วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

สถาปัตยกรรมบาโรก

สถาปัตยกรรมบาโรก (ภาษาอังกฤษ: Baroque architecture) เป็นคำที่บรรยายลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เริ่มราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่ประเทศอิตาลี เป็นสถาปัตยกรรมที่บ่งถึงความหรูหราโอ่อ่าและความมีอำนาจของสถาบันคริสต์ศาสนาและการปกครอง และจะเน้นเรื่องแสง สี เงา และคุณค่าของประติมากรรม

ขณะที่สถาปัตยกรรมเรอเนซองส์จะเน้นความมั่งคั่งและอำนาจของราชสำนักอิตาลี และประสมประสานศิลปะศาสนาและศิลปะทางโลก สถาปัตยกรรมบาโรกเมื่อเริ่มแรกเป็นสถาปัตยกรรมที่มาจากปฏิกิริยาต่อการปฏิรูปศาสนาของนิกายโปรเตสแตนต์ซึ่งเป็นกระบวนการของสถาบันคาทอลิกต่อต้านการปฏิรูปดังกล่าว โดยการปฏิรูปภายในสถาบันคาทอลิกเอง

การประชุมสังคายนาที่เมืองเทร้นต์ ระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1545 ถึงวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1563 เป็นเหตุการณ์ที่ถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ “การปฏิรูปศาสนาของนิกายโรมันคาทอลิก” (Counter-Reformation) ฉนั้นสถาปัตยกรรมแบบบาโรกจึงนอกจากจะเป็นการแสดงออกทางอารมณ์แล้วยังเป็นการแสดงความมั่งคั่งและความมีอำนาจของสถาบันศาสนานิกายโรมันคาทอลิกอีกด้วย นอกจากนั้นสถาปัตยกรรมแบบบาโรกยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มความเชื่อถือและความศรัทธาในศาสนาโดย ลัทธิเธียไทน์ (Theatines) และ ลัทธิเยซูอิด (Jesuits) ซึ่งเป็นลัทธิในนิกายโรมันคาทอลิก จนกระทั่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 สถาปัตยกรรมแบบบาโรกก็เริ่มมาอิทธิพลต่อการก่อสร้างชนิดอื่นเช่นพระราชวังโดยเริ่มที่ประเทศฝรั่งเศส เช่นที่ปราสาทเมซองส์ (Château de Maisons) (ค.ศ. 1642) ใกล้ปารีส ออกแบบโดย ฟรองซัว มองซาร์ (François Mansart) และเผยแพร่ไปสู่ประเทศอื่นๆในยุโรป



ที่มาและลักษณะของสถาปัตยกรรมบาโรก

ปราสาทริเออร์ (Palace of Trier) ประเทศเยอรมันีสิ่งก่อสร้างแบบโรมันโดยไมเคิล แอนเจโลโดยเฉพาะมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่กรุงโรมถือว่าเป็นที่มาของสถาปัตยกรรมแบบบาโรกเพราะเป็นการออกแบบสิ่งก่อสร้างใหญ่ที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่ไม่เคยทำกันมาก่อน จิอาโคโม เดลลา ปอร์ตา (Giacomo della Porta) ผู้เป็นลูกศิษย์ของมีเกลันเจโลใช้ลักษณะเดียวกันนี้ต่อมา โดยเฉพาะด้านหน้าของวัดอิลเยซู (Il Gesu) ของลัทธิเยซูอิด (Jesuit) ซึ่งเป็นบทนำของหน้าวัดซานตาซูซานนา (Santa Susanna) โดย คาร์โล มาเดอร์โน (Carlo Maderno) ซึ่งถือกันว่าเป็นหน้าวัดที่สำคัญสำหรับสมัยบาโรกตอนต้น พอถึงคริสต์ศาสนาที่ 17 สถาปัตยกรรมแบบบาโรกก็เผยแพร่ไปทั่วยุโรปและลาตินอเมริกาซึ่งเผยแพร่โดยพระเยซูอิด

ลักษณะสำคัญๆของสถาปัตยกรรมบาโรกก็ได้แก่

ทางสู่แท่นบูชาที่เคยยาวก็กว้างขึ้นและบางครั้งก็จะเป็นวงกลมเช่นที่วัดวีส์
การใช้แสงสีอย่างนาฏกรรมถ้าไม่เป็นแสงและเงาที่ตัดกัน (chiaroscuro effect) ก็จะเป็นการใช้แสงเสมอกันจากหน้าต่างหลายหน้าต่าง เช่นที่แอบบีไวน์การ์เตน (Weingarten Abbey)
การตกแต่งอย่างหรูหราด้วยเครื่องตกแต่ง เช่น putto ที่ทำด้วยไม้ที่มักจะทาเป็นสีทอง ปูนปลาสเตอร์ ปูนปั้น หินอ่อน การทาสีตกแต่ง (faux finishing)
การใช้จิตรกรรมฝาผนังบนเพดานกลางใหญ่ซึ่งอาจจะเป็นโดม
ด้านหน้าภายนอกมักจะยื่นออกไปจากตรงกลางอย่างเด่นชัด
ภายในจะเป็นโครงสำหรับภาพเขียนและประติมากรรมโดยเฉพาะบาโรกสมัยหลัง
การผสมผสานระหว่างภาพเขียนและสถาปัตยกรรมที่กลืนกันทำให้ลวงตาจนแยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นสิ่งก่อสร้างอันไหนเป็นภาพเขียนและประติมากรรม
การใช้โดมอย่างแพร่หลายในบาวาเรีย สาธารณรัฐเช็ก ยูเครน และ โปแลนด์
การสร้างมาเรียน และ โฮลีทรินิตี คอลัมน์ (Marian และ Holy Trinity columns) ตามจตุรัสกลางเมือง ที่ประเทศคาธอลิคสร้างเพื่อการฉลองความรอดภัยมาจากกาฬโรคระบาดในยุโรป โดยเฉพาะในสาธารณรัฐเช็ก ประเทศสโลวาเกีย และ ประเทศออสเตรีย

สถาปัตยกรรมบาโรกและการขยายอาณานิคม

พระราชวังที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, ประเทศรัสเซียแม้เราจะเห็นว่าสถาปัตยกรรมบาโรกเป็นสถาปัตยกรรมของยุโรปแต่เราต้องไม่ลืมว่าสถาปัตยกรรมบาโรกเกิดขึ้นขณะที่ยุโรปกำลังขยายอาณานิคมฉะนั้นการก่อสร้างจึงมีอิทธิพลไปถึงประเทศในอาณานิคมของยุโรปด้วย ปัจจัยสำคัญในการขยายอาณานิคมก็คือการมีรัฐบาลที่มั่นคงและมีอำนาจเช่น ประเทศฝรั่งเศส หรือ ประเทศสเปน ซึ่งเป็นสองประเทศแรกที่ริเริ่มการขยายตัวในทางนี้[1] อาณานิคมเพิ่มความมั่งคั่งให้กับเจ้าของจากทั้งเงินซึ่งขุดจากเหมืองเช่นที่ ประเทศโบลิเวีย หรือ ประเทศเม็กซิโก และประเทศอื่นๆ และทางการค้าขายสินค้าเช่นน้ำตาลหรือยาสูบ ฉะนั้นจึงเป็นผลให้มีความจำเป็นในการควบคุมเส้นทางการค้าขาย สร้างระบบการซื้อขายแบบผูกขาด และการค้าขายทาสเพื่อใช้เป็นแรงงานในประเทศอาณานิคม ระบบต่างเหล่านี้ส่วนใหญ่จะควบคุมโดยประเทศฝรั่งเศสระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17 สิ่งต่างๆเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดมีสงครามระหว่างมหาอำนาจอาณานิคม เช่น “สงครามศาสนาของฝรั่งเศส” (French Religious Wars) “สงครามสามสิบปี” (Thirty Years' War) ระหว่างปี ค.ศ. 1618 ถึงปี ค.ศ.1648 “สงครามฝรั่งเศส-สเปน” (Franco-Spanish War) และ “สงครามเนเธอร์แลนด์” (Dutch War) ระหว่างปี ค.ศ. 1672 ถึงปี ค.ศ.1678 และอื่นๆ

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ประเทศสเปนประสพความล้มเหลวในการบริหารทรัพย์สินที่ได้จากอาณานิคมทำให้ต้องล้มละลาย และต้องใช้เวลาในฟี้นตัวจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ฉะนั้นถึงแม้ว่าสเปนจะเต็มใจยอมรับสถาปัตยกรรมบาโรก แต่ก็ทำได้เพียงผิวเผินเพราะขาดปัจจัย ซึ่งแตกต่างจากประเทศฝรั่งเศสหรือออสเตรียที่เราจะเห็นการก่อสร้างวังใหญ่โตและสำนักสงฆ์กันอย่างแพร่หลายกันในระยะเวลาเดียวกัน ตรงกันข้ามกับสเปนฝรั่งเศสภายใต้การนำของ ฌอง แบ๊ปติสต์ โคลแบร์ (Jean Baptiste Colbert) รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ระหว่างปี ค.ศ. 1619 ถึงปี ค.ศ. 1683 โคลแบร์นำการอุตสาหกรรมเข้ามาปรับปรุงเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสได้ผลประโยชน์อย่างเต็มที่ อันเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมและสิ่งก่อสร้างและศิลปะ แต่สิ่งที่มากับความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจก็คือภาวะเงินเฟ้อซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อน พูดง่ายๆ คือคนรวยก็รวยมากขึ้นคนจนก็จนลง เช่นจะเห็นได้จากกรุงโรมที่มีชื่อเสียงว่ามีวัดหรูหรามากมายแต่ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยขอทาน[2]


