วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

โบราณวัตถุ โบราณสถานและแหล่งโบราณคดี

โบราณวัตถุ โบราณสถานและแหล่งโบราณคดี


สถาปัตยกรรม

นอกจากโบราณวัตถุ ซึ่งพบตามแหล่งโบราณสถานดังกล่าวมาแล้ว จังหวัดนครสวรรค์ยังมีสถาปัตยกรรมโบราณในแหล่งต่าง ๆ สืบมาจนถึงปัจจุบัน ในเขตพื้นที่ต่อไปนี้

อำเภอเมืองนครสวรรค์

อำเภอพยุหะคีรี

อำเภอท่าตะโก

อำเภอชุมแสง

อำเภอเมืองนครสวรรค์

1. เมืองพระบาง ตั้งอยู่บริเวณวัดสี่เข่า ซึ่งเป็นวัดตั้งอยู่กลางเมืองตัวเมือง มีคันกำแพงและคูเมือง กำแพงกว้าง ยาวด้านละ 4 เส้น (160 เมตร) (ภาพที่ 3.21) มีเจดีย์ตั้งอยู่กลางเมืองและพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน เศียรขนาด 20 กำมือ ตัวเมืองตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองนครสวรรค์ ราว 2 กิโลเมตร ในเขตเทศบาล เป็นเมืองเก่าสมัยสุโขทัย ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนต้นเรียกว่า เมืองพังคา ยังมีแนวกำแพงดินรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีคูน้ำล้อมรอบยาวด้านละ 80 เมตร สูง 1.50 เมตร กว้าง 2 เมตร ต่อมาสมัยกรุงธนบุรีแม่น้ำปิงเปลี่ยนทางเดิน จึงย้ายเมืองไปตั้งบริเวณใต้มณฑลทหารบกที่ 4 บริเวณบ้านตลาดไผ่ล้อม บางครั้งก็เรียกเมืองทานตะวันหรือเมืองชอนตะวัน เมืองพระบางและวัดสี่เข่าได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.247824

นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานอีกว่า เมืองพระบางตั้งอยู่เชิงเขากบ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ และด้านทิศตะวันออก ติดต่อกับแม่น้ำปิงราว 300 เมตร ด้านทิศใต้ ห่างจากบริเวณที่แม่น้ำปิงบรรจบแม่น้ำน่านประมาณ 700 เมตร ลักษณะเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมมนตั้งขนานกับแม่น้ำปิง ตามสภาพภูมิประเทศขนาดของเมืองโดยประมาณ น่าจะราว 500 x 600 เมตร ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองพระบางยังปรากฏเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซ้อนกัน 2 เมือง ขนาดราว 200 x 250 เมตร และ 80 x 200 เมตร นอกจากนี้ยังมีหนองสมบุญทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเมืองพระบางราว 3 เท่า25

ลักษณะการตั้งเมืองพระบางคล้ายกับเมืองสมัยทวารวดี เช่น เมืองดอนคา อำเภอท่าตะโก เมืองบน (โคกไม้เดน) อำเภอพยุหะคีรี เป็นต้น กล่าวคือ ตั้งตามสภาพภูมิประเทศบริเวณดินตะกอนลำน้ำเก่าหรือชั้นดินจากการผุพังของชั้นหินปูน ส่วนบริเวณที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมน่าจะอยู่ในสมัยลพบุรี



