วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

“นครธม” มหานครแห่งปราสาท




“นครธม” มหานครแห่งปราสาท

ซุ้มประตูเมืองนครธมมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นด้วย
รูปสลักพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 ด้าน
“พระเจ้าชัยวรมันที่ 7”

หากเอ่ยถึงชื่อนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว”เชื่อว่าหลายๆคนคงจะเคยได้ยินชื่อนี้มาบ้างไม่มากก็น้อย แม้ว่าจะไม่เคย เรียนเรื่องราวของประวัติศาสตร์ขอมมาก็ตามที

พระเจ้าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1762) นับเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งอาณาจักร “พระนคร” (พ.ศ.1333-1974) และถือเป็นมหาบุรุษที่คนเขมรนับจากอดีตถึงปัจจุบันให้ความเคารพยกย่องมากที่สุด เรื่องนี้“สูน เพียบ”ไกด์ชาวเขมรที่พาเราทัวร์เสียมเรียบยืนยันมาจากปากของเขาเอง

พูดถึงอดีตอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7นั้นมีมากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการรบ การปกครอง การพัฒนาประเทศ แต่สิ่งที่ชาวโลกยกย่องเป็นพิเศษเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่และความน่าทึ่งของกษัตริย์องค์นี้ก็คือ การสร้าง “นครธม” หรือ “Angkor Thom” (ธมแปลว่าใหญ่) เมืองหลวงแห่งอาณาจักรพระนคร ซึ่งถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองสูงสุดของอาณาจักรขอม เพราะหลังจากหมดยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7อาณาจักรพระนครก็เสื่อมลงตามลำดับ

และด้วยความที่นครธมสร้างหลังเกิดอาณาจักรพระนครมาได้ 300 ปี และเป็นการสร้างเมืองใหม่ขึ้นทับเขตเมืองเก่า คือ “ยโศธรปุระ”จึงทำให้มีปราสาทขอมทั้งในยุคนครธมและยุคก่อนนครธมกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และปราสาทเหล่านั้นก็เป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญในนครธม ที่ในแต่ละวันอุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยเหล่านักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศ
สำหรับการเดินทางเข้าสู่นครธมนั้น อย่าละเลยการหยุดดูรวมถึงหยุดถ่ายรูปกับสะพานหินที่ทอดยาว ผ่านคูน้ำเข้าสู่กำแพงและซุ้มประตูเมืองนครธม ที่บนราวสะพานทั้ง 2 ฝั่ง สร้างเป็นเรื่องราวของการกวนเกษียรสมุทรระหว่างเทวดากับอสูร ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ดึงยุคนาคกันข้างละ 54 องค์และตน ส่วนจะดูว่าฝั่งไหนเป็นเทวดาหรือฝั่งไหนเป็นอสูร ก็ดูง่ายที่หน้าตา ฝั่งไหนหน้าตายิ้มแย้มก็คือเทวดา ส่วนฝั่งไหนหน้าตาดูดันบึ้งตึงก็เป็นอสูร
พูดถึงเรื่องราวระหว่างเทวดากับอสูรนี้ หากมองเผินๆ เทวดาอาจเปรียบดังพระเอกที่ดูดีแถมหน้าตาดี ส่วนอสูรก็เป็นผู้ร้ายที่โหดเหี้ยมหน้าตาดูร้าย ซึ่งหากใครทราบถึงเรื่องราวของการกวนเกษียรสมุทรแล้วละก็จะรู้ว่า เทวดานั้นแสบและขี้โกงกว่าอสูรเป็นไหนๆ แต่ถึงกระนั้นก็พยายามรักษาภาพลักษณ์ไว้ว่าเป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งความดี คล้ายๆกับหนักการเมืองบ้านเราบางคนที่สร้างภาพเป็นคนดูดี มีการศึกษา แต่จริงๆแล้วเป็นพวกมือถือสากปากคาบคัมภีร์เอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่น (เรื่องการกวนเกษียรสมุทร“ผู้จัดการท่องเที่ยว” จะขอยกไปเล่าตอนที่เดินดูภาพสลักผนังในนครวัด)

