วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

หอศีลจุ่ม หรือ หอล้างบาป


หอศีลจุ่ม หรือ หอล้างบาป (อังกฤษ: Baptistery หรือ Baptistry) เป็นคริสต์ศาสนสถาน ที่สร้างเป็นอิสระจากสิ่งก่อสร้างอื่นโดยมีอ่างศีลจุ่มเป็นศูนย์กลาง หอศีลจุ่มอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของวัดหรือมหาวิหารซึ่งมีแท่นบูชาและคูหาสวดมนต์ของตนเอง ในวัดสมัยคริสเตียนยุคแรกหอศีลจุ่มจะเป็นสถานสำหรับผู้จะเข้ารีตเรียนรู้เรื่องศาสนาก่อนจะรับศีลจุ่ม และเป็นที่ทำพิธีรับศีลจุ่ม

การสร้างหอศีลจุ่มอย่างสวยงามเป็นการแสดงถึงความสำคัญของการรับศีลจุ่มในคริสต์ศาสนา หอศีลจุ่มแปดเหลี่ยมของมหาวิหารเซนต์จอห์นแลเตอร์รันเป็นหอศีลจุ่มแรกที่สร้างเพื่อการพิธีนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นแบบลักษณะตัวอย่างของหอศีลจุ่มที่สร้างกันต่อมา ซึ่งบางครั้งจะเป็นสิบสองเหลี่ยม หรือกลมอย่างที่ปิซา ในบริเวณก่อนเข้าไป (narthex) เป็นบริเวณที่ใช้สำหรับใช้เรียนคำสอนและสารภาพความศรัทธาก่อนที่จะทำการรับศีลจุ่ม โถงกลางจะมีอ่างศีลจุ่มเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นที่ที่ผู้รับศีลจะลงไปใต้น้ำสามหน จากอ่างจะเป็นบันไดสามขั้นลงไปในอ่าง ห้อยอยู่เหนืออ่างอาจจะเป็นนกพิลาปทองหรือเงินซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ รูปสัญลักษณ์ที่ทำจากโมเสกบนผนัง หรือจิตรกรรมฝาผนังมักจะเป็นฉากชีวิตของนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ อ่างศีลจุ่มในระยะแรกมักจะทำด้วยหิน แต่ต่อมาก็มีการทำด้วโลหะบ้าง

แหล่งน้ำของหอศีลจุ่มของมหาวิหารเซ็นต์จอห์นแลเตอร์รันมาจากน้ำพุธรรมชาติ ก่อนที่จะมาเป็นมหาวิหารสิ่งก่อสร้างเดิมเป็นวังของครอบครัวพลอติอิ แลเตอร์รัน (Plautii Laterani) ผู้เป็นผู้บริหารของจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมัน จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1เป็นผู้ถวายวังนี้ให้กับบาทหลวงมิลทิอาเดส (Bishop Miltiades) น้ำพุธรรมชาติเป็นแหล่งน้ำของสิ่งก่อสร้างหลายสิ่งก่อสร้างภายในวัง เมื่อมีการเปลี่ยนศาสนาผู้เปลี่ยนก็ต้องรับศีลจุ่มทำให้แหล่งน้ำกลายเป็นความจำเป็น คาสสิโอโดรัสนักการเมืองและนักเขียนชาวโรมันบรรยายไว้ในปี ค.ศ. 527 ถึงการจัดงานเทศกาลฉลองที่วัดเดิมของผู้นอกศาสนาทางใต้ของอิตาลีที่ยังมีวัฒนธรรมกรีก ที่เปลี่ยนเป็นมาเป็นหอศีลจุ่มสำหรับวัดคริสต์ศาสนา (“วาเรีย” 8.33) ในเอกสาร ค.ศ. 1999, ซามูเอล เจ บาร์นิช ยกตัวอย่างของการเปลี่ยนจากน้ำพุศักดิ์สิทธิ์เป็นหอศีลจุ่มจากนักบุญเกรกอรีแห่งทัวร์ (เสียชีวิตราว ค.ศ. 594) และ นักบุญแม็กซิมัสแห่งตูริน (เสียชีวิตราว ค.ศ. 466)

หอศีลจุ่มเกิดขึ้นในสมัยที่มีผู้เข้ารีตที่เป็นผู้ใหญ่เป็นจำนวนมากที่ต้องรับศึลจุ่มก่อนเป็นคริสต์ศาสนิกชนเต็มตัว และเมื่อกฏบังคับว่าการรับศีลจุ่มต้องเป็นการดำลงใต้น้ำมิใช่แต่เพียงพรมน้ำอย่างสมัยหลัง หอศีลจุ่มมาสร้างกันภายหลังสมัยคอนสแตนตินผู้ประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมายของจักรวรรดิโรมัน ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 อ่างศีลจุ่มจะสร้างภายในบริเวณซุ้มหน้าวัดหรือภายในตัววัด หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 9 จำนวนเด็กที่รับศีลจุ่มเพิ่มมากขึ้น แต่การสร้างหอศีลจุ่มลดน้อยลง หอศีลจุ่มเดิมที่สร้างบางหอก็มีขนาดใหญ่จนสามารถใช้เป็นที่ประชุมสังคายนาได้ การสร้างหอศีลจุ่มใหญ่ในสมัยคริสเตียนยุคแรกก็เพื่อให้บาทหลวงทำพิธีศึลจุ่มหมู่ให้กับผู้ต้องการมานับถือคริสต์ศาสนาในสังฆมณฑลได้ ฉะนั้นหอศีลจุ่มจึงมักเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างติดกับมหาวิหารซึ่งเป็นวัดของบาทหลวง และไม่สร้างสำหรับวัดประจำท้องถิ่น นอกจากนั้นการทำพิธีศึลจุ่มหมู่ก็ทำกันเพียงสามครั้งต่อปี ซึ่งก็หมายความว่าก็จะมีผู้รับศีลและผู้เข้าร่วมพิธีมาก