ตัวเมืองพระบางในอดีต

2. วัดกบ หรือวัดวรนาถบรรพต หรือวัดปากพระบาง ตั้งอยู่บนเขากบ เขตเทศบาลเมืองนครสวรรค์ ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิงเช่นเดียวกับเมืองพระบางที่ตั้งอยู่เชิงเขา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพบศิลาจารึก เมื่อ พ.ศ.2464 บนเขากบใกล้กับรอยพระพุทธบาทของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) ซึ่งในศิลาจารึกนครชุม กล่าวว่า “พระยาธรรมิกราชให้ไปพิมพ์เอารอยตีนพระเป็นเจ้าเถิงสิงหลอันเหยียบเหนือจอมเขาสุมนกูฎบรรพต ประมาณเท่าใดเอามาพิมพ์ไว้จุ่งคนทั้งหลายเห็นแท้ อันหนึ่งประดิษฐานไว้เหนือจอมเขาที่ปากพระบาง”26 ส่วนศิลาจารึกหลักที่ 11 พ.ศ.1962 (วัดกบ) กล่าวถึง การสร้างพระเจดีย์วิหารอุทิศให้พระยารามผู้น้อง27 ซึ่งสอดคล้องกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ ความว่า “ศักราช 781 (พ.ศ.1962) พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้านฤพาน เมืองเหนือทั้งปวงเป็นจลาจล เสด็จขึ้นไปถึงพระบาง พระยาบาลเมืองและพระยารามออกถวายบังคม” ภายในวัดมีสิ่งสำคัญคือ

- เจดีย์ทรงลังกาหรือทรงระฆัง ก่ออิฐถือปูน ลักษณะองค์ระฆังตั้งอยู่บนฐาน เป็นเจดีย์ในรุ่นหลังราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 ลักษณะบัลลังก์ไม่มีเสาหานแบบศิลปะสุโขทัย (ภาพที่ 3.22)

- พระพุทธรูปศิลาปางนาคปรก ศิลปะลพบุรีได้รับการซ่อมแซมแล้ว อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 คล้ายกับพระพุทธรูปนาคปรกที่พบบริเวณเขาตาคลี (ภาพที่ 3.23)

- รอยพระพุทธบาท (หินชนวน) ลายดอกบัวตรงกลางมีขนาดเล็กกว่ารอยพระพุทธบาทเขาหน่อ อำเภอบรรพตพิสัย และลักษณะร่องรอยตื้นกว่า (ภาพที่ 3.24)

เขากบขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478

3. วัดบน ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านมะเกลือ อำเภอเมืองนครสวรรค์ ภายในวัดประกอบด้วยฐานอุโบสถและวิหารก่อด้วยอิฐและมีกำแพงแก้ว (ก่ออิฐ) ล้อมรอบกลุ่มโบราณสถาน ส่วนขนาดของโบราณสถานยังไม่ชัดเจน เพราะยังไม่ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี

วัดบนขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478

4. วัดช่องลม ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านมะเกลือ อำเภอเมืองนครสวรรค์ มีสิ่งสำคัญคือ อุโบสถ กำหนดอายุสมัยสุโขทัย

วัดช่องลมขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478

5. วัดจอมคีรีนาคพรต ตั้งอยู่ในเขตตำบลนครสวรรค์ออก อำเภอเมืองนครสวรรค์ ประกอบด้วยสิ่งสำคัญ คือ วิหาร อุโบสถ และพระพุทธรูปปางมารวิชัย ได้รับการซ่อมแซมต่อเนื่องมา กำหนดอายุสมัยสุโขทัย-อยุธยา กลุ่มโบราณสถานดังกล่าวตั้งอยู่บนเขาบวชนาค ทางชายฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากวัดกบ (วรนาถบรรพต) มาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 3 กิโลเมตร ในขณะที่วัดเขากบตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ก่อนที่แม่น้ำปิงจะรวมกับแม่น้ำน่านราว 1 กิโลเมตร ดังนั้นทั้งเขากบและเขาบวชนาคจึงเป็นทั้งที่ตั้งศาสนสถานที่สำคัญของเมืองนครสวรรค์ และเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการสังเกตการณ์และชุมนุมกองทัพในสมัยอยุธยา โดยเฉพาะลักษณะการตั้งศาสนสถานบนภูเขาได้ปรากฏมาแล้วตั้งแต่สมัยทวารวดี เช่น บ้านโคกไม้เดน บ้านเขาบ่อพลับ อำเภอพยุหะคีรี จึงแสดงแนวคิดหรือคติในการสร้างพุทธสถานไว้บนภูเขา ซึ่งโบราณสถานรูปทรงเจดีย์บนเขาบ่อพลับ พบว่ามีการสร้างต่อเนื่องมาถึงสมัยลพบุรีและสุโขทัย