แม้ว่าชานชาลาปราสาทบาปวนจะค่อนข้างยาว
แต่ว่าก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยนิยมขึ้นไปเดินทอดน่องบนนั้น


เอาหละ!?! เมื่อผ่านสะพานเข้าสู่ประตูเมือง ก็อย่าลืมแหงนหน้าดูด้านบนของซุ้มประต ูที่สร้างเป็นรูปสลักพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 ด้าน (บางคนว่านี่คือพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7)

ครั้นพอผ่านซุ้มประตูเข้าสู่นครธมก็จะเห็นปราสาทและสถาปัตยกรรมขอมอยู่ทั่วไป ซึ่งใครใคร่เดินชมสถาปัตยกรรมชิ้นไหนก็ตามแต่สะดวก

แต่ถ้าเป็นเส้นทางยอดนิยมก็ต้องเริ่มจากการไปชม“ปราสาทบันทายศรี”ในช่วงเช้า(เสนอไปในตอนที่แล้วชื่อ “ปราสาทบันทายศรี”Small is Beautiful) จากนั้นก็จะเป็นการเดินทางเข้าสู่นครธมทางประตูทิศใต้ โดยก่อนถึงนครธมก็จะเห็นกำแพงของ“นครวัด”ตั้งตระหง่านอยู่ทางขวามือ ซึ่งนับว่าเป็นการนวดอารมณ์ของนักท่องเที่ยวให้เพิ่มดีกรีความเร้าใจในการชมปราสาทขอมได้ชะงัดนัก เพราะเมื่อเข้ามาชมสถาปัตยกรรมและชมไฮไลท์ของปราสาทในนครธมแล้ว ไกด์ส่วนมากก็จะพาสู่นครวัด 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ที่ถือว่าเป็นสุดยอดของปราสาทขอม

แต่ว่าก่อนที่จะไปนครวัด “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ขอเบิ่งตาชมสถาปัตยกรรมขอมในนครธมก่อน จุดแรกที่สูน เพียบพาไปชมก็คือ“สนามหลวง” หรือ “สนามหน้าหน้าจักรวรรดิ” ซึ่งมี “ลานช้าง” และ “ลานพระเจ้าขี้เรื้อน” อยู่ใกล้ๆกัน

สิ่งก่อสร้างทั้ง 2 แห่งเชื่อว่าสร้างในสมัยพระเจ้าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปัจจุบันเหลือแค่ฐานพลับพลาของลานเสด็จพระราชดำเนินในอดีต เป็นลานโล่งๆที่สามารถเดินขึ้นไปกินลมชมวิวได้



เมื่อเดินเข้าเขตพระราชวังปราสาทพิมานอากาศ
ถือเป็นปราสาทแรกเราจะได้พบเห็น
สำหรับลานช้างนั้นค่อนข้างเดาง่ายเพราะว่ามีรูปแกะสลักช้างตรงฐาน เต็มไปหมด ส่วนลานพระเจ้าขี้เรื้อนนี่สิดูยากหน่อย ต้องเดินชมกันแบบใกล้ๆถึงจะเห็นถึงที่มาของชื่อลานพระขี้เรื้อน โดยช่วงแรกของฐานลานพระเจ้าก็เป็นรูปแกะสลักเทพและนางอัปสราธรรมดาๆ แต่ว่าพอเดินตามซอกเข้าไปเรื่อยๆ รูปนางอัปสราชักเปลี๊ยนไป๋ คือเป็นนางอัปสราที่มีริ้วรอยตะปุ่มตะป่ำเต็มตัวและหน้าตา