สถาปัตยกรรมบาโรกในประเทศต่างๆ

ประเทศอิตาลี - โรมและอิตาลีตอนใต้

จัตุรัสหน้ามหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่กรุงโรม
ผังวัดซานคาร์โลอัลเลอควอโตรฟอนทาเน โดย บอโรมินิสถาปัตยกรรมบาโรกเริ่มมาจากสถาปัตยกรรมในอิตาลีเช่นบาซิลิกา สิ่งก่อสร้างชิ้นแรกที่แยกตัวมาจากลักษณะแมนเนอริสม์ คือวัดซานตาซูซานนาซึ่งออกแบบโดย คาร์โล มาเดอร์โน จังหวะการวางโครงสร้างของเสา โถงกลาง และ การตกแต่งภายในทำให้สิ่งก่อสร้างเพิ่มความซับซ้อนขึ้น และการริเริ่มความมีลูกเล่นภายในกฏของโครงสร้างแบบคลาสสิค

สถาปัตยกรรมบาโรกจะเน้นความยืดหยุ่น ความต่อเนื่อง และ ความเป็นนาฏกรรมของสิ่งก่อสร้างซึ่งจะเห็นได้จากผลงานวัดซานลูคาและซานตามาร์ตินา (San Luca e Santa Martina) และวัดซานตามาเรียเดลลาพาเซ[1] (Santa Maria della Pace) โดย เปียโตร ดา คอร์โตนา (Pietro da Cortona) ที่สร้างเมื่อ ปี ค.ศ. 1656 โดยเฉพาะด้านหน้าวัดซานตามาเรียเดลลาปาเซซึ่งเป็นโค้งยื่นออกไปสู่จัตุรัสแคบๆหน้าวัด ทำให้เหมือนฉากโรงละคร การผสมผสานลักษณะศิลปะโรมันเข้าไปในสมัยนี้ทำให้มีสิ่งก่อสร้างมีลักษณะสง่าเป็นที่เห็นได้ชัดจากภูมิทัศน์เมืองรอบสิ่งก่อสร้าง

ตัวอย่างของสิ่งก่อสร้างตามลักษณะนี้คือลาน/จัตุรัสหน้ามหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่กรุงโรม ออกแบบโดย จานลอเรนโซ เบร์นินี ระหว่างปี ค.ศ. 1656 ถึงปี ค.ศ. 1667 ซึ่งถือกันว่าเป็นงานชิ้นเอกของสถาปัตยกรรมบาโรกที่เพิ่มความเด่นชัดของภูมิทัศน์เมืองโรม ตัวจัตุรัสเป็นซุ้มโค้งสองด้าน (colonnades) รอบลานกลางทรง trapezoidal เพราะความใหญ่โตและรูปทรงของจัตุรัสที่ดึงเข้าไปสู่ด้านหน้ามหาวิหาร ทำให้ผู้ที่เดินเข้ามาในจัตุรัสมีความรู้สึกเกรงขามหรือทึ่ง ผังที่เบร์นินีเองชอบคือวัดรูปไข่ซานอันเดรียอาลควินาลเล (Sant'Andrea al Quirinale) ที่ออกแบบเมื่อปี ค.ศ. 1658 ซึ่งมีแท่นบูชาตระหง่านและโดมสูงเป็นตัวอย่างที่แสดงหัวใจของสถาปัตยกรรมแบบบาโรกได้อย่างกระทัดรัด ตัวอย่างของสถาปัตยกรรมแบบบาโรกสำหรับที่อยู่อาศัยของเบร์นินีก็ได้แก่วังบาร์เบรินี (Palazzo Barberini) ออกแบบเมื่อปี ค.ศ. 1629 และวังชิจิ (Palazzo Chigi-Odescalchi) ออกแบบเมื่อปี ค.ศ. 1664

คู่แข่งคนสำคัญของเบร์นินีที่โรมคือ ฟรานเซสโก บอโรมินิ ซึ่งงานของเขาจะแยกแนวไปจากการจัดองค์ประกอบตามสถาปัตยกรรมแบบแผนโบราณและสถาปัตยกรรมฟื้นฟูศิลปวิทยาเป็นอย่างมาก สถาปัตยกรรมของบอโรมินิจะหนักไปทางนาฏกรรมมากกว่าแบบแผนเดิมซึ่งในภายหลังถือว่าเป็นการปฏิวัติทางสถาปัตยกรรมหลังจากที่ถูกโจมตีในคริสต์ศตวรรษที่ 16 บอโรมินินิยมใช้การจัดรูปแบบจากรูปทรงเรขาคณิตต่างๆ อย่างซับซ้อน ช่องว่างภายในของจะขยายออกหรือหดตัวตามที่บอโรมินิจะจัดซึ่งมาเชื่อมต่อกับลักษณะการออกแบบระยะต่อมาโดยมิเกลันเจโล ผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของบอโรมินิคือวัดซานคาร์โลอัลเลอควอโตรฟอนทาเน (San Carlo alle Quattro Fontane) ซึ่งจะเห็นได้จากผังที่เป็นรูปไข่และการเล่นโค้งเว้าโค้งนูน ผลงานระยะต่อมาที่วัดซานอิโวอัลลาซาพิเอ็นซา[2] (Sant'Ivo alla Sapienza) บอโรมินิหลีกเลี่ยงการใช้ผืนผิวเรียบที่ไม่มีการตกแต่งโดยการเติมสิ่งต่างจะเห็นได้จากโดมจุกคอร์กทรงตะเกียงบนหลังคาวัด

หลังจากบอโรมินิเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1640 คาร์โล ฟอนตานา (Carlo Fontana) ก็กลายมาเป็นสถาปนิกที่มีอิทธิพลมากที่สุดในกรุงโรม ลักษณะผลงานระยะแรกจะเห็นได้จากฟาซาด (Façade) ที่โค้งเว้าเล็กน้อยด้านหน้าวัดซานมาร์เชลโลอาลคอร์โซ[3] (San Marcello al Corso) ลักษณะงานของฟอนทานา -- ถึงแม้ว่าจะขาดความแปลกใหม่เหมือนสถาปนิกรุ่นเดียวกัน -- แต่ก็มีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมแบบบาโรกมากจากงานมากมายที่เขาเขียนและสถาปนิกที่ฟอนทานาฝึก ซึ่งเป็นกลุ่มที่เผยแพร่ลักษณะบาโรกไปทั่วยุโรปตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 18

คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นศตวรรษที่เมืองหลวงของสถาปัตยกรรมแบบบาโรกย้ายจากโรมไปปารีส สถาปัตยกรรมแบบโรโคโคที่รุ่งเรืองที่โรมราวปี ค.ศ. 1720 เป็นต้นมาเป็นสถาปัตยกรรมที่มีอิทธิพลอย่างมากมาจากความคิดของบอโรมินิ สถาปนิกที่มีชื่อที่สุดในกรุงโรมสมัยนั้นก็มีฟรานเชสโก เดอ ซองตีส์ (Francesco de Sanctis) ผู้สร้างบันไดสเปน เมื่อปี ค.ศ. 1723 และ ฟิลิปโป รากุซซินิ (Filippo Raguzzini) ผู้สร้างจัตุรัสเซ็นต์อิกนาซิโอ เมื่อ ค.ศ. 1727) สถาปนิกสองคนนี้มีอิทธิพลเฉพาะในอิตาลี ไม่เช่นสถาปนิกบาโรกซิซิลีรวมทั้งจิโอวานนี บัททิสตา วัคคารินิ (Giovanni Battista Vaccarini) อันเดรีย พาลมา (Andrea Palma) และจุยเซ็พพี เวนาซิโอ มาร์วูเกลีย (Giuseppe Venanzio Marvuglia) ที่มีอิทธิพลนอกเหนือจากอิตาลี

สถาปัตยกรรมบาโรกช่วงหลังในอิตาลีจะเห็นได้จากวังคาเซอร์ตา[4] (Caserta Palace) โดยลุยจิ แวนวิเทลลิ (Luigi Vanvitelli) ซึ่งว่ากันว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นลักษณะที่มีอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมบาโรกของฝรั่งเศสและสเปน ตัวอาคารวางเข้ากันกับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ลักษณะของสิ่งก่อสร้างของแวนวิเทลลิที่เนเปิลส์และคาเซอร์ตาเป็นแบบที่ค่อนข้างเรียบแต่ก็รักษาความสวยงามไว้ซึ่งเป็นลักษณะที่เอื้อต่อการวิวัฒนาการไปเป็นสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิคในสมัยต่อมา


ประเทศอิตาลี - ภาคเหนือ

ด้านหน้าวังคาริยาโน โดย ฟรานเซสโก บอโรมินิทางภาคเหนือของอิตาลีเจ้านายราชวงศ์ซาวอยทรงนิยมสถาปัตยกรรมบาโรกจึงจ้าง กัวริโน กัวรินี ฟิลิปโป จูวาร์รา (Filippo Juvarra) และ เบอร์นาร์โด วิทโทเน (Bernardo Vittone) ในการสร้างสิ่งก่อสร้างที่แสดงถึงอำนาจทางการเมืองที่ราชวงศ์นี้เพิ่งได้รับมา

กัวรินีเดิมเป็นพระใช้ความชำนาญทางสถาปัตยกรรมกอธิคเดิมเป็นพื้นฐานในการสร้างสิ่งก่อสร้างที่รูปทรงไม่สมมาตร โดยการใช้เสารูปใข่หรือการทำด้านตกแต่ง (Façade)ที่ผิดแปลกไปจากจากที่เคยทำกันมา โดยสร้างลักษณะที่เรียกกันว่า “architectura obliqua” ซึ่งนำมาจากลักษณะของฟรานเซสโก บอโรมินิทั้งรูปทรงและโครงสร้าง วังคาริยาโน (Palazzo Carignano) ที่กัวรินีสร้างเมือปี ค.ศ. 1679 ถือว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่หรูหราที่สุดในการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยในคริสต์ศตวรรษที่ 17