กลุ่มโบราณสถานเขาบวชนาค ขึ้นทะเบียนโบราณสถานโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478

6. วัดกระดี่ทอง ตั้งอยู่ในเขตตำบลนครสวรรค์ สิ่งสำคัญในวัด คือ เจดีย์วัดกระดี่ทอง ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478

7. วัดหนองปลาแห้ง ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 4 ตำบลนครสวรรค์ออก จากการสำรวจได้พบเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ขนาด 6 x 6 เมตร สูง 10 เมตร ลักษณะก่ออิฐถือปูน แบบศิลปะอยุธยา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 นอกจากนี้ ยังพบแนวคูน้ำล้อมรอบขนาด 500 x 1,000 เมตร แต่มีแนวชัดเจนทางด้านทิศใต้ ส่วนทางด้านอื่นถูกบุกรุกจากการก่อสร้างถนน และบ้านเรือนราษฎร พื้นที่บริเวณนี้แต่เดิมน่าจะเป็นวัดสมัยอยุธยา ต่อมามีการดัดแปลงเป็นค่ายสำหรับพักไพร่พลในระหว่างสงคราม อาจจะเป็นค่ายของกองทัพไทยในคราวรบกับพม่าที่ล้อมเมืองพิษณุโลกใน พ.ศ.2313 โดยใช้เมืองนครสวรรค์เป็นค่ายลำเลียงเสบียงที่สำคัญ ซึ่งพระยาราชาเศรษฐีตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองนครสวรรค์

8. วัดเกาะหงษ์ ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 6 ตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมืองนครสวรรค์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งมีประวัติว่า เรียกชื่อ วัดตามเสาหงส์ ที่เคยตั้งอยู่ในวัด ทั้งนี้เพราะเป็นชุมชนมอญเดิม และมักจะใช้เสาหงส์เป็นสัญลักษณ์ นอกจากนี้ ยังคงมีวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น มอญซ่อนผ้า สะบ้า แข่งเรือ ลูกช่วง ปิดทองไหว้พระ เป็นต้น28 สิ่งสำคัญภายในวัดได้แก่ วิหารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผาเป็นวิหารขนาด 5 ห้อง มีขนาดยาว 21 เมตร กว้าง 8 เมตร มีมุขด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาลด 2 ชั้น เครื่องบนหลังคาประกอบด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง ปูนปั้นประดับกระจกสี หน้าบันด้านทิศตะวันออกเป็นลายปูนปั้นเรื่องรามเกียรติ์ ด้านทิศตะวันตกเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ประตูทางด้านทิศตะวันออกมีขนาด กว้าง 1.50 เมตร สูง 2.60 เมตร ประตูด้านทิศตะวันตก กว้าง 1 เมตร สูง 1.73 เมตร ผนังด้านนอกมีรอยพระพุทธบาทขนาดหน้าต่างของวิหาร กว้าง 99 ซม. สูง 1.75 เมตร


ด้านในวิหารที่ผนังมีร่องรอยจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งถูกทางวัดใช้สีเขียนทับไว้เมื่อสีกะเทาะออก พบว่ามีภาพจิตกรรมรูปเทวดา เป็นภาพต่อเนื่องกันไปแบบศิลปะอยุธยาในระหว่าง พ.ศ.2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นและทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในประพาสต้น ความว่า “วันที่ 12 เวลาเที่ยงถึงวัดเกาะหยุดสำหรับกินข้าวได้ทำมาตามทางแล้วขึ้นบก พบสมภารอายุ 87 ปี เคี้ยวจัดเหมือนสมเด็จตาจารใจพุย์ ตาบอดข้างหนึ่ง รูปร่างเปล่งปลั่งดี วัดใหญ่รักษาสะอาด มีตึกอย่างเก่า 2 หลัง ในโบสถ์จารึกว่าสร้างเมื่อศักราช 1155 (2336) มีของประหลาด พระกระจายยืนรูปร่างดี ได้ขอพระแล้วให้เงินไว้สร้างเปลี่ยนใหม่ ต่อมาอีกชั่วโมงเศษถึงนครสวรรค์” ลักษณะสถาปัตยกรรมวิหาร เป็นรูปแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น

