในประเทศเม็กซิโกเป็นสถาปัตยกรรมที่ตกแต่งกันอย่างอลังการที่สุดที่เรียกกันว่าเชอร์ริงกูราแบบเม็กซิโก บาโรกอลังการเช่นนี้จะเห็นได้จากผลงานของโลเร็นโซ รอดริเกซ (Lorenzo Rodriguez) หลายชิ้นๆ เอกเห็นจะเป็นซากราริโอ เมโทรโปลิตาโน (Sagrario Metropolitano) ที่ เม็กซิโกซิตี หรือวัดตามเมืองที่มีเหมืองเช่นวัดที่อ็อคโคทลาน (Sanctuary at Ocotlan) ที่เริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1745 ที่ตกแต่งด้วยอิฐสีแดงสดตัดกับการตกแต่งที่อัดแน่นสีอ่อนด้านหน้าวัดและประกบสองข้างด้วยหอคอยสูง[22] ภายในก็ตกแต่งด้วยฉากแท่นบูชาที่ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก[23]

ศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมแบบบาโรกแบบเม็กซิโกคือที่พวยบลาทางตอนกลางของเม็กซิโกซึ่งเป็นแหล่งการทำกระเบื้องเคลือบสีจัดและสดใสและหินสีเทา ทำให้เกิดสถาปัตยกรรมแบบบาโรกที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไปอีกแบบหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลมาจากศิลปะอเมริกันอินเดียน ในบริเวณนี้มีวัดที่ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบหน้าวัดและโดมถึง 60 แห่งซึ่งมักจะตกแต่งด้วยลวดลายแบบอาหรับ ภายในก็จะตกแต่งอย่างเต็มที่ด้วยเครื่องตกแต่งปิดทอง ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ช่างท้องถิ่นก็สร้างลักษณะการทำปูนปั้นขาวที่ใช้ในการตกแต่งที่เรียกว่า “alfenique” ซึ่งเป็นคำที่มาจากขนมของพวยบลาที่ทำจากไข่ขาวและน้ำตาล


ตุรกี

วัง Dolmabahce สร้างโดยตระกูล บาลยันสถาปัตยกรรมแบบบาโรกที่อิสตันบูลซึ่งครั้งหนึ่งเป็นศูนย์กลางของ จักรวรรดิออตโตมันมีด้วยกันหลายแบบ งานที่สำคัญก็เห็นจะเป็นสุเหร่า Nuruosmaniye สุเหร่า Ortaköy และ สุเหร่า Nuruosmaniye ที่สร้างราวปี ค.ศ. 1750 โดยซิเมียน คาลฟา (Simeon Kalfa) การใช้การตกแต่งแบบเรขาคณิตทำให้เกิดลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์และทำให้แตกต่างจากบาโรกของอาณานิคมที่เกิดขึ้นภายหลังซึ่งเป็นลักษณะที่นิยมกันในตะวันออกกลางโดยเฉพาะที่ประเทศเลบานอน ลักษณะบาโรกที่วิวัฒนาการเต็มที่จะพบได้ที่วัง Dolmabahce สร้างโดยตระกูล บาลยัน (Balyan dynasty) ผู้เป็นสถาปนิกชาวตุรกี-อาร์เมเนียสำคัญ ซึ่งมีลักษณะที่เป็น “ตะวันออก” โดยการผสมสถาปัตยกรรมบาโรก โรแมนติค และตะวันออกเข้าด้วยกัน