ลักษณะสิ่งก่อสร้างของฟิลิปโป จูวาร์ราจะดูเบาเหมือนลอยได้ซึ่งเป็นลักษณะที่พบในศิลปะแบบโรโคโค งานออกแบบชิ้นที่สำคัญที่สุดเป็นงานที่ทำให้กับวิคทอร์ อามาเดอุสที่ 2 แห่งซาร์ดิเนีย ทัศน์ศิลป์ของบาซิลิกาซุเพอร์กาที่จูวาร์ราสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1717 มีอิทธิพลมาจากตึกเด่นๆ และเนินเขาบริเวณตูริน ตัวบาซิลิกาเองตั้งเด่นอยู่บนเขาเหนือตัวเมืองซึ่งเป็นลักษณะที่มีอิทธิพลต่อการสร้างบ้านพักล่าสัตวฺ์ สำหรับวังสตูปินยิ (Palazzina di Stupinigi) เมื่อปี ค.ศ. 1729 งานของจูวาร์รามีอิทธิพลนอกเหนือไปจากบริเวณตูริน ซึ่งจะเห็นได้จากงานสุดท้ายที่ทำคือพระราชวังลากรานฮา[5] (La Granja) ที่มาดริด ประเทศสเปน สำหรับพระเจ้าฟิลลิปที่ 5 แห่งสเปน และพระราชวังอรานฮูซ[6] (Palacio Real de Aranjuez)

แต่ผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากกัวรินี และจูวาร์รามากที่สุดเห็นจะเป็นเบอร์นาร์โด วิทโทเน สถาปนิกชาวพีดมอนท์ผู้สร้างวัดแบบโรโคโคไว้มาก ผังจะเป็นสี่กลีบและใช้รายละเอียดมากในการตกแต่ง แบบของวิทโทเนจะซับซ้อนเป็นเพดานโค้งซ้อนกันหลายชั้น โครงสร้างซ้อนโครงสร้าง และโดมซ้อนโดม


ประเทศฝรั่งเศส

พระราชวังเบล็นไฮม์ อังกฤษ ใช้การวางผังแบบ ห้องสำคัญๆ อยู่ตรงกลาง สำนักงานและครัวอยู่ในปีกข้าง
วังไมซองส์ใกล้ปารีส โดยฟรองซัว มองซาร์ ค.ศ. 1642
โวเลอวิคองเทใกล้ปารีสโดยหลุยส์ เลอ โว และ อันเดร เลอ โนเตรอ เมื่อ ค.ศ.1661
เลออินแวลีด (Les Invalides) ที่ปารีส โดยจุลส์ อาร์ดวง มองซาร์ ค.ศ. 1676ศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมบาโรกสำหรับที่อยู่อาศัยก็เห็นจะต้องเป็นประเทศฝรั่งเศส การออกแบบวังมักเป็นผังแบบสามปีกรูปเกือกม้าที่เริ่มทำกันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 แต่สิ่งก่อสร้างที่มีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมบาโรกที่แท้จริงคือ วังลักเซมเบิร์กซึ่งออกแบบโดย ซาโลมอน เดอ โบร (Salomon de Brosse) ที่เป็นลักษณะไปทางคลาสสิคซึ่งเป็นลักษณะบาโรกของฝรั่งเศส หลักการจัดองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างก็จะให้ความสำคัญกับบริเวณหลักเช่นห้องรับรอง เป็นบริเวณสำคัญที่สุด (corps de logis) การจัดลักษณะนี้เริ่มทำกันเป็นครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศส ขณะที่ห้องทางปีกที่ใกลออกไปจากห้องหลักจะค่อยลดความสำคัญลงไปตามลำดับ หอแบบยุคกลางมาแทนที่ด้วยมุขที่ยื่นออกมาตรงกลางสิ่งก่อสร้างซึ่งอาจจะเป็นประตูมหึมาสามชั้นเป็นต้น

งานของเดอ โบรเป็นงานผสมระหว่างลักษณะแบบฝรั่งเศส (สูงลอย หลังคาแมนซารด์[7] (Mansard) และหลังคาที่ซับซ้อน) กับลักษณะแบบอิตาลีที่คล้ายกับวังพิตติ[8]ที่ฟลอเรนซ์ทำให้กลายมาเป็นลักษณะที่เรียกว่า “ลักษณะหลุยส์ที่ 13” ผู้ที่ใช้ลักษณะนี้ได้ดีที่สุดก็เห็นจะเป็นฟรองซัวส์ มองซาร์ผู้ที่ถือกันว่าเป็นผู้นำสถาปัตยกรรมบาโรกเข้ามาในฝรั่งเศส เมื่อออกแบบวังไมซองส์ (Château de Maisons) เมื่อปี ค.ศ. 1642 มองซาร์สามารถนำทฤษฎีการก่อสร้างทั่วไปและแบบบาโรกมาปรับให้เข้ากับลักษณะกอธิคที่ยังหลงเหลือภายในการก่อสร้างแบบฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี

วังไมซองส์แสดงให้เราเห็นถึงการค่อยๆ แปลงจากสถาปัตยกรรมหลังยุคกลางของวังในคริสต์ศตวรรษที่ 16 มาเป็นลักษณะแบบคฤหาสน์ชนบทในคริสต์ศตวรรษที่ 18 โครงสร้างเป็นสัดส่วนแบบสมมาตรและใช้เสาตกแต่งทุกชั้นอย่างเป็นระเบียบ ส่วนใหญ่จะเป็นเสาอิง ด้านหน้าตกแต่งด้วยชายคาที่ดูราวกับว่ามีความยืดหยุ่น ทำให้สิ่งก่อสร้างทั้งหมดดูเหมือนสามมิติ แต่โครงสร้างของมองซาร์จะ “ปอก” สิ่งตกแต่งที่ “รก” ที่มักจะใช้ในสถาปัตยกรรมบาโรกแบบโรมออก

ขั้นต่อไปในการวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยคือการใช้สวนเป็นองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างเช่นที่โวเลอวิคองเท (Vaux-le-Vicomte) ซึ่งมีหลุยส์ เลอ โว (Louis Le Vau) เป็นคนออกแบบ ชาร์ล เลอ บรุนเป็นสถาปนิก และอันเดร เลอ โนเตรอ (André Le Nôtre) เป็นช่างออกแบบสวนซึ่งแต่ละองค์ประกอบผสมผสานกลมกลืนกัน ตัวอาคารตกแต่งด้วยลักษณะที่เรียกว่า “colossal order” ที่ทำให้สิ่งก่อสร้างมีความน่าประทับใจมากขึ้น ความร่วมมือระหว่างหลุยส์ เลอ โว และ เลอ โนเตรอ เป็นผลที่เรียกว่า “Magnificent Manner” ซึ่งทำให้เกิดสิ่งก่อสร้างนอกวังหลวงที่กลายมาเป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่คำนึงถึงเฉพาะแต่สิ่งก่อสร้างเท่านั้นแต่ยังใช้ “ภูมิสถาปัตยกรรม” ในการเพิ่มความน่าดูของสิ่งก่อสร้างด้วย

สถาปนิกสามคนนี้ต่อมาก็เป็นผู้สร้างพระราชวังแวร์ซายซึ่งก็คือโวเลอวิคองเทที่ขยายใหญ่ขึ้น และกลายมาเป็นวังที่มีผู้สร้างเลียนแบบกันมากในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เช่นที่มานไฮม์ (Mannheim) นอร์ดเคิชเชน (Nordkirchen) และ โดรทนิงโฮลม (Drottningholm) ในประเทศเยอรมันี

การขยายครั้งสุดท้ายของพระราชวังแวร์ซายทำโดย จุลส์ อาร์ดวง มองซาร์ (Jules Hardouin-Mansart) ผู้เป็นคนสำคัญในการออกแบบ โดมเดออินแวลีด (Les Invalides) ซึ่งถือกันว่าเป็นวัดที่สำคัญที่สุดในศตวรรษนั้นของฝรั่งเศส อาร์ดวง มองซาร์ ได้รับประโยชน์จากคำสอนของฟรองซัว มองซาร์ผู้เป็นลุง ซึ่งเป็นการสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อนในประเทศทางตอนเหนือของอิตาลี และการใช้โดมครึ่งวงกลมบนโครงสร้างที่มั่นคงที่ดูแล้วมิได้แสดงสัดส่วนที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งก่อสร้าง จุลส์ อาร์ดวงมิได้แต่ปรับปรุงทฤษฎีของลุงเท่านั้นแต่ยังวางรากฐานการก่อสร้างแบบบาโรกลักษณะฝรั่งเศสด้วย

ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ก็เริ่มปฏิกิริยาต่อลักษณะสถาปัตยกรรมแบบพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยเปลี่ยนมาเป็นรูปลักษณะที่ละเอียดอ่อนช้อยและเป็นกันเองกว่าเดิมที่เรียกกันว่า “ศิลปะโรโคโค” ผู้ริเริ่มการใช้ลักษณะนี้คือนิโคลัส พินเนอ (Nicholas Pineau) ผู้ร่วมมือกับจุลส์ อาร์ดวง มองซาร์ตกแต่งภายในวังมาร์ลี[9] (Château de Marly) ศิลปินอื่นที่สร้างงานแบบโรโคโคคือปิแอร์ เลอ โปเตรอ (Pierre Le Pautre) และ จุสต์ โอเรย์ เมซองนิเยร์ (Juste-Aurèle Meissonier) ผู้สร้าง “genre pittoresque” ภายในวังชองติลลี (Château de Chantilly) เมื่อปี ค.ศ. 1722 และโอเต็ลเดอซูบีส์ (Hôtel de Soubise) เมื่อปี ค.ศ. 1732 ซึ่งการตกแต่งที่ใช้เครื่องตกแต่งและลวดอย่างมากมายและหรูหราจนเกินเลยไป ซึ่งทำให้ลดความสำคัญทางโครงร่างของสถาปัตยกรรมการแบ่งส่วนภายในลงไปมาก