อำเภอพยุหะคีรี

1. วัดพระปรางค์เหลือง ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 1 ตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอพยุหะคีรี บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากเมืองบน บ้านโคกไม้เดนทางทิศตะวันตกราว 500 เมตร แนวถนนเลียบแม่น้ำได้แบ่งพื้นที่โบราณสถานออกจากบริเวณวัด

จากการสำรวจพบว่าเป็นโบราณสถานก่ออิฐถือปูนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ราว 15 เมตร สูง 5 เมตร ส่วนบนพังทลายไปแล้วขนาดอิฐกว้าง 16 ซม. ยาว 30 ซม. หนา 6 ซม. บริเวณเนินเจดีย์ได้พบระฆังหิน ขนาด 12 x 70 x 110 ซม. มีรูขนาด 8 ซม. ด้านทิศตะวันออกของเจดีย์มีอุโบสถก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา ขนาดกว้าง 6.90 เมตร ยาว 10.50 เมตร ผนังหนา 50 ซม. สูง 75 ซม. มีประตู 2 แห่ง พื้นปูกระเบื้องดินเผาขนาด 29 x 29 ซม. หนา 2 ซม. ส่วนหน้าบันพื้นปูนปั้น ประดับด้วยเครื่องเบญจรงค์และเครื่องถ้วยจีน

โบราณวัตถุภายในอุโบสถ

- พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยาตอนปลาย ขนาดหน้าตัก 1.35 เมตร ฐานชุกชี กว้าง 2.20 เมตร สูง 80 ซม. ยาว 3.55 เมตร ขนาดอิฐกว้าง 14 ซม. ยาว 29-30 ซม. หนา 6.7 ซม.

- ชิ้นส่วนใบเสมาศิลปะอยุธยาและชิ้นส่วนมกรดินเผาโบราณสถานบริเวณนี้น่าจะสร้างซ้อนทับกันอย่างน้อย 3 ครั้ง กล่าวคือ ฐานชั้นล่างสุดน่าจะเป็นสมัยทวารวดี ซึ่งจะต้องดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี ส่วนเจดีย์ควรจะอยู่ในสมัยอยุธยาและด้านทิศตะวันออกมีอุโบสถ ซึ่งสร้างสมัยรัตนโกสินทร์ทับลงบนอุโบสถเดิม หรือมิฉะนั้นก็มีเพียงสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ส่วนระฆังหินนำมาจากเมืองบน นอกจากนี้ ภายในบริเวณวัดยังมีกลุ่มสถาปัตยกรรมที่สำคัญ คือ

(1) กุฏิแบบทรงเรือนไทยแฝด ฝาแบบฝาประกน ตรงกลางเว้นเป็นที่ว่าง นิยมกันในรูปแบบเรือนไทยภาคกลาง ตรงกรอบจั่วได้เพิ่ม ช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง และหางหงส์ สันหลังคามีรูปสัตว์ปูนปั้น ให้เป็นลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากเรือนไทยทั่วไป บางหลังทำเป็นทรงปั้นหยา

(2) ศาลา 3 มุข หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา หน้าบันรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ (ไม้แกะสลัก) แต่ละส่วนประกอบด้วย ช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้งและหางหงส์ เป็นต้น คงจะเป็นอาคารที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่เก็บเรือชะล่า ที่ทรงพระราชทานให้วัด จำนวน 1 ลำ

(3) ศาลาการเปรียญแบบศิลปะไทยผสมจีน ลักษณะเป็นอาคารหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง 2 ชั้น ส่วนบนสันหลังคาตกแต่งด้วยลวดลายศิลปะจีน เป็นรูปบุคคลและสัตว์ต่อเนื่องกันไป หน้าบันเป็นรูปรามเกียรติ์ตอนพระรามรบกับทศกัณฐ์ เป็นเครื่องไม้แกะสลัก (ปัจจุบันมีการซ่อมลงรักปิดทอง) จึงนับเป็นสถาปัตยกรรมที่พิเศษของวัดนี้โดยแท้จริง