สูน เพียบได้เล่าว่าในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีโรคเรื้อนระบาด พวกช่างจึงได้สลักรูปพวกนางอัปสราที่เป็นโรคเรื้อนเอาไว ้เป็นดังบันทึกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ ซึ่ง“ผู้จัดการท่องเที่ยว”ก็ไม่รู้ว่ามีช่างคนไหนแอบสลักหน้าของภรรยาตัวเอง เอาไว้บ้างหรือเปล่า

พ้นจากรูปสลักที่ลานพระเจ้าขี้เรื้อน สูน เพียบพาเดินขึ้นไปบนลานช้างแล้วปล่อยให้เรายืนกินลมชมวิวชั่วขณะ ซึ่งหากมองไปยังฝั่งตรงข้ามของลานหญ้าก็จะเห็นปราสาทเล็กๆ 12 หลังตั้งกระจายอยู่

“ปราสาท 12 หลังเรียกว่า ปราสาทสุออร์ปรัต ที่สร้างไว้เพื่อให้นางสนมมานั่งเฝ้ากษัตริย์เขมร บางคนก็เรียกปราสาทพวกนี้ว่าปราสาทนาง 12 “

สูน เพียบ ชี้แจงข้อสงสัยเมื่อเห็นเรามองปราสาทเหล่านั้นด้วยความฉงน ก่อนที่จะก็พาเดินไปตามลานหินเข้าสู่ซุ้มประตูเขตพระบรมมหาราชวัง ที่ในปัจจุบันไม่มีพระราชวังให้เห็นเนื่องจากทำด้วยไม้จึงผุพังไปตามกาลเวลา แต่ว่าในบริเวณราชวังก็ยังมี“ปราสาทพิมานอากาศ”ตั้งโดดเด่นอยู่เบื้องหน้าหลังจากเดินเข้าไป

ปราสาทพิมานอากาศ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1(พ.ศ.1546-1593) เป็นปราสาทขนาดย่อม ซ้อนชั้นไป 3 ระดับ และใช้เป็นที่ประทับของกษัตริย์ขอมมาโดยตลอด ซึ่งในนิทานปรัมปราเชื่อว่าปราสาทพิมานอากาศเป็นที่ให้กษัตริย์ขอมมาหลับนอนกับนาคตัวเมีย ที่แปลงร่างมาเป็นผู้หญิง (คนขอมโบราณเชื่อว่าพญานาคคือผู้ให้กำเนิดอาณาจักรขอม) ก่อนที่จะไปนอนกับพระมเหสีหรือนางสนม และหากไม่ทำตามก็จะต้องตาย

เรื่องนี้ฟังเอาสนุกก็น่าสนใจไม่น้อย ส่วนจะจริง-เท็จยังไง “ผู้จัดการท่องเที่ยว”ไม่รู้ แต่ที่รู้ก็คือเมื่อชมปราสาทพิมานอากาศแล้วก็ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงต่อการเดินไปชม “ปราสาทบาปวน” ที่อยู่ใกล้ๆกัน
ลานช้างดูง่ายเดาง่ายเพราะมีรูปช้างสลักอยู่


ปราสาทบาปวนมีสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าอุทิตยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1593-1609)ในปีพ.ศ.1060 ซึ่งมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างเอากันตั้งแต่รูปทรงที่ดูเหมือนปิรามิดซ้อนระดับขึ้นไปสูงใหญ่ นอกจากนี้ก็ยังมีสะพานทางเดินสู่ปราสาทที่ 2 ฟากมีน้ำล้อมรอบ ที่มีนักท่องเที่ยวหลายๆคนนิยมไปเดินนวยนาดบนนั้น โดยอาจจะลืมตัวคิดว่านี่คือแคทวอร์คขนาดใหญ่ก็ได้ ส่วนเสาของชานชาลาถ้าใครเดินจากปราสาทพิมานอากาศไปก็จะได้เห็นกับเสากลมที่สร้างได้อย่างสมส่วนรับชานชาลาที่ทอดยาวไปเกือบ 200 เมตร