มอลตา

ผังเมืองหลวงวัลเลตตา มอลตา
ตึกเทศบาลเมืองอัมสเตอร์ดัม โดยเจคอป แวน แค็มเพ็น ค.ศ. 1646ผังเมืองวาลเลททาซึ่งเป็นเมืองหลวงของ ประเทศมอลตาวางเมื่อปี ค.ศ. 1566 เพื่อเป็นเมืองรับศึกของ “Knights of Malta” เดิมคือ “Knights of Rhodes” ผู้มายึดเกาะมอลตาหลังจากถูกขับจากโรดส์โดยกองทัพทหารอิสลาม ตัวเมืองออกแบบโดยฟรานเชสโก ลาปาเรลลี (Francesco Laparelli) เป็นผังเมืองแบบตารางและใช้เวลาสร้างราวร้อยปี อันเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เราเห็นถึงการวางผังเมืองแบบบาโรก หอมหึมาที่เมื่อสร้างเป็นหอที่ทันสมัยที่สุดก็ยังอยู่อย่างครบถ้วน เพราะความสมบูรณ์แบบทางสถาปัตยกรรมที่หาดูได้ยากเมืองวาลเลททาจึงได้รับเลือกโดยองค์การยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 1980


เนเธอร์แลนด์
ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 สถาปัตยกรรมแบบบาโรกเกือบไม่มีอิทธิพลในประเทศเนเธอร์แลนด์ สถาปัตยกรรมของสาธารณะรัฐทางตอนเหนือของยุโรปเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงคุณค่าของประชาธิปไตยของประชาชนมิใช่เพื่อเป็นการแสดงอำนาจของเจ้าของผู้สร้าง สถาปัตยกรรมก็จะสร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิค ซึ่งคล้ายกับการวิวัฒนาการในอังกฤษสถาปัตยกรรมแบบพาเลเดียนของเนเธอร์แลนด์จะดูทะมึนและรัดตัว สถาปนิกที่สำคัญสองคน เจคอป แวน แค็มเพ็น (Jacob van Campen) และ เปียร์เตอร์ โพสต์ (Pieter Post) ใช้การผสมผสานของเสาใหญ่ หน้าจั่วแหลม การตกแต่งหน้าบัน และยอดแหลมในสิ่งก่อสร้าง ซึ่งเป็นลักษณะที่มีลักษณะแบบเดียวกับของคริสโตเฟอร์ เร็นสถาปนิกอังกฤษ

งานที่ใหญ่ๆ ในสมัยนั้นก็ได้แก่ตึกเทศบาลเมืองอัมสเตอร์ดัม ออกแบบเมื่อ ค.ศ. 1646 โดยแค็มเพ็นและ มาสตริชท์ (Maastricht) สร้างเมื่อค.ศ. 1658 วังต่างๆ ของราชวงศ์ออเร็นจ์ (House of Orange) จะละม้ายคฤหาสน์ของผู้มีอันจะกินมากกว่าจะเป็นวัง เช่นวัง Huis ten Bosch และ Mauritshuis เป็นทรงบล็อกสมดุลประกอบด้วยหน้าต่างใหญ่ ไม่มีการตกแต่งหรูหราแบบบาโรก ความขึงขังแบบเรขาคณิตนี้ก็ใช้ที่วังฤดูร้อน Het Loo

รัฐเนเธอร์แลนด์เป็นรัฐหนึ่งที่มีอำนาจมากในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในยุโรปฉะนั้นอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของเนเธอร์แลนด์จึงมีความสำคัญต่อยุโรปตอนเหนือ สถาปนิกจากเนเธอร์แลนด์ถูกจ้างให้สร้างโครงการใหญ่ๆ ทางตอนเหนือของประเทศเยอรมนี สแกนดิเนเวีย และประเทศรัสเซียโดยใช้ลักษณะการก่อสร้างบาโรกแบบเนเธอร์แลนด์ นอกจากนั้นสถาปัตยกรรมอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ก็ยังไปรุ่งเรืองที่ลุ่มแม่น้ำฮัดสันในสหรัฐอเมริกา สังเกตได้จากบ้านอิฐแดงหน้าจั่วแหลมซึ่งยังคงพบเห็นได้ที่ Willemstad ที่ Netherlands Antilles


ประเทศเบลเยียม

Carolus-Borromeuskerk ที่อันท์เวิร์พ
โรงพยาบาลกรีนนิช โดย คริสโตเฟอร์ เร็น ค.ศ. 1694สถาปัตยกรรมแบบบาโรกทางตอนใต้ของประเทศเนเธอร์แลนด์หรือในปัจจุบันเป็นประเทศเบลเยียมแตกต่างจากทางบริเวณโปรเตสแตนต์ทางเหนือ หลังจาก “การสงบศึกสิบสองปี” ระหว่างปี ค.ศ. 1609 ถึงปี ค.ศ. 1621 ภาคใต้ของเนเธอร์แลนด์ยังอยู่ในการยึดครองของโรมันคาทอลิกปกครองโดยกษัตริย์สเปนราชวงศ์แฮ็บสเบิร์กฟลานเดอร์ส สถาปัตยกรรมทางบริเวณนี้เป็นแบบการปฏิรูปศาสนาซ้อนของนิการโรมันคาทอลิก (Counter Reformation) สถาปนิกฟลานเดอร์สเช่นเว็นเซล เคอเบิรกเกอร์ (Wenzel Coebergher) ได้รับการฝึกที่อิตาลีและผลงานก็มีอิทธิพลจากจาโกโม บารอซซี ดา วินยอลาและจาโกโม เดลลา พอร์ตา (Giacomo della Porta) งานชิ้นสำคัญของเคอเบิรกเกอร์คือมหาวิหารเชิรพเพนฮูเวล (Basilica of Our Lady of Scherpenheuvel-Zichem) ซึ่งเป็นทรงเจ็ดเหลี่ยมออกแบบเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของเมืองใหม่

อิทธิพลของจิตรกรปีเตอร์ พอล รูเบนส์ก็มีส่วนสำคัญทางสถาปัตยกรรม ในหนังสือ “I Palazzi di Genova” รูเบนส์นำลักษณะการก่อสร้างและการตกแต่งแบบใหม่ของอิตาลีมายังทางใต้ของประเทศเนเธอร์แลนด์ การสร้างลานคอร์ทยาร์ทและซุ้มที่บ้านของรูเบนส์เองที่อันทเวิร์พเป็นตัวอย่างที่ดีของงานทางสถาปัตยกรรมของรูเบนส์ นอกจากนั้นรูเบนส์ยังมีส่วนในการตกแต่งวัดลัทธิเยซูอิดที่เป็นการตกแต่งอย่างอลังการตามแบบบาโรกซึ่งประกอบด้วยรูปปั้นและภาพเขียนที่เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม


อังกฤษ
ในขณะที่สถาปัตยกรรมแบบบาโรกที่มีบทบาทอย่างกว้างขวางในฝรั่งเศสระหว่างกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในอังกฤษเกือบจะไม่มีอิทธิพลใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะในระหว่างสมัยการปกครองของออลิเวอร์ ครอมเวลล์ และ สมัย “ฟื้นฟูราชวงศ์ (English Restoration) สิบปีระหว่างการเสียชีวิตของสถาปนิกภูมิทัศน์อินิโก โจนส์เมื่อปี ค.ศ. 1652 กับเมื่อคริสโตเฟอร์ เร็นไปเยี่ยมปารีสเมื่อปี ค.ศ. 1665 อังกฤษไม่มีสถาปนิกคนใดที่สำคัญพอที่จะกล่าวถึงได้ ฉะนั้นความสนใจในสถาปัตยกรรมยุโรปที่จะเข้ามาในอังกฤษจึงมีน้อย

คริสโตเฟอร์ เร็นกลายมาเป็นเจ้าตำรับของสถาปัตยกรรมบาโรกแบบอังกฤษ ซึ่งมึลักษณะต่างกับสถาปัตยกรรมบาโรกแบบยุโรปทางการออกแบบและการแสดงออกซึ่งจะไม่มีลูกเล่นเช่นแบบเยอรมนี หรืออิตาลี และลักษณะของเร็นออกจะไปทางสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิคมากกว่า หลังจากที่เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในลอนดอน ค.ศ. 1666 เร็นก็ได้รับสัญญาการก่อสร้างวัด 53 วัดในลอนดอน ซึ่งเร็นใช้สถาปัตยกรรมแบบบาโรกเป็นฐาน งานชิ้นใหญ่ที่สุดก็เห็นจะเป็นมหาวิหารเซนต์พอล ซึ่งเปรียบได้กับสึ่งก่อสร้างแบบโดมอื่นๆ เช่นในประเทศอิตาลีและฝรั่งเศส ลักษณะใหม่นี้เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบพาเลเดียนของอินิโก โจนส์กับสถาปัตยกรรมแบบบาโรกจากแผ่นดินใหญ่ยุโรปได้อย่างเหมาะเจาะ

นอกจากวัดแล้วคริสโตเฟอร์ เร็นก็ยังเป็นสถาปนิกในการสร้างสิ่งก่อสร้างสำหรับที่อยู่อาศัยด้วย คฤหาสน์ชนบท[10] (Country house)แบบบาโรกแห่งแรกที่สร้างๆ ตามแบบของสถาปนิกวิลเลียม ทาลมัน (William Talman) คือบ้านแช็ทเวิร์ธ[11] (Chatsworth House) ซึ่งเริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1687 ลักษณะแบบบาโรกมาเริ่มใช้โดยสถาปนิกจอห์น แวนบรูห์ (John Vanbrugh) และนิโคลัส ฮอคสมอร์ (Nicholas Hawksmoor) ถึงแม้ว่าทั้งสองคนจะมีความสามารถในการแสดงออกทางแบบบาโรกแต่มักจะไม่ทำงานพร้อมกันเช่นงานที่วังโฮวาร์ด[12] (Castle Howard) เมื่อ ค.ศ. 1699 และวังเบล็นไฮม์[13] (Blenheim Palace) เมื่อ ค.ศ. 1705