(4) ธรรมาสน์ ลักษณะเป็นเครื่องไม้ฐานชั้นที่ 1 เป็นลายประจำยามและลายกระจัง ฐานชั้นที่ 2 และ 3 มีลายกระจังฟันปลารองรับกระจังเจิม ฐานชั้นที่ 4 เป็นกระจังใบเทศ ส่วนโคนเสาธรรมาสน์มีกาบพรหมศร ส่วนบนประดับด้วยลายกระจังทั้ง 4 ชั้น29 และส่วนยอดมีการลงรักปิดทอง

นอกจากนี้ จดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น กล่าวถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จวัดพระปรางค์เหลือง 3 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 รัตนโกสินทร์ศก 120 (วันที่ 2 พฤศจิกายน 2444) เรือประเทียบทัศนาจร ทรงทอดพระเนตรอุโบสถและกุฏิที่ช่างจีนสร้าง ทอดพระเนตรการเหยียบฉ่า ที่สร้างโดยหมอพระจากนครราชสีมา

ครั้งที่ 2 รัตนโกสินทร์ศก 125 (วันที่ 11 สิงหาคม 2449) เสด็จถึงวัดพระปรางค์เหลือง พระครูพยุหานุศาสก์ (เงิน) เจ้าคณะเมืองพยุหะคีรีลงมารอรับเสด็จฯ ที่แพ ขึ้นบกทรงทำกับข้าว แล้วทอดพระเนตรการเหยียบฉ่า กุฏิและอุโบสถใหม่

ครั้งที่ 3 รัตนโกสินทร์ศก 127 (พ.ศ.2451) เสด็จโดยทางรถไฟจากสถานีบางปะอินถึงเมืองนครสวรรค์ แล้วลงเรือพระที่นั่งเป็นเรือชะล่าขุดจากซุง ล่องน้ำจากนครสวรรค์ลงมาวัดพระปรางค์เหลือง

โบราณสถานบริเวณวัดพระปรางค์เหลือง อาจจะกำหนดอายุไปถึงสมัยทวารวดี ต่อเนื่องมาถึงสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ ยังมีกุฏิทรงไทย ทรงปั้นหยา และศิลปะจีนปะปนอยู่แสดงถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวจีนในบริเวณนครสวรรค์อย่างน้อยก็ย้อนไปถึง พ.ศ.2444



2. โบราณสถานบ้านเขาบ่อพลับ ตำบลม่วงหัก อำเภอพยุหะคีรี ตั้งอยู่บนเขาบ่อพลับ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เมตร ส่วนบนพังทะลายจากการลักลอบขุด ด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ ราว 10 เมตร พบโบราณวัตถุประเภทกระปุก และตลับเคลือบสีเขียวจำนวนมากในบริเวณบ่อน้ำ ภายในกระปุกมีเศษกระดูกมนุษย์เผาไฟบรรจุไว้ น่าจะเป็นอัฐิของพระที่เคยปฏิบัติภาวนาอยู่ในบริเวณเขาบ่อพลับ ซึ่งจากรูปแบบกระปุกนั้นผลิตจากแหล่งเตาบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-18

นอกจากนี้ ยังพบกระปุกเคลือบสีเขียวและสีน้ำตาลจากแหล่งเตาบ้านเกาะน้อย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 19-21

ในบริเวณรอบ ๆ เขาบ่อพลับได้พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ในระหว่าง 4,500-2,000 ปีมาแล้ว ซึ่งได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้ว

อำเภอท่าตะโก

1. โบราณสถานเขาตีคลี ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 3 บ้านตุ๊กแก ตำบลดอนคา ห่างจากที่ว่าการอำเภอท่าตะโกไปราว 10 กิโลเมตร โบราณสถานตั้งอยู่บนเขาตีคลี ทางทิศตะวันตก ราว 8 กิโลเมตร เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี ลักษณะเป็นเมืองคูน้ำคันดิน กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-18 ทั้งนี้เพราะภายในเมืองยังปรากฏโบราณสถาน เรียกว่า โคกปราสาท (ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478) ซึ่งอาจจะเป็นโบราณสถานสมัยเดียวกับโบราณสถานบนเขาตีคลี ชุมชนสมัยทวารวดีส่วนใหญ่ที่พบในเขตนครสวรรค์ มักจะมีชุมชนอยู่อาศัยต่อเนื่องมาถึงราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 เช่น เมืองจันเสน เมืองบน เป็นต้น