แต่น่าเสียดายที่ปราสาทบาปวนนักท่องเที่ยวส่วนมากมักจะมองข้ามไปไม่ค่อยแวะชมทั้งๆที่เป็นปราสาทที่มีความเก่าแก่กว่านครวัด นครธมเสียอีก

เหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะปราสาทบาปวนช่วงนี้ไม่สามารถเดินชมได้อย่างเต็มที่เนื่องจากว่าอยู่ในช่วงการบูรณะ(คาดว่าอีก 2-3 ปี คงแล้วเสร็จ) ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งก็เป็นไปได้ว่านักท่องเที่ยวส่วนมากรีบเร่งที่จะไปดู “ปราสาทบายน” ไฮไลท์ของนครธม ซึ่งจะมีความยิ่งใหญ่และน่าทึ่งขนาดไหนคงต้องติดตามในตอนต่อไป

นครธม เป็นเมืองโบราณ ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมๆกับการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พ.ศ. 1724 และมีการสร้างเติมแต่งบ้างภายหลังโดยกษัตริย์องค์ต่อๆมา มีความยาวของกำแพงโดยรอบประมาณ 12 กม. กำแพงแต่ละด้านยาวข้างละ 3 กม. รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 9 ตารางกม.

นครธม มีประตูทางเข้า 5 ประตูจาก 4 ทิศ (เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก) โดยด้านตะวันออกมี 2 ประตู คือประตูตะวันออกและประตูชัย

“ยโศธรปุระ” เป็นเมืองหลวงยุคที่ 2 ของอาณาจักรพระนคร (เมืองหลวงยุคแรกคือ “หริหราลัย” มีภูเขาพนมกุเลนเป็นศูนย์กลาง” สร้างขึ้นในสมัยยโศวรมันที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ. 1432-1453) มีภูเขาพนมบาเค็งเป็นศูนย์กลาง

ส่วนจังหวัดเสียมเรียบ หรือ เสียมราฐ นั้นถือเป็นจังหวัดเดียวกัน โดยราชการไทยจำนวนหนึ่งนิยมให้เรียกเสียมราฐ ซึ่งความนี้มีที่มาที่ไป แต่ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” จะไม่ขอกล่าวถึง เนื่องจากเป็นเรื่องของอดีตที่ผ่านมา ส่วนชื่อเสียมเรียบนั้นเป็นชื่อสากลที่คนใช้เรียกกัน

ทั้งนี้ผู้ที่ไปเที่ยวชมปราสาทขอมต่างๆในเมืองเสียมเรียบ หากต้องการได้อรรถรสมากขึ้นควรหาหนังสืออ่านเพิ่มเติม ที่น่าสนใจก็มี นิราศนครวัด:สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานแห่งนครวัด:จิตร ภูมิศักดิ์(หนังสือเล่มนี้จะพูดถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในแง่มุมที่แตกต่างออกไป), เมืองพระนคร-นครวัดนครธม : ยอร์ช เซเดส์ แปลโดย ปราณี วงษ์เทศ, นครวัดนครธม ชายชรากับบ่วงกรรมและคำสาป : ธีรภาพ โลหิตกุล, เที่ยวเขมร : วีระ ธีรภัทร

และการจะเที่ยวชมปราสาทขอมให้สนุก ไม่ควรที่จะนำเรื่องราวในอดีตมาผสมรวมกับเรื่องราวในปัจจุบัน

สำหรับการเที่ยวชมปราสาทขอมในเขมรนั้นจะเสียค่าเที่ยวชม 20 เหรียญสหรัฐ(ประมาณ 1 พันบาท) ต่อวัน(เที่ยวได้ทุกปราสาทและทุกโบราณสถานในเสียมเรียบ)ส่วนถ้าอยากเที่ยวนานซื้อตั๋ว 3 วัน เสีย 40 เหรียญ ส่วนค่าวีซ่าเข้าเขมรก็อยู่ที่ 20 เหรียญเช่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น