แม้ว่าสิ่งก่อสร้างทั้งสองแห่งอาจจะมีลักษณะออกจะจืดและเรียบเมื่อเทียบกับแบบบาโรกอิตาเลียนแต่สำหรับสายตาอังกฤษสิ่งก่อสร้างทั้งสองแห่งนี้ก็มีลักษณะเด่นสง่า วังโฮวาร์ดเป็นตึกใหญ่มีโดมเหนือสิ่งก่อสร้างซึ่งถ้าเอาไปตั้งที่เดรสเด็นหรือมิวนิคในเยอรมันนีก็จะไม่เหมาะ วังเบล็นไฮม์จะหนาหนักกว่าตกแต่งด้วยซุ้มหินโค้ง งานชิ้นสุดท้ายของแวนบรูห์คือวังซีตันเดอลาวาล[14] (Seaton Delaval Hall) เมื่อ ค.ศ. 1718 ซึ่งเป็นบ้านขนาดเล็กเมื่อเทียบกับที่อื่นแต่ก็มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ที่แวนบรูห์ผู้เป็นนักเขียนบทละครแสดงฝีมืออย่างเต็มที่โดยแสดงให้เห็นความคล้ายคลึงของสถาปัตยกรรมแบบบาโรกกับโรงละคร แม้แวนบรูห์จะพยายามอย่างเต็มที่ในการเผยแพร่สถาปัตยกรรมแบบบาโรกในอังกฤษ แต่ก็มิได้เป็นที่นิยมกันนัก


สแกนดิเนเวีย

วังแบบฝรั่งเศสสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17เป็นตัวอย่างของการออกแบบคฤหาสน์ในชนบททั่วทางตอนเหนือของยุโรป
วังโดรทนิงโฮล์ม โดยเทสซินแสดงในให้เห็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสผสมสวีเดน
มหาวิหารคาลมาร์, ประเทศสวีเดน
อามาเลียนบอร์ก บริเวณบาโรกกลางเมืองโคเปนเฮเกน, ประเทศเดนมาร์ก
ออกัสตัสเบิร์กซึ่งเป็นตัวอย่างของวังแบบบาโรกจากบริเวณนอร์ธไรน์เวสเฟเลีย, ประเทศเยอรมนีระหว่างยุคทองของราชอาณาจักรสวีเดนสถาปัตยกรรมของประเทศในสแกนดิเนเวียได้รับอิทธิพลจากนิโคเดอมัส เทสซิน ผู้พ่อ (Nicodemus Tessin the Elder) และ นิโคเดอมัส เทสซิน ผู้ลูก (Nicodemus Tessin the Younger) ผู้เป็นสถาปนิกประจำราชสำนักของสวีเดน แบบของเทสซินเป็นที่ยอมรับกันในประเทศทางบอลติก รวมทั้งโคเปนเฮเกน และ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

เทสซิน ผู้พ่อเกิดที่ประเทศเยอรมนีเป็นผู้สร้างลักษณะสถาปัตยกรรมแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของสวีเดนซึ่งผสมระหว่างสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสร่วมสมัยและลักษณะบอลติกยุคกลาง การออกแบบวังโดรทนิงโฮล์ม (Drottningholm Palace) เป็นการใช้ลักษณะฝรั่งเศสและอิตาลีแต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีลักษณะของสแกนดิเนเวียเช่นหลังคาเป็นแบบ “hipped roof”

เทสซิน ผู้ลูกรักษาลักษณะเดียวกับพ่อ ที่จะทำด้านหน้าสิ่งก่อสร้างที่ค่อนข้างเรียบ การออกแบบวังสตอกโฮล์มเป็นอิทธิพลโดยตรงของผังพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ของจานลอเรนโซ เบร์นินีที่มิได้สร้างตามแผนของเบร์นินี ซึ่งทำให้นึกภาพวังสตอกโฮล์มตั้งอยู่อย่างเหมาะสมที่เนเปิลส์ เวียนนา หรือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้ไม่ยาก อีกตัวอย่างหนึ่งของเทสซิน ผู้ลูกที่เรียกกันว่าบาโรกนานาชาติซึ่งมาจากรูปแบบสิ่งก่อสร้างโรมันแต่มีส่วนผสมของลักษณะท้องถิ่นเช่นในการสร้างพระราชวังมาดริด[15] อีกตัวอย่างหนึ่งของเทสซิน ผู้ลูกคือมหาวิหารคาลมาร์ (Kalmar cathedral) ซึ่งเป็นแบบบาโรกอิตาลีสมัยต้นรัดรอบด้วยเสาอิงไอโอนิค

บาโรกสวีเดนมีอิทธิพลจนมาถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนเมื่อสถาปัตยกรรมแบบเดนมาร์กและรัสเซียเข้ามามิอิทธิพลแทนที่ งานชิ้นที่เห็นได้ชัดคืองานของนิโคไล เอทเวด (Nicolai Eigtved) เช่นบริเวณอามาเลียนบอร์ก (Amalienborg) กลางเมืองโคเปนเฮเกน ปราสาทประกอบด้วยอาคารสี่เหลี่ยมสี่หลังสำหรับผู้ปกครองที่มีอำนาจสี่กลุ่มในประเทศเดนมาร์ก จัดรอบจัตุรัสแปดเหลี่ยม ด้านหน้าตกแต่งแบบเรียบแต่ภายในเป็นแบบโรโคโคที่ดีที่สุดของทวีปยุโรปตอนเหนือ


จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
สถาปัตยกรรมบาโรกแพร่หลายในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ภายหลังจากบริเวณอื่นในยุโรป แม้ว่าอีลิอาส โฮล (Elias Holl) สถาปนิกจากอ็อกสเบิร์กและนักทฤษฏีเช่นโจเซฟ เฟิรทเท็นบาคผู้พ่อจะเริ่มใช้ลักษณะบาโรกแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีการเผยแพร่มากเพราะสงครามสามสิบปี (Thirty Years' War) แต่ตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1650 เป็นต้นไปงานก่อสร้างก็เริ่มรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งทั้งสถาปัตยกรรมทางศาสนาและที่อยู่อาศัย ในระยะแรกอิทธิพลมาจากช่างหินจากทางใต้ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์และทางเหนือของอิตาลีที่เรียกกันว่า “magistri Grigioni” และสถาปนิกจากลอมบาร์ดี โดยเฉพาะสถาปนิกตระกูลคาร์โลเน (Carlone) จากบริเวณหุบเขาอินเทลวี (Val d'Intelvi) แต่ไม่นานหลังจากนั้นในระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17ออสเตรียก็เริ่มสร้างลักษณะบาโรกที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง โยฮันน์ เบอรนฮาร์ด ฟิชเชอร์ ฟอน แอร์ลาร์ค (Johann Bernhard Fischer von Erlach) มีความประทับใจในงานของจานลอเรนโซ เบร์นินี จนสร้างลักษณะใหม่ที่เรียกว่า “ลักษณะอิมพีเรียล” โดยการนำเอาลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมทั้งหลายในอดีตมารวมกัน ซึ่งจะเห็นชัดจากงานที่วัดเซนต์ชาร์ล โบร์โรเมโอ (St. Charles Borromeo) ที่เวียนนา ทางภาคใต้ของประเทศเยอรมนีจะเป็นอิทธิพลของโยฮันน์ ลูคัส ฟอน ฮิลเดอบรันดท์ (Johann Lucas von Hildebrandt) สถาปนิกอีกผู้หนี่งซึ่งก็ได้รับการฝึกจากอิตาลี

ลักษณะสถาปัตยกรรมบาโรกทางไต้ของเยอรมนีจะแยกจากทางเหนือเช่นเดียวกับการแยกบาโรกแบบโรมันคาทอลิกจากบาโรกแบบโปรเตสแตนต์ ทางบริเวณโรมันคาทอลิกทางใต้วัดเยซูอิดเซนต์ไมเคิลที่มิวนิคเป็นวัดแรกที่นำลักษณะบาโรกแบบอิตาลีเข้ามาในเยอรมนี แต่การวิวัฒนาการจากลักษณะที่นำเข้ามาหรือการแพร่หลายของลักษณะสถาปัตยกรรมที่ว่าก็มิได้มีมากนัก ที่แพร่หลายมากกว่าคือลักษณะที่ปรับปรุงของวัดเยซูอิดเช่นกันที่ดิลลิงเง็น (Dillingen) ที่เป็น “วัดผนัง-เสา” (wall-pillar church) ซึ่งเพดานเป็นเพดานประทุนเหนือทางเดินกลางรายด้วยคูหาสวดมนต์ต์ต์ต์แยกจากกันด้วยผนังและเสา ซึ่งต่างกับวัดเซนต์ไมเคิลที่มิวนิคที่คูหาสวดมนต์ต์ต์ต์ของวัดแบบ “วัดผนัง-เสา” จะสูงพอๆ กับทางเดินกลางและเพดานก็จะยื่นมาจากเพดานของทางเดินกลางในระดับเดียวกัน ภายในคูหาสวดมนต์ต์ต์ต์จะสว่างจากแสงที่ส่องเข้ามาจากทางเข้าของวัด เสาอิงประกอบคูหาแท่นบูชารองทำให้มีวัดมีลักษณะเป็นนาฏกรรมเช่นฉากละคร

“วัดผนัง-เสา” ต่อมาก็พัฒนาโดยสถาปัตยกรรมตระกูลโวราร์เบิร์ก (Vorarlberg) และช่างหินจากบาวาเรีย นอกจากนั้นลักษณะของ “วัดผนัง-เสา” ยังผสมผสานได้ดีกับกับ “วัดโถง” (Hall church) ที่ใช้กันในสมัยปลายกอธิค วัดลักษณะนี้ยังสร้างกันต่อมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนอาจจะเรียกได้ว่ามาถึงสมัยฟื้นฟูคลาสสิคเช่นที่เห็นได้จากวัดที่แอบบีโรทอันเดอโรท (Rot an der Rot Abbey) นอกจากนั้น “วัดผนัง-เสา” ยังเป็นโครงสร้างที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ง่ายโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิมมากเช่นจะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงที่วัดดิลลิงเง็น