ลักษณะสถาปัตยกรรมของโบราณสถานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 7 x 7 เมตร มีมุขด้านทิศตะวันออกขนาด 3 x 7 เมตร ฐานชั้นล่าง ก่อด้วยศิลาแลงและเสริมอิฐด้านบนผนัง ฐานศิลาก่อสูง 1.50 เมตร และก่อเป็นกรอบ ส่วนด้านในถมด้วยดิน หิน และเศษอิฐ ขนาดอิฐ 17 x 34 x 7 ซม. และ 14 x 32 x 7 ซม. ลักษณะผนังของโบราณสถานเหลืออยู่ราว 2 เมตร ส่วนบนพังทลายลงหมด อย่างไรก็ตามลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมในแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม เป็นรูปแบบพระปรางค์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 โดยสันนิษฐานประกอบกับหลักฐานโบราณวัตถุสำคัญจำนวน 2 องค์ คือ

1. พระพุทธรูปนาคปรก (7 เศียร) ศิลาทราย ด้านล่างของขนดนาคมีเดือยสำหรับประกบกับฐาน ขนาดหน้าตัก 50 ซม. สูง 1 เมตร

2. พระพุทธรูปนาคปรก ปางสมาธิ ศิลาทราย ขนาดหน้าตัก 40 ซม. สูง 80 ซม. มีจารึกอักษรขอมที่ฐานนาคด้านหน้า30

พระพุทธรูปนาคปรก ปางสมาธิ ทั้ง 2 องค์ มีลักษณะคล้ายศิลปะบายน กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 ซึ่งมีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่แตกต่างในด้านฝีมือช่างสลัก นอกจากนี้ยังคล้ายกับพระพุทธรูปนาคปรกที่วัดเขากบ อำเภอเมืองนครสวรรค์ และพระพุทธรูปนาคปรก ศิลาทราย ที่นำลงมาจากถ้ำเจ้าราม และนำมาประดิษฐานที่วัดทุ่งเสลี่ยม และพระพุทธรูปนาคปรก ศิลาทราย ที่ชาวบ้านอ้างว่านำมาจากปรางค์เขาปู่จ่า อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย จากหลักฐานดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงการแพร่หลายของพระพุทธรูปแบบศิลปะลพบุรี (บายน) ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17-18 ในเขตเมืองนครสวรรค์ และสุโขทัย และสถาปัตยกรรมรูปแบบพระปรางค์ อันเป็นหลักฐานสำคัญยิ่งในการศึกษาหลักฐานทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของชาติ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าโบราณสถานหลายแห่งได้ถูกลักลอบขุดทำลายและค้นหาโบราณวัตถุ ปัจจุบันพระพุทธรูปนาคปรกทั้ง 2 องค์ อยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าตะโก ซึ่งสมควรนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ของเมืองนครสวรรค์ต่อไป



อำเภอชุมแสง

1. วัดถ้ำเนินพระปรางค์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลพันลาน อำเภอชุมแสง มีสิ่งที่สำคัญ คือ วิหารก่อด้วยอิฐ ขนาด กว้าง 10 เมตร ยาว 27 เมตร เหลือซากวิหารสูง 1.50 เมตร มีเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังก่ออิฐและศิลาแลง ขนาด 10.60 x 10.60 เมตร เป็นประธานหลักของวัด ทั้งวิหารและเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐขนาด 27 x 60 เมตร ลักษณะวิหารและเจดีย์เป็นแบบศิลปะสุโขทัย-อยุธยา

