วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา


สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา

จากหลักฐานบนใบเสมา ในเขตอำเภอนครชัยศรี หลายแห่งเป็นศิลปะสมัยอู่ทอง เช่น ที่วัดโบสถ์ วัดไทร วัดสิงห์ และวัดห้วยตะโก เป็นต้น สันนิษฐานว่า ซากโบราณสถานสมัยอู่ทอง คงหักพังไปหมดแล้ว และมีการสร้างวัดขึ้นใหม่ได้แก่
อุโบสถหลังเก่าวัดบางพระ อยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี ภายในตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน มีผู้สันนิษฐานว่า เป็นสมัยอยุธยาตอนกลาง ตัวอุโบสถมีประตูทางเข้าด้านหน้า ๒ ข้าง ด้านหลัง ๑ ข้าง ผนังด้านข้างหน้าต่างด้านละ ๓ ช่อง พื้นผนังอุโบสถค่อนข้างสูง และคับแคบ



วิหารวัดพระศรีมหาโพธิ์ อยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี มีขนาดค่อนข้างเล็ก ฐานมีลักษณะแอ่นโค้งลงแบบตกท้องช้าง หลังคามุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วย ด้านหน้าประตูทางเข้าเพียงบานเดียว ตรงสันอกเสาแกะสลักลายไข่ปลา และลายแข้งสิงห์ ด้านหน้ามีหน้าต่างเพียง ๑ บาน ส่วนวิหารไม่มีหน้าต่างทั้ง ๒ ผนัง เพดานวางขื่อลอยแบบสมัยอยุธยา เพดานด้านบนตรงพระประธาน มีลวดลายเขียนด้วยสีรงค์ บนพื้นแดงงดงามมาก คล้ายกับวัดสระบัว จังหวัดเพชรบุรี ตัวลายกนกเขียนคล้ายลายอ่อนอย่างจีน ส่วนลวดลายดาวเขียนอย่างไทย ลายเชิงและลายประจำยามก้ามปู เขียนได้สมบูรณ์



อุโบสถวัดละมุด อยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี บนเพดานอุโบสถมีลวดลายดาวเพดาน แกะสลักประดับตกแต่งไว้อย่างงดงามมาก ประเภทลายดาวดอกจอก โดยวางกระจายเต็มพื้นที่ ไม่มีรูปแบบ หรือแบบแผนอย่างสกุลช่างหลวงในสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่า เป็นช่างพื้นบ้าน นอกจากนี้ตอนบนสุดของฝาผนัง ได้ทำลายกรุยเชิงห้อยลงมา ตอนปลายสุดเป็นกระจังรวน ตัวอุโบสถมีหลังคาเตี้ยคลุม ประตูทางเข้าด้านหน้า ๒ ช่อง ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ ๓ ช่อง ผนังด้านหลังไม่มีช่องหน้าต่าง อุโบสถแบบนี้เรียกว่า โบสถ์มหาอุด ในสมัยอยุธยานิยมเอาพระเครื่องมาปลุกเสก เพราะมีความเชื่อในเรื่องความคงกระพัน สามารถอุด หรือกันอาวุธหรืออาคมต่าง ๆ ได้ หน้าบันด้านนอกประดับตกแต่งด้วยชาม และจาน อย่างความนิยมในสมัยอยุธยา
วิหารเก่าวัดห้วยพลู อยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี ตัววิหารมีหลังคาเตี้ยคลุม เป็นเสานางเรียง ล้อมรอบด้านหน้ามีประตูทางเข้าหลายช่อง ผนังด้านซ้ายมีหน้าต่างด้านละ ๔ ช่อง ส่วนผนังด้านหลังทึกเป็นแบบโบสถ์มหาอุด หน้าบันด้านหน้ามีภาพเขียนสีค่อนข้างชำรุดเสียหายมาก มีรูปพรหม และเหล่าทวยเทพ ผีมือช่างสกุลอยุธยา

วัดไทร อยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี มีใบเสมาเก่าสมัยอยุธยา ทำด้วยหินทรายสีแดง อุโบสถมีประตูด้านหน้า ๒ ช่อง ฝาผนังมีหน้าต่างด้านละ ๕ ช่อง ด้านหลังมีหน้าต่างหลอกอยู่ในวงกลม เขียนลายมังกร หน้าผนังด้านหลังก็คล้ายกัน แต่เป็นลายรูปสิงโตจีนอยู่ภายในวงกลมเช่นกัน ผนังด้านหน้ามีหลังคาคลุมลงมา ด้านข้างประตูทางเข้าทั้งสองด้านเขียนรูปไก่ฟ้าแบบจีน ฐานอุโบสถแบบตกท้องช้าง สันนิษฐานว่า เดิมเป็นอุโบสถแบบอยุธยา และมาซ่อมแซมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น



วัดกลางบางแก้วอุโบสถ (หลังเก่า) ศิลปะสมัยอยุธยาต่อมาถูกไฟไหม้ นอกจากนี้ ยังมีมณฑปของวัดเป็นรูปจตุรมุขหลังคาทรงมงกุฎ ช่องประตูรูปแหลมโค้งอย่างอิทธิพลยุโรปที่เข้ามาในสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยพระเจ้าจักรพรรดิ์
วัดโคกพระเจดีย์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี มีเจดีย์สมัยอยุธยา สร้างทับซากโบราณสถานเก่าแก่
วัดท่าพูด ตั้งอยู่ในเขตอำเภอสามพราน สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ เมือปี พ.ศ.๒๒๘๑ นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุในสมัยเดียวกัน ปรากฏอยู่หลายอย่างได้แก่ ใบเสมาหินทรายแดง (ปีกคู่) ตู้พระธรรม หีบใส่พระธรรม และฐานธรรมมาสน์ เป็นต้น
วัดสรรเพชญ์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอสามพราน สร้างสมัยอยุธยา พระอุโบสถหลังเก่าก่ออิฐถือปูน มีฐานแอ่นโค้งศิลปะสมัยอยุธยา สถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์
วัดพระปฐมเจดีย์ บูรณะขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ในอำเภอเมือง ฯ
วัดพระงาม บูรณะขึ้นใหม่ สร้างอยู่ใกล้โบราณสถานสมัยทวารวดี อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ
วัดพระประโทนเจดีย์ บูรณะขึ้นใหม่ สร้างอยู่ใกล้โบราณสถานสมัยทวารวดี อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ
วัดธรรมศาลา บูรณะขึ้นใหม่ สร้างอยู่ใกล้โบราณสถานสมัยทวารวดี อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ
วัดไร่ขิงและวัดดอนหวาย อยู่ในอำเภอสามพราน สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น