วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

อาณาจักรทวารวดี


อาณาจักรทวารวดีเป็นชื่อบ้านเมืองแรกของบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทางภาคกลางของประเทศไทยที่มีการติดต่อกับอารยธรรมของอินเดีย ทั้งรูปแบบทางการค้าชายฝั่งทะเลและการรับวัฒนธรรมจากอินเดียโดยตรง ชื่อทวารวดีปรากฏจากบันทึกการเดินทางของพระสงฆ์จีนชื่อ เหี้ยนจัง กล่าวถึงประเทศที่อยู่ระหว่างศรีเกษตรและอีสานปุระว่า “โถลอปอติ” บันทึกของอี้จิงก็กล่าวถึงประเทศ “ตู้เหอปอตี่” ว่าอยู่ประมาณทางภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน หลักฐานทางโบราณคดีของชื่อ ทวารวดี ได้จากเหรียญเงินซึ่งพบที่จังหวัดนครปฐม อู่ทอง สุพรรณบุรี และ อินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี บนเหรียญเงินเหล่านี้มีคำจารึกเป็นภาษาสันสกฤตอักษรปัลลวะว่า “ศรีทวารวตี ศวรปุณยะ” แปลว่า “บุญของพระราชาแห่งทวารวดี”


หลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับอาณาจักรทวารวดีพบอยู่โดยทั่วไปทางภาคกลางบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดไปจนถึงบางส่วนทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ร่องรอยของชุมชนโบราณแบบทวารวดีขนาดใหญ่ คือ บริเวณเมืองนครไชยศรี หรือนครปฐมโบราณ มีสถาปัตยกรรมที่สำคัญ คือวัดพระเมรุและเจดีย์จุลประโทน นอกจากนี้ยังพบหลักฐานโบราณวัตถุ พบชุมชนร่วมสมัยที่คูบัว จังหวัดราชบุรี อู่ทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี จันเสนโบราณและเมืองบนจังหวัดนครสวรรค์



จากการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณภาคกลางของประเทศไทยพบว่าเมืองโบราณสมัยทวารวดีมีรูปแบบและพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่ติดต่อกับอารยธรรมอินเดีย และมีพัฒนาการขึ้นเป็นบ้านเมือง ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา บ้านเมืองเหล่านี้พัฒนาการมาจากชุมชนโบราณที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และได้มีการพัฒนาการขึ้นเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบที่เรียกกันว่าเมืองแบบทวารวดี ชุมชนโบราณเหล่านี้มีพัฒนาการต่อเนื่องจนถึงสมัยอยุธยา



วัฒนธรรมทวารวดีได้แพร่กระจายจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทางภาคกลางของประเทศไทยไปทั่วทุกภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากชุมชนโบราณที่โคกสำโรง และบ้านหมี่จังหวัดลพบุรี และเมืองศรีเทพ เพชรบูรณ์ซึ่งเป็นเมืองสำคัญจากลุ่มแม่น้ำป่าสักไปสู่ลุ่มแม่น้ำมูล และลุ่มแม่น้ำชีทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งได้พบเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดิน โบราณวัตถุและหลักฐานเสมาหินซึ่งเป็นโบราณวัตถุตามคติทางพุทธศาสนา เสมาหินที่พบมีหลายแห่งที่ปรากฏภาพสลักพุทธประวัติและชาดกทางพุทธศาสนา รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโดม (2533 : 345-346) เสนอความเห็นว่าเสมาหินวัฒนธรรมทวารวดี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีหน้าที่ 3 อย่าง คือ กำหนดเขตศักดิ์สิทธิ์โดยล้อมรอบเขตพิธีกรรมทางพุทธศาสนา การสร้างขึ้นเพื่อพุทธบูชาแล้วนำไปปักไว้ในเขตศักดิ์สิทธิ์ และเสมาหินขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่แทนพระสถูปเจดีย์



ศาสตราจารย์ชอง บวสเซอริเย แบ่งพัฒนาการของวัฒนธรรมทวารวดีออกเป็น 3 ระยะคือ ระยะแรกเป็นวัฒนธรรมทวารวดีแบบดั้งเดิมนับถือ พระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท ระยะที่สอง แสดงถึงอิทธิพลจากทางภาคใต้ซึ่งนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายานและได้แพร่ไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และระยะที่สามเมื่อพุทธศาสนาลัทธิมหายานเสื่อมลง พุทธศาสนาลัทธิเถรวาทจึงกลับมาปรากฏในวัฒนธรรมทวารวดีอีกครั้ง จากการศึกษาประติมากรรมทางพุทธศาสนา วัฒนธรรมทวารวดี นักประวัติศาสตร์ศิลปะแบ่งรูปแบบออกเป็น 3 แบบคือ รูปแบบแรกราวพุทธศตวรรษที่ 11-13 ได้รับอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคุปตะและหลังคุปตะ รูปแบบที่สองระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-16 พุทธศาสนามหายานได้แพร่เข้าไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประติมากรรมที่เป็นรูปเคารพจึงเป็นคติมหายานมีการพบรูปพระโพธิสัตว์จำนวนมากรูป แบบที่สาม ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-18 ได้รับอิทธิพลศิลปะขอมเขมรโบราณแบบบาปวน

จากการพบหลักฐานทางสถาปัตยกรรมและชุมชนโบราณ วัฒนธรรมทวารวดีช่วงระยะแรกในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันว่า ศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดีอยู่บริเวณใด นักโบราณคดีบางท่านให้ความเห็นว่า ทวารวดีเป็นเพียงอาณาจักรเล็ก ๆ ที่มีเมืองลพบุรีเป็นเมืองหลวง บางท่านเห็นว่าศูนย์กลางของอาณาจักรทวาวรวดีอยู่ที่เมืองนครปฐม เนื่องจากเมืองนครปฐมโบราณเป็นเมืองที่มีคูน้ำล้อมรอบขนาดใหญ่ ได้พบศาสนสถานและเหรียญจารึกที่กล่าวถึงอาณาจักรทวารวดี แต่อย่างไรก็ตามเหรียญเงินที่มีข้อความจารึกกล่าวถึงทวารวดียังพบที่อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และอินทรบุรี จังหวัดสิงห์บุรีเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามการพบศาสนสถานและศิลปะวัตถุหลายรูปแบบและหลายชุมชนโบราณกระจายโดยกว้างนี้ นักโบราณคดีบางท่านให้ความเห็นว่า วัฒนธรรมแบบทวารวดีอาจแพร่หลายโดยกว้างขวางในชุมชนโบราณที่มีการพัฒนาการขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-16 แต่ยังไม่มีอำนาจทางการเมืองแบบรวมศูนย์หากเป็นเพียงรูปแบบของเมืองเบ็ดเสร็จที่เกิดขึ้นพร้อมกันและต่างก็มีอิสระตลอดจนพัฒนาการทางวัฒนธรรมร่วมกัน เนื่องจากสามารถติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างสะดวกทั้งทางบกและทางทะเล รวมทั้งชุมชนที่อยู่ตอนในซึ่งห่างไกลออกไป เมืองเหล่านี้ต่างก็มีองค์ประกอบที่สมบูรณ์ในตัวเองทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ ความเชื่อ ศาสนาและศิลปกรรมซึ่งเมืองทั้งหมดเหล่านี้คือชุมชนโบราณที่พัฒนาการขึ้นเป็นบ้านเมืองวัฒนธรรมทวารวดีนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น