นอกจากนี้ สถาปัตยกรรมที่ค้นพบจากแหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ชัยมงคล ตำบลสร้อยทอง อำเภอตาคลี ที่ทำการขุดค้นโดยคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นตัวแทนของชุมชนข้างต้น และชุมชนที่สำรวจพบใหม่เร็ว ๆ นี้ คือ บ้านเขาบ่อพลับ ตำบลม่วงหัก อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ที่มีการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาถึงสมัยประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับเมืองจันเสน แต่ร่วมสมัยกับบ้านใหม่ชัยมงคล ชุมชนดังกล่าวยังพบอีกหลายแห่งในเขตนครสวรรค์ เช่น อำเภอท่าตะโก อำเภอไพศาลี อำเภอตากฟ้า เป็นต้น การปรากฏโลหะเหล็กในชุมชนมีสิ่งช่วยสนับสนุนคือ แหล่งแร่เหล็กบริเวณเขาแม่เหล็ก อำเภอตาคลี ซึ่งจะพบชุมชนกระจายในรัศมีโดยรอบ 50 กิโลเมตร

ชุมชนเหล่านี้จะพัฒนาเป็นเมืองคูน้ำคันดินในราว พุทธศตวรรษที่ 11-16 เช่น เมืองจันเสน อำเภอตาคลี เมืองดอนคา อำเภอท่าตะโก เมืองบน (โคกไม้เดน) อำเภอพยุหะคีรี เมืองดงแม่นางเมือง อำเภอบรรพตพิสัย เมืองไพศาลี อำเภอไพศาลี เป็นต้น บางแห่งเป็นชุมชนมาตั้งแต่สมัยโลหะ เช่นเมืองจันเสน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการติดต่อกับอินเดียมากขึ้น ดังจะพบพระพุทธรูปพระพิมพ์ รูปปั้นบุคคลทั้งชายหญิงและสัตว์ ตราประทับรูปบุคคลขี่ม้า คนขึ้นต้นตาล รูปลิง บางชิ้นมีอักษรปัลลวะ เป็นต้น

ชุมชนสมัยสุโขทัยได้พัฒนาขึ้นมาจากชุมชนสมัยทวารวดีที่พบหลักฐานบริเวณวัดชมชื่น เมืองศรีสัชนาลัย บริเวณศาสนสถานสำคัญระหว่างเส้นทางที่วัดสะพานหินและวัดมะพลับ เมืองสุโขทัย ที่มีความสัมพันธ์กับชุมชนบ้านวังหาดและเมืองไตรตรึงษ์และเมืองนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร และดงแม่นางเมือง อำเภอบรรพตพิสัย ต่อเนื่องไปถึงเมืองบน (โคกไม้เดน) อำเภอพยุหะคีรี และเมืองจันเสน อำเภอตาคลี เป็นต้น

ชุมชนสมัยลพบุรี (ก่อนสุโขทัย) ราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 ได้พบหลักฐานสถาปัตยกรรมและประติมากรรมหลายแห่ง เช่น เขาตีคลี ตำบลดอนคา อำเภอท่าตะโก พบพระปรางค์และพระพุทธรูปนาคปรกศิลาทราย แบบศิลปะบายน หรือลพบุรี พระพุทธรูปนาคปรก ที่วัดเขากบ อำเภอเมืองนครสวรรค์ ด้านล่างฐานเจดีย์วัดเขากบอาจจะเป็นฐานพระปรางค์เช่นเดียวกับเขาตีคลี

ในสมัยอยุธยา ปรากฏชุมชนหลายแห่งในจังหวัดนครสวรรค์ ในช่วงนี้นครสวรรค์มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านของอยุธยา เนื่องจากมีสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดเชื่อมต่อของลำน้ำสำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำปิง และแม่น้ำน่าน ชุมชนในสมัยอยุธยาจะกระจายตัวทั่วไป โดยส่วนใหญ่จะพัฒนาขึ้นมาจากชุมชนในสมัยสุโขทัย ดังเช่นหลักฐานทางสถาปัตยกรรม สมัยอยุธยา เช่น เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ที่วัดหนองปลาแห้ง วิหารวัดพระปรางค์เหลือง และชุมชนวัดสี่เข่า (ปัจจุบันถูกทำลายไปแล้ว) เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น