ในเดือนที่มิได้ทำพิธีศีลจุ่มประตูหอศีลจุ่มก็ปิดตายโดยตราของบาทหลวงเพื่อรักษากฏปฏิบัติอย่างเคร่งครัดของการทำพิธีศีลจุ่มภายในสังฆมณฑล การทำพิธีศีลจุ่มบางครั้งแบ่งเป็นสองตอนๆ หนึ่งเป็นพิธีสำหรับผู้ชายและอีกตอนหนึ่งเป็นพิธีสำหรับผู้หญิง บางครั้งหอศีลจุ่มก็จะแยกเป็นสองหอๆ หนึ่งสำหรับผู้ชายและอีกหอหนึ่งสำหรับผู้หญิง บางครั้งก็อาจจะมีเตาผิงเพื่ออุ่นผู้ที่ขึ้นจากน้ำ

แม้ว่าประกาศจากการประชุมสภาสงฆ์ที่อ็อกแซร์ (Council of Auxerre) ในปี ค.ศ. 578 จะระบุห้ามการใช้หอศีลจุ่มเป็นที่ฝังศพ แต่ก็ยังมีการทำกัน พระสันตะปาปาเท็จจอห์นที่ 23 ถูกฝังไว้ที่หอศีลจุ่มซานจิโอวานนีที่ฟลอเรนซ์ (Battistero di San Giovanni (Florence) หน้ามหาวิหารฟลอเรนซ์ เป็นพิธีใหญ่โตเมื่อสร้างอนุสรณ์ อัครบาทหลวงสมัยแรกๆ ของสังฆมณฑลแคนเตอร์บรี ก็ฝังไว้ภายในหอศีลจุ่มของมหาวิหารแคนเตอร์บรี

การเปลื่ยนการรับศีลจุ่มจากการดำลงไปทั้งตัวมาเป็นการพรมน้ำทำให้ความจำเป็นในการใช้หอศีลจุ่มทึ่มีอ่างศีลจุ่มใหญ่เพื่อการนั้นลดน้อยลง ในปัจจุบันก็มีการใช้กันอยู่บ้างเช่นในเมืองฟลอเรนซ์และปิซา

หอศีลจุ่มของมหาวิหารเซ็นต์จอห์นแลเตอร์รันเห็นจะเป็นหอศีลจุ่มที่เก่าที่สุดที่ยังใช้กันอยู่ ตัวสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ยังเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างโดยจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 ตรงกลางหอเป็นอ่างศีลจุ่มแปดเหลี่ยมล้อมรอบด้วยคอลัมน์หินพอร์ไฟรี (Porphyry) สีม่วงแดง หัวเสาเป็นหินอ่อนและการตกแต่งตอนบนเป็นแบบคลาสสิค (กรีกโรมัน) รอบเป็นจรมุขหรือทางเดินรอบและผนังแปดเหลี่ยม ด้านหนึ่งทางด้านมหาวิหารเป็นซุ้มพอร์ไฟรีที่ตกแต่งอย่างวิจิตร




วัดกลมซานตาคอสแทนซา (Santa Costanza) จากคริสต์ศตวรรษที่ 4 ใช้เป็นหอศีลจุ่มและเป็นที่เก็บศพของคอสแทนซาพระราชธิดาของจักรพรรดิคอนแสตนติน โครงสร้างยังอยู่ในสภาพที่ดีมากโดยมีโดมกลาง, คอลัมน์, และงานโมเสกแบบคลาสสิค ในซุ้มเล็กสองซุ้มเป็นงานโมเสกที่เก่าที่สุดที่เป็นเรื่องคริสต์ศาสนา ภาพหนึ่งเป็นโมเสส รับพระกฏบัตรเดิม และอีกภาพหนึ่งเป็นพระเยซูมอบพระกฏบัตรใหม่ที่ประทับด้วยอักษร “XP” ให้นักบุญปีเตอร์

สิ่งก่อสร้างที่เก่าที่สุดอีกแห่งหนึ่งที่เคยใช้เป็นหอศีลจุ่มที่มีลักษณะเหมือนที่เก็บศพก็คือหอศีลจุ่มที่ดูรา-ยูโรพาส (Dura-Europas) และทึ่ขุดพบที่อควิลเลีย (Aquileia) หรือที่ ซาโลนา (Salona) ราเวนนามีหอศีลจุ่มที่ภายในตกแต่งด้วยโมเสกอย่างงดงาม หอหนึ่งสร้างในสมัยกลางคริสต์ศตวรรษที่ 5 และอีกหอหนี่งที่ 6 ซึ่งเป็นสมัยเดียวกัยอีกหอหนี่งที่เนเปิลส์

ทางตะวันออกหอศีลจุ่มที่อิสตันบูลยังอยู่ติดด้านข้างของสุเหร่าซึ่งเดิมเป็นมหาวิหารเซนต์โซเฟีย หอศีลจุ่มที่พบที่อื่นก็มีซีเรีย, ฝรั่งเศส และ อังกฤษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น