นอกจากนั้นวัดแบบบาโรกแบบโรมันคาทอลิกยังได้รับอิทธิพลจากสิ่งอื่นเช่นที่เรียกกันว่า “บาโรกปฏิวัติ” (radical Baroque) ของโบฮีเมีย “บาโรกปฏิวัติ” ของคริสตอฟ ดินเซนฮอฟเฟอร์ และลูกชาย คริสตอฟ ดินเซนฮอฟเฟอร์ ซึ่งขณะนั้นอาศัยอยู่ที่ปรากก็ได้รับอิทธิพลจากทางเหนือของอิตาลีโดยเฉพาะจากงานของ กัวริโน กัวรินี ซี่งจะเป็นลักษณะที่ใช้ผนังโค้งและการใช้ช่องว่างภายในเป็นรูปใข่ตัดกัน ในขณะเดียวกันเราก็จะเห็นอิทธิพลของโบฮีเมียในงานของสถาปนิกคนสำคัญคือโยฮันน์ ไมเคิล ฟิชเชอร์ (Johann Michael Fischer) ที่ใช้ระเบียงโค้งใน “วัดผนัง-เสา” แรกๆ ที่สร้าง หรืองานของ โยฮันน์ บาลทาซาร์ น็อยมัน ซึ่งถือว่าเป็นงานที่สุดท้ายที่แสดงลักษณะโบฮีเมียผสมเยอรมนี

สถาปัตยกรรมบาโรกเกือบจะไม่มีอิทธิพลใดๆ กับคริสต์ศาสนสถานของนิกายโปรเตสแตนต์ และเกือบไม่มีผลงานที่เด่นๆที่ควรจะกล่าวถึงนอกจากที่วัดพระแม่มารี (Frauenkirche) ที่เดรสเด็น การเขียนเกี่ยวกับทฤษฏีสถาปัตยกรรมเป็นที่นิยมกันทางเหนือมากกว่าทางใต้ เช่นงานบรรณาธิการของเล็นนาร์ด คริสตอฟ สเติร์ม (Leonhard Christoph Sturm) ของนิโคลอส โกลด์มัน (Nikolaus Goldmann) แต่ทฤษฏีของสเติร์มเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมศาสนสถานก็มิได้นำมาปฏิบัติ ทางภาคใต้จะเน้นการปฏิบัติมากกว่าการเขียนเรื่องทฤษฏีสถาปัตยกรรม การใช้ทฤษฏีก็จะเป็นพียงการใช้ตัวสิ่งก่อสร้างเองและองค์ประกอบจากหนังสือประกอบรูป และรูปสลักบนโลหะเป็นตัวอย่าง

สถาปัตยกรรมการสร้างวังมีความสำคัญพอๆ กันทั้งโรมันคาทอลิกทางใต้ และโปรเตสแตนต์ทางเหนือ หลังจากการสร้างตามแบบอิตาลีและอิทธิพลจากเวียนนาและรัชตัทในระยะแรก อิทธิพลจากฝรั่งเศสก็เพื่มความนิยมมากขึ้นจากต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ลักษณะแบบฝรั่งเศสจะเห็นได้จากผังแบบเกือกม้ารอบคอร์ทยาร์ด ซึ่งต่างจากผังแบบอิตาลีที่จะเป็นกล่องสี่เหลี่ยม การสร้างก็มักจะเป็นความร่วมมือของสถาปนิกหลายคนทำให้มีการผสมลักษณะระหว่างออสเตรียแบบอิตาลี และฝรั่งเศส ซึ่งจะเห็นได้จากการสร้างวังเวิร์ทซเบิร์ก ซึ่งผังโดยทั่วไปเป็นลักษณะแบบเกือกม้าแต่คอร์ทยาร์ดอยู่ภายในตัวตึกมิได้เปิดออกด้านนอกอย่างแบบฝรั่งเศส ด้านฟาซาร์ดเป็นผลงานของโยฮันน์ ลูคัส ฟอน ฮิลเดอบรันดท์ผู้นิยมการตกแต่งแบบคลาสสิคแบบฝรั่งเศส ซึ่งมีลักษณะเด่นๆ อยู่สองอย่างๆ หนึ่งคือภายในเป็นบันไดมหึมาแบบออสเตรีย แต่ก็มีห้องแบบฝรั่งเศสทางด้านสวนซึ่งมีอิทธิพลมาจากการวางห้องภายในปราสาทหรือวังในฝรั่งเศส


สหพันธ์โปแลนด์-ลิธูเอเนีย

วังวิลาเนาที่วอร์ซอในประเทศโปแลนด์ เป็นลักษณะบาโรกของสถานที่อยู่อาศัยแบบเรียบง่าย
วัดเซนต์โจเซฟที่คลิโมเทา (Klimontów)วัดบาโรกแรกของสหพันธ์โปแลนด์-ลิธูเอเนียคือวัดคอร์พัสคริสตี (Corpus Christi) ที่เนียสวิทซ์ (Niasvizh) ที่สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1587 นอกจากนั้นยังถือว่าเป็นวัดแรกในโลกที่เป็นบาซิลิกาที่มีโดมและด้านฟาซาร์ดเป็นแบบบาโรกของทวีปยุโรปตะวันออก

สถาปัตยกรรมบาโรกแพร่หลายในสหพันธ์โปแลนด์-ลิธูเอเนียเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 สิ่งก่อสร้างที่สำคัญๆ แบบบาโรกก็ได้แก่คูหาสวดมนต์ต์ต์ต์ต์วาซา (Waza Chapel) ภายในมหาวิหารวาเวล (Wawel Cathedral); วัดเซนต์ปีเตอร์และเซ็นต์พอล, วัดเซนต์แอนนา และ วัดวิซิเทค (Wizytek church) ที่คราเคา; วัดเซนต์ปีเตอร์และเซ็นต์พอล, คูหาสวดมนต์ต์ต์ต์ต์คาสิเมียร์ภายในมหาวิหารวิเนียส และวัดเซนต์คาสิเมียร์ที่วิเนียส (Vilnius); สำนักสงฆ์พาไซลิส (Pažaislis monastery) ที่เคานัส (Kaunas); มหาวิหารเซนต์จอร์จที่ลเวา (Lwów); วัดเยซูอิดทีพ็อทซนัน (Poznań); และมหาวิหารซาเวียร์ที่หร็อดโน (Hrodno); ชาเปลหลวงที่มหาวิหารกดันสค์ (Gdańsk) และชเวตา ลิพคา (Święta Lipka) ที่มาซูเรีย ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2วอร์ซอเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างแบบบาโรกแต่ปัจจุบันแทบไม่มีอะไรเหลือนอกจาก วังวิลาเนา (Wilanów), วังคราซินสกี (Krasiński Palace), วัดเบอร์นาร์ดิน และวัดวิซิเทคซึ่งเป็นวัดสมัยปลายบาโรก

สถาปนิกเช่นโยฮันน์ คริสตอฟ เกลาบิทซ์ (Johann Christoph Glaubitz) เป็นคนสำคัญในการสร้างลักษณะที่เรียกว่า “วิลเนียสบาโรก” (Vilnius Baroque) ซึ่งเป็นแบบที่ใช้ทั่วไปในบริเวณนั้น พอมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ลักษณะบาโรกแบบโปแลนด์ก็มีอืทธิพลทั่วไปรวมทั้งบริเวณยูเครน ซึ่งกลายมาเป็นต้นกำเนิดของ “คอสแซ็คบาโรก” ที่มีอิทธิพลมากจนกระทั่งวัดจากยุคกลางและวัดทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดเนียพเพอร์ (Dnieper River) ถูกสั่งให้ออกแบบและสร้างตามแบบที่นิยมกันล่าสุด


ฮังการีและโรมาเนีย
ด้านหน้าวังที่ Fertőd, ฮังการีวัดแบบบาโรกวัดแรกในราชอาณาจักรฮังการีคือวัดเยซูอิด “Nagyszombat” ที่สร้างโดยเปียโตร สป็อซโซ (Pietro Spozzo) ระหว่างปี ค.ศ. 1629 ถึงปี ค.ศ. 1637 ตามแบบวัดเยซูที่โรมในประเทศอิตาลี พระเยซูอิดมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่การก่อสร้างคริสต์ศาสนสถานแบบใหม่นี้หลายแห่งเช่นที่ “Győr” (ค.ศ. 1634-ค.ศ. 1641), “Kassa” (ค.ศ. 1671-ค.ศ. 1684), “Eger” (ค.ศ. 1731-ค.ศ. 1733) และ “Székesfehérvár” (ค.ศ. 1745-ค.ศ. 1751) ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 หลังจากบ้านเมืองและถูกทำลายอย่างย่อยยับหลังจากการรุกรานของจักรวรรดิอ็อตโตมานก็ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบบาโรก ผังเมืองที่ยังเป็นแบบบาโรกเต็มตัวก็ยังคงเหลืออยู่บ้างเช่นที่ “Győr”, “Eger”, “Székesfehérvár”, “Veszprém”, “Esztergom” และบริเวณปราสาทของบูดา ปราสาทที่สำคัญที่สุดของฮังการีคือปราสาทบูดา, ปราสาท Grassalkovich และ ปราสาท Esterházy ที่ Fertőd นอกจากนั้นก็ยังมีปราสาทย่อมๆ ของเจ้านายอยู่ทั่วไป

บาโรกแบบฮังการีได้รับอิทธิพลจากออสเตรียและอิตาลีเพราะมีสถาปนิกเยอรมนีและอิตาลีมาทำงานอยู่ที่นั่นมาก ลักษณะความนิยมท้องถิ่นคือความเรียบง่าย, ไม่มีการตกแต่งอย่างเกินเลยและผสมลักษณะการตกแต่งแบบท้องถิ่นเข้าไปด้วยโดยเฉพาะงานที่ทำโดยสถาปนิกท้องถิ่น สถาปนิกคนสำคัญๆ ของสมัยบาโรกในฮังการีก็ได้แก่อันดราส เมเยอร์ฮอฟเฟอร์ (András Mayerhoffer), อิกแน็ค โอราเช็ค (Ignác Oraschek) และมาร์ทอน วิทเวอร์ (Márton Wittwer) ฟรันซ์ อันทอน พิลแกรม (Franz Anton Pilgram) ก็มีผลงานในราชอาณาจักรฮังการีเช่นที่สำนักสงฆ์ลัทธิพรีมอนสเตรเทนเชียน “Jászó” พอถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 สถาปัตยกรรมแบบฟื้นฟูคลาสสิคก็เข้ามาแทนที่ สถาปนิกคนสำคัญๆ ของสมัยนี้ก็ได้แก่เมนีเฮอรท เฮเฟเล (Menyhért Hefele) และยาคัป เฟลล์เนอร์ (Jakab Fellner)

สิ่งก่อสร้างสำคัญสองแห่งในโรมาเนียที่เป็นแบบบาโรกก็ได้แก่วังบรุคเค็นทาลที่เมื่องซิบิยู (Brukenthal Palace, Sibiu) และวังบาทหลวงเดิมที่โอเรเดีย (Oradea) ซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์


จักรวรรดิรัสเซีย

พระราชวังฤดูหนาว, รัสเซีย
คอนแวนต์มาฟราโดยลุโดวิชในจักรวรรดิรัสเซียสถาปัตยกรรมแบบบาโรกมาเป็นสามระลอก - สมัยต้นเป็นบาโรกแบบมอสโคว์ (Naryshkin Baroque) ซึ่งตกแต่งอย่างสวยงามด้วยสีขาวบนอิฐแดงตามวัดที่ออกจะเป็นแบบโบราณ, บาโรกแบบเพทไทรน์ (Petrine Baroque) ซึ่งส่วนใหญ่นำมาจากทางตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรป และบาโรกสมัยหลังหรือบาโรกราสเทรลลี (Rastrelliesque Baroque) ซึ่งบรรยายโดยวิลเลียม บรุมฟิลด์ (William Brumfield) ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่หรูหราในการออกแบบแต่ก็ยังมีจังหวะในการใช้เสาคอลัมน์และความสง่าของบาโรก


โปรตุเกส และ บราซิล

พระราชวังบรากา, โปรตุเกสบาโรกของคาบสมุทรไอบีเรียที่เต็มไปด้วยการตกแต่งที่อ่อนหวานจะไม่รวมถึงการตกแต่งของพระราชวังมาดริดและลิสบอนที่จะออกเรียบ ซึ่งเป็นอิทธิพลมาจากอิตาลีในคริสต์ศตวรรษที่ 17 การออกแบบของพระราชวังมาดริด, พระราชวังกรานฮา (La Granja), พระราชวังอารันฮูส (Aranjuez), คอนแวนต์มาฟรา (Convent of Mafra) และวังเคลุซ (Palace of Queluz) มีอิทธิพลมาจากเบร์นินีและฟิลิโป ฮูวารา (Filippo Juvarra) สำหรับสถาปัตยกรรมทางศาสนาเช่นวัดซานตามาเรีย เดลลา ดิวินา โพรวิเดนซา (Sta. Maria della Divina Providenza) ที่ลิสบอนที่กัวรินีริเป็นผู้ออกแบบเป็นการเริ่มวางแนวสถาปัตยกรรมบาโรกที่ถึงแม้ตัวว่าวัดเองจะมิได้สร้างตามแบบที่วางไว้ วัดบาโรกวัดแรกที่โปรตุเกสคือวัดซานตาเอ็นกราเซีย (Santa Engrácia) ที่ลิสบอนออกแบบโดย João Antunes ผู้เป็นสถาปนิกประจำราชสำนัก

พอมาถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 สถาปนิกทางตอนเหนือของโปรตุเกสได้รับอิทธิพลจากบาโรกแบบอิตาลีโดยการใช้หินแกรนิตของท้องถิ่นที่มีลักษณะยืดหยุ่นในการสร้างหอ Clérigos[16] สูง 75 เมตรที่พอร์โต ศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมแบบบาโรกอยู่ที่บรากา สิ่งก่อสร้างที่นี่แสดงลักษณะที่สำคัญเกือบทุกอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแบบบาโรกของโปรตุเกส ตัวอย่างเช่นพระราชวังบรากาที่ใช้การตกแต่งแบบแถบหลากสี, การเล่นเส้นหลังคา และทรงหน้าต่างที่แตกต่างกันไป

สถาปนิกบราซิลก็เช่นกับสถาปนิกโปรตุเกสที่ใช้ความยืดหยุ่นในองค์ประกอบและการตกแต่งแต่ยังไม่เท่าเทียมกับเจ้าของแบบที่แผ่นดินใหญ่ยุโรปในทางความหรูหรา วัดมาเรียนาและโรซาริโอที่อูโรเพรโตเป็นแบบที่มีอิทธิพลมาจากฟรานเซสโก บอโรมินิ ที่การใช้รูปไข่ไขว้ หน้าวัดเซนต์ปีเตอร์ (São Pedro dos Clérigos) ที่ Recife ซึ่งเป็นแบบปูนปั้นและหินทำให้มีชีวิตขึ้นด้วยการตกแต่งลวดลายก้นหอยที่บีบระหว่างหอหน้าสองหอ [3].

แม้ว่าสถาปัตยกรรมแบบบาโรกจะเสื่อมความนิยมในยุโรปแต่ในบราซิลก็ยังใช้ต่อมาโดย Aleijadinho ผู้เป็นสถาปนิกผู้มีความสามารถ เช่นวัด Bom Jesus de Matozinhos ที่ Congonhas ที่ใช้รูปทรงที่น่าดูและการใช้ตกแต่งสีมืดบนปูนปั้นสีอ่อนด้านหน้าวัด ถึงแม้ว่าการออกแบบวัดเซนต์ฟรานซิสแห่งอาซิซิที่ São João del Rei จะไม่ได้รับการอนุมัติแต่ก็มิได้เสียเปล่าเพราะนำไปใช้สร้างวัดเซนต์ฟรานซิสที่อูโรเพรโตแทนที่


สเปนและเบลเยียม

การตกแต่งด้านหน้ามหาวิหารซานติอาโกเดอคอมโพสเตลลา, ประเทศสเปน
วัดเซนต์ไมเคิลที่ลูแวง (ค.ศ. 1650), ประเทศเบลเยียมสถาปัตยกรรมบาโรกแบบอิตาลีเข้ามาแทนที่สถาปัตยกรรมของฮวน เดอ เฮอร์เรรา (Juan de Herrera) สถาปนิกสเปนที่มีลักษณะเรียบและไปทางคลาสสิคที่ใช้กันมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 แต่เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1667 การออกแบบด้านหน้าของมหาวิหารกรานาดา โดยอลองโซ คาโน (Alonso Cano) และมหาวิหาร Jaen โดย ยูฟราซิโอ โลเปซ เดอ โรฮาส (Eufrasio López de Rojas) ก็เริ่มจะแสดงให้เห็นการที่สถาปนิกใช้ลวดลายการตกแต่งอย่างมหาวิหารของเสปนแต่มีอิทธิพลบาโรกเข้ามาผสม

ลักษณะบาโรกของสเปนแตกต่างจากลักษณะบาโรกของทางเหนือของยุโรปตรงที่เป็นสถาปัตยกรรมของการแสดงออกทางอารมณ์แทนที่จะเป็นสถาปัตยกรรมที่ทำเพื่อสร้างความพอใจให้แก่ผู้มีการศึกษาหรือเพื่อโอ้อวดผู้เป็นเจ้าของแต่เพียงอย่างเดียว ตระกูลเชอร์ริงกูรา (Churriguera) ผู้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบแท่นบูชาและฉากแท่นบูชาวิวัฒนาการการออกแบบจากที่เป็นคลาสสิคเรียบๆ มาเป็นการออกแบบผนังสิ่งก่อสร้างที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและมีชีวิตจิตใจที่เรียกกันว่า “ลักษณะเชอร์ริงกูรา” ซึ่งกลายมาเป็นลักษณะที่มีอิทธิพลต่อการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างทั้งในสเปนเองและประเทศในอาณานิคม

ภายในห้าสิบปีตระกูลเชอร์ริงกูราก็เปลี่ยนภูมิทัศน์ของเมืองซาลามาชา (Salamanca) จนกลายมาเป็น “เมืองแบบเชอร์ริงกูรา” ลักษณะที่เด่นๆ ของบาโรกของสเปนก็ได้แก่การวางองค์ประกอบของช่องว่างและแสงภายในสิ่งก่อสร้างเช่นที่หอประชุมสงฆ์กรานาดาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 หรือการออกแบบสิ่งตกแต่งเช่นรูปปั้นให้เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมเช่นงานของนาร์ซิสโค โทเม (Narciso Tomé) ผู้ใช้ความตัดกันของแสงเงาอย่างนาฏกรรม (chiaroscuro effect) ในงาน “Transparente” ที่ มหาวิหารโทเลโด

สถาปัตยกรรมบาโรกในสเปนวิวัฒนาการเป็นสามขั้นระหว่างปี ค.ศ. 1680 ถึงปี ค.ศ. 1720 เชอร์ริงกูราริเริ่มเผยแพร่การใช้ลักษณะคอลัมน์โซโลมอน[17]ของกัวรินีและการจัดแบบผสมที่เรียกว่า “Supreme order” ขั้นที่สองระหว่างปี ค.ศ. 1720 ถึงปี ค.ศ. 1760 ก็เริ่มมีการใช้คอลัมน์แบบเชอร์ริงกูราเป็นทรงโคนแบบโอบิลิสค์แต่คว่ำซึ่งใช้เป็นศูนย์กลางของการตกแต่ง และขั้นสุดท้ายระหว่างปี ค.ศ. 1760 ถึงปี ค.ศ. 1780 ซึ่งเป็นการตกแต่งแบบเกลียวม้วนหรือก้นหอยและการตกแต่งอย่างอลังการก็เริ่มจะลดความนิยมลงมาเป็นสถาปัตยกรรมแบบฟื้นฟูคลาสสิคที่เรียบง่ายกว่า

งานสถาปัตยกรรมบาโรกแบบสเปนที่เด่นที่สุดสองชิ้นก็ได้แก่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยวาลลาโดลิด ([University of Valladolid) โดยดิเอโก โทเมที่สร้างในปี ค.ศ. 1719 และโรงพยาบาลซานเฟอร์นานโด (Hospicio de San Fernando) ที่มาดริดโดยเปโดร เดอ ริเบอรา (Pedro de Ribera) ในปี ค.ศ. 1722 การตกแต่งอย่างหรูหรามามีอิทธิพลต่อ อันโตนิโอ กอดี (Antonio Gaudi) และศิลปะนูโว (Art Nouveau) ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในกรณีนี้และเช่นกับกรณีอื่น ๆ ศิลปินจะใช้สิ่งตกแต่งที่พรางโครงร่างของสถาปัตยกรรม (tectonic) ภายใต้ โดยไม่คำนึงถึงโครงสร้างหลักของตัวสถาปัตยกรรมและประโยชน์ทางการใช้สอยของสิ่งก่อสร้าง การตกแต่งจะเน้นด้วยการสลักไม้ดอกไม้ใบอย่างหรูหรารอบประตูหลัก ถ้าลอกเอาสิ่งตกแต่งเช่นบัวคอร์นิช หรือช่อระย้าเหล่านี้ออกหมดก็จะไม่มีผลใดใดทั้งสิ้นต่อตัวโครงสร้างหลักของสถาปัตยกรรม

ทางด้านใต้ของเนเธอร์แลนด์บริเวณฟลานเดอร์สที่ปกครองโดยกษัตริย์สเปน การตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ใบจะแนบแน่นกับผนังที่ตกแต่งมากกว่าซึ่งทำให้ลดความรู้สึกของความเคลื่อนไหวลง ลักษณะผสมระหว่างบาโรกแบบสเปนผสมฝรั่งเศสผสมเนเธอร์แลนด์จะเห็นได้จากแอบบีอเวอร์โบด[ภาพ:Abbey averbode 2 big.jpg] (Abbey of Averbode) ที่สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1667 หรือที่วัดเซนต์ไมเคิลที่ลูแวง[18]ซึ่งตกแต่งด้านหน้าอย่างหรูหราเป็นสองชั้นประกอบด้วยเสาคอลัมน์กึ่งเสาอิงและรายละเอียดรูปสลักแบบฝรั่งเศส

อึกหกสิบปีต่อมาเจม บอร์ตี มิเลีย (Jaime Borty Milia) สถาปนิกชาวเฟลมมิช เป็นคนแรกที่นำโรโคโคเข้ามาในสเปนโดยการออกแบบตกแต่งด้านหน้ามหาวิหารเมอร์เซียเมื่อปี ค.ศ. 1733 ผู้ที่ใช้โรโคโคอย่างเป็นจริงเป็นจังคือเว็นทูรา รอดริเกซ (Ventura Rodríguez) ช่างชาวสเปนผู้เป็นผู้ตกแต่งภายในมหาวิหาร Lady of the Pillar[19] ที่ซาราโกสซา (Saragossa) อย่างงดงามเมื่อปี ค.ศ. 1750


ทวีปอเมริกาสเปน

วัดเซนต์ฟรานซิสแห่งอาซิซิ (San Francisco de Asís Church) ลิมา ประเทศเปรู ค.ศ. 1673
ด้านหน้าวัดเซนต์เซบาสเตียนและเซนต์พริสตาที่แท็กซโค (เม็กซิโก) ซึ่งเต็มไปด้วยการตกแต่งแบบเชอร์ริงกูราแบบเม็กซิโกการใช้ผสมผสานระหว่างการตกแต่ของศิลปะอเมริกันอินเดียนและมัวร์ซึ่งเป็นศิลปะของการแสดงออกทางอารมณ์อย่างชัดเจนในการตีความหมายของเชอร์ริงกูราทำให้เห็นถึงการตกแต่งที่เต็มไปด้วยชีวิตจิตใจ การวิวัฒนาการจากลักษณะเชอร์ริงกูราไปก็มีด้วยกันหลายแบบในบริเวณที่เป็นอาณานิคมของสเปน นอกเหนือไปจากบาโรกแล้วที่นำเข้าจากสเปนแล้วบาโรกแบบอเมริกายังวิวัฒนาการมามีเอกลักษณ์ในการตกแต่งปูนปั้นของตนเอง มหาวิหารที่มีหอสองหอด้านหน้าของอเมริกาของคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีรากฐานโครงสร้างมาจากสถาปัตยกรรมยุคกลาง และสถาปัตยกรรมแบบบาโรกมิได้นำเข้ามาใช้จนกระทั่งปี ค.ศ. 1664 เมื่อมีการสร้างวัดเยซูอิดที่จัตุรัส เดอส อาร์มาส (Plaza des Armas) ที่กุสโก ในประเทศเปรู

สถาปัตยกรรมบาโรกแบบเปรูเป็นสถาปัตยกรรมแบบตกแต่งที่ออกทางหรูหราเช่นจะเห็นได้จากวัดซานฟรานซิสโกที่กรุงลิมา ที่สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1673 ขณะเดียวกันบาโรกท้องถิ่นเช่นที่วัด Jesuit Block and Estancias[20] ในเมืองกอร์โดบา ในประเทศอาร์เจนตินาสร้างตามแบบวัดเยซู ที่กรุงโรม และลักษณะผสมท้องถิ่นแบบ “mestizo” เกิดขึ้นที่อเรกวิปา (เปรู) โปโตซิ และลาปาซ (โบลิเวีย) ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 สถาปนิกบางแห่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบมัวร์จากสเปนยุคกลาง สถาปัตยกรรมบาโรกสมัยหลังในการตกแต่งหน้าวัดแบบเปรูพบเป็นครั้งแรกที่วัด Our Lady of La Merced ที่ลิมา หรือที่วัด La Compañia[21] ในกรุงกีโต (เอกวาดอร์) ซึ่งภายนอกตกแต่งด้วยเสาเกลียว และภายในเป็นฉากแท่นบูชาที่แกะสลักอย่างวิจิตร

ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทางตอนเหนือสถาปัตยกรรมบาโรกในประเทศเม็กซิโกเป็นสถาปัตยกรรมที่ตกแต่งกันอย่างอลังการที่สุดที่เรียกกันว่าเชอร์ริงกูราแบบเม็กซิโก บาโรกอลังการเช่นนี้จะเห็นได้จากผลงานของโลเร็นโซ รอดริเกซ (Lorenzo Rodriguez) หลายชิ้นๆ เอกเห็นจะเป็นซากราริโอ เมโทรโปลิตาโน (Sagrario Metropolitano) ที่ เม็กซิโกซิตี หรือวัดตามเมืองที่มีเหมืองเช่นวัดที่อ็อคโคทลาน (Sanctuary at Ocotlan) ที่เริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1745 ที่ตกแต่งด้วยอิฐสีแดงสดตัดกับการตกแต่งที่อัดแน่นสีอ่อนด้านหน้าวัดและประกบสองข้างด้วยหอคอยสูง[22] ภายในก็ตกแต่งด้วยฉากแท่นบูชาที่ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก[23]

ศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมแบบบาโรกแบบเม็กซิโกคือที่พวยบลาทางตอนกลางของเม็กซิโกซึ่งเป็นแหล่งการทำกระเบื้องเคลือบสีจัดและสดใสและหินสีเทา ทำให้เกิดสถาปัตยกรรมแบบบาโรกที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไปอีกแบบหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลมาจากศิลปะอเมริกันอินเดียน ในบริเวณนี้มีวัดที่ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบหน้าวัดและโดมถึง 60 แห่งซึ่งมักจะตกแต่งด้วยลวดลายแบบอาหรับ ภายในก็จะตกแต่งอย่างเต็มที่ด้วยเครื่องตกแต่งปิดทอง ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ช่างท้องถิ่นก็สร้างลักษณะการทำปูนปั้นขาวที่ใช้ในการตกแต่งที่เรียกว่า “alfenique” ซึ่งเป็นคำที่มาจากขนมของพวยบลาที่ทำจากไข่ขาวและน้ำตาล


ตุรกี

วัง Dolmabahce สร้างโดยตระกูล บาลยันสถาปัตยกรรมแบบบาโรกที่อิสตันบูลซึ่งครั้งหนึ่งเป็นศูนย์กลางของ จักรวรรดิออตโตมันมีด้วยกันหลายแบบ งานที่สำคัญก็เห็นจะเป็นสุเหร่า Nuruosmaniye สุเหร่า Ortaköy และ สุเหร่า Nuruosmaniye ที่สร้างราวปี ค.ศ. 1750 โดยซิเมียน คาลฟา (Simeon Kalfa) การใช้การตกแต่งแบบเรขาคณิตทำให้เกิดลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์และทำให้แตกต่างจากบาโรกของอาณานิคมที่เกิดขึ้นภายหลังซึ่งเป็นลักษณะที่นิยมกันในตะวันออกกลางโดยเฉพาะที่ประเทศเลบานอน ลักษณะบาโรกที่วิวัฒนาการเต็มที่จะพบได้ที่วัง Dolmabahce สร้างโดยตระกูล บาลยัน (Balyan dynasty) ผู้เป็นสถาปนิกชาวตุรกี-อาร์เมเนียสำคัญ ซึ่งมีลักษณะที่เป็น “ตะวันออก” โดยการผสมสถาปัตยกรรมบาโรก โรแมนติค และตะวันออกเข้าด้